ห่วงได้ หวงดี แต่อย่า 'หึงหวง' หึงแล้ว...ผลลัพธ์เป็นอย่างไร
มนุษย์ก็ช่างสรรหาทำงานวิจัย ไม่เว้นเรื่อง "หึงหวง" อาการหึงหวง อาจทำให้เราเสมือน “ตาบอด” ได้ง่ายๆ อย่างไม่น่าเชื่อ และอีกหลายเรื่องที่ชวนคิดชวนอ่าน
มีงานวิจัยสนุกๆ เกี่ยวกับเรื่องการหึงหวงอยู่หลายชิ้นเลยครับ
ปี ค.ศ.2007 มีงานวิจัย (Social Behavior and Personality: An international journal, 35,1099-1114) สรุปได้ว่า มีความหึงหวง 2 แบบที่ไม่เหมือนกันคือ หึงหวงแบบตอบสนอง (reactive jealousy) กับหึงหวงแบบหวาดระแวง (suspicious jealousy)
โดยแบบแรกจะนำพาไปสู่ความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันมากขึ้น เชื่อใจกันมากขึ้น และหึงหวงน้อยลง สวนทางกับแบบหลังที่จะทำให้รู้สึกไม่มั่นคงมากขึ้น กังวลใจมากขึ้น ห่างเหินมากขึ้น และภูมิใจในตัวเองลดลง
สาเหตุของความหึงหวงแบบหลัง เชื่อกันว่าน่าจะมาจากประสบการณ์ไม่ดีที่ฝังใจครับ
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2010 ว่า ความหึงหวงทำให้เราเสมือน “ตาบอด” ได้ง่ายๆ อย่างไม่น่าเชื่อ
นักวิจัยเค้าจับเอาคู่รักที่สวีทแหวว 25 คู่ มานั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ใกล้ๆ กัน แต่มีผ้าม่านกั้นอยู่ จากนั้นก็ให้ฝ่ายหญิงดูภาพสิ่งก่อสร้างต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยให้เลือกรูปทั่วๆ ไปที่มีการหมุนภาพไป 90 องศา เพื่อให้มีสมาธิ ช่วงแรกนั้นก็ให้ฝ่ายชายทำแบบเดียวกันไปสักพัก แต่ต่อมาเปลี่ยนคำสั่งใหม่ ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า จะให้ฝ่ายชายให้คะแนนรูปหญิงสาวว่าดึงดูดใจเพียงใด
ผลสรุปที่ได้คือ หากสาวคนไหนขี้หึงยิ่งมาก ก็จะยิ่งเสียสมาธิไปมากขึ้นตามไปด้วยในการเหล่ตามองคู่ของตน ขณะที่การทดลองส่วนควบคุม ตอนผู้ชายเลือกรูปตึก พวกเธอไม่เสียสมาธิหันไปมองฝ่ายชายเลย
นักวิจัยสรุปว่า อารมณ์ผูกพันกับการทำงานของสมองของคนเราอย่างใกล้ชิด อารมณ์หึงหวงรุนแรงจะไปบดบังหรือลดประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้เหมือน “ตาบอด” ไปเป็นวูบๆ
งานวิจัยในปี ค.ศ. 2013 (Personality and Social Psychology Bulletin, 39(10)) ก็สนุกครับ ปกติคนเราแต่ละคนมีลักษณะประจำตัวแตกต่างกัน แต่ผลการทดลองนี้ชี้ว่า ความหึงหวงอาจส่งผลทำให้เราหันไปทำตัวให้เหมือนคนที่เราคิดว่าเป็น “คู่แข่ง” ด้วย
วิธีการทดลองเค้าทำแบบนี้ครับ
แรกสุดเอาอาสาสมัครมานั่งเลือกลักษณะนิสัยด้านต่างๆ เช่น เก่งด้านศิลปะหรือชอบออกกำลังแบบนักกีฬา ฯลฯ แล้วเลือกอันที่ตรงกับตัวเอง จากนั้นก็ให้จินตนาการว่า มีคนมายั่วยวนแฟนตัวเอง โดยนักวิจัยจะระบุลักษณะนิสัยของคู่แข่งคนนี้ให้ด้วย และกำหนดอีกด้วยว่าคนที่มา “อ่อย” นั้น ยั่วยวนแฟนของเราสำเร็จหรือไม่ด้วย
หลังจากนั้น นักวิจัยก็ให้อาสาสมัครเลือกลักษณะนิสัยตัวเองซ้ำอีกครั้ง แต่คราวนี้เรื่องไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น เช่น หากคนที่เข้าหาแฟนและทำได้ดีนั้น เป็นพวกออกกำลังกายบ่อยๆ อาสาสมัครก็มักจะเลือกคำระบุลักษณะออกไปในทางนักกีฬา “มากกว่า” ที่เลือกไว้ก่อนหน้านี้ แต่หากระบุว่าคนมาเข้าหานั้นแฟนเราไม่ค่อยสนใจ อาสาสมัครกลุ่มนี้จะไม่เปลี่ยนคำอธิบายลักษณะตัวเองไปแต่อย่างใด
น่าสนใจว่าความหึงหวงทำให้เราสับสนถึงกับอยากเปลี่ยนแปลงตัวตนทีเดียว!
ปี ค.ศ. 2014 มีงานวิจัย (Computers in Human Behavior, 36, 479–486) ที่แสดงให้เห็นว่า ความหึงหวงนี่รุนแรงมาก แม้แต่ในโลกเสมือนก็ยังรับรู้ได้ความหึงหวงได้เช่นกัน
ผลการศึกษาในอาสาสมัครรวม 10 คู่ ที่เป็นชายจริงหญิงแท้ โดยให้เข้าไปใช้งานโลกเสมือนในโปรแกรม Second Life ที่นักวิจัยแยกพื้นที่ของทั้งคู่ออกจากกัน แต่สามารถมาพบกันได้ในคอฟฟีช็อปตรงกลาง ครั้นเมื่อเวลาผ่านไป 2 นาที “ร่างอวตาร” ของทีมงานนักวิจัยก็จะเริ่มพูดคุยกับร่างอวตารอาสาสมัครเพศตรงข้าม โดยจะไม่สนใจร่างอวตารเพศเดียวกันเลย หลังคุยกันไปราว 6 นาที แม้ว่าทีมงานจะคุยธรรมดาๆ ไม่ได้หว่านเสน่ห์อะไรมากมายนักก็ตาม
แต่ผลก็คือ เวลาสั้นๆ เพียงแค่นี้ก็พอจะกระตุ้นให้อาสาสมัครออกอาการหึงหวงได้แล้ว
มีการวัดค่าฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ในคนที่โดนทอดทิ้งไม่คุยด้วย ซึ่งพบว่าพุ่งขึ้นสูงทีเดียว ฮอร์โมนชนิดนี้จะหลั่งมากเวลาคนเราเครียดหรือมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
นอกจากนี้ พวกฝ่ายที่ไม่ได้รับความสนใจยังมักแสดงอาการ “พฤติกรรมป้องกันคู่ (mate-guarding behavior)” ต่างๆ แบบเดียวกับที่พบในชีวิตจริงด้วย เช่น การเข้าไปยืนคั่นกลางระหว่างคู่ของตนกับร่างอวตารอื่นที่ยืนคุยด้วย รวมทั้งใช้คำพูดแสดงความเป็นเจ้าของอย่างเห็นได้ชัด เช่น “เธอคนนี้มากับชั้นนะ” หรือแม้แต่มีบางคนถึงสบถเสียๆ หายๆ ก็มี
อารมณ์หึงหวงจึงรุนแรงมาก แม้แต่ตัวกระตุ้นในโลกเสมือนที่ไม่มีอยู่จริงก็ส่งผลได้ !
สถิติความรุนแรงของความหึงหวงจากชายและหญิงแตกต่างกันมากนะครับ ในประเทศตะวันตก ผู้หญิงราว 50–70 เปอร์เซ็นต์ ที่โดนฆาตกรรม เป็นฝีมือของสามี เพื่อนชาย หรืออดีตแฟนทั้งนั้น ต่างกับผู้ชายที่มีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ที่ตายด้วยฝีมือผู้หญิงที่เป็นคู่หรืออดีตคู่รัก
แต่หากพิจารณาจากความผิดหวัง เจ็บปวดจากความไม่ซื่อสัตย์ของคู่ตัวเอง ไม่มีความแตกต่างมากนักระหว่างเพศชายหรือหญิง ในเพศทางเลือกอื่นๆ ที่เหลือยังมีงานวิจัยออกมาน้อยอยู่ แต่เท่าที่เคยทำก็พบว่า พวกเกย์จะยอมรับระดับของ “การเล่นหูเล่นตา” ของแฟนตัวเองกับคนอื่นได้มากกว่าพวกชายจริงหญิงแท้หรือพวกเลสเบี้ยน
พวกผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้ตั้ง “สติ” รู้ตัวว่า เกิดอารมณ์หึงหวงขึ้นแล้วครับ เพื่อตัดวงจรอุบาทว์ที่เริ่มจากการกล่าวหาและการป้องกันตัวเอง แต่ไปจบที่การเลิกราในที่สุด ให้ตระหนักถึงความจริงว่า เวลาใครมองเราว่า เป็นคนพูดคุยสนุก ฉลาด หรือดูเซ็กซี่ เรามักจะชอบ แต่หากคนมองแฟนเราแบบนั้น ทำไมเราจึงต้องหึงหวงมากขนาดนั้น
คู่รักที่มีชีวิตคู่ยืนยาวจึงรัก ห่วง หวงกันและกัน แต่ไม่หึง...หนักจนเกินไป