เจอติดโควิด-19ซ้ำ! กระทบถึงการให้วัคซีน
ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่โรคอุบัติใหม่ คือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก แม้องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้จะมีมากขึ้น แต่ช่วงเวลาอาจยังไม่มากพอที่จะรู้ได้ว่า “คนเคยติดเชื้อจะติดซ้ำหรือไม่และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะอยู่นานแค่ไหน”??
ข้อมูลนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมถึงการให้วัคซีนป้องกันในอนาคต อย่างไรก็ตาม เริ่มมีหลายประเทศรายงานถึงการพบ “คนติดเชื้อซ้ำ”
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีรายงานการติดเชื้อซ้ำหรือติดเชื้อครั้งใหม่ในผู้ป่วยรายเดิม ส่วนในต่างประเทศมีผู้ป่วยกว่า 25 ล้านคน แต่การติดเชื้อใหม่ในผู้ป่วยคนเดียวกันไม่ถึง 10 ราย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า หลังการติดเชื้อจะสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อจะลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ถึงจุดหนึ่งมีโอกาสติดซ้ำได้อีก การเจอติดเชื้อซ้ำในรายเดิมคงต้องดูต่อไป ไม่ได้แปลว่าติดเชื้อแล้วจะต้องติดอีก 100% ขึ้นกับหลายปัจจัย เพียงแต่เป็นการบอกว่าระดับภูมิคุ้มกันต่ำถึงจุดหนึ่ง เมื่อติดแล้วติดใหม่ได้
“ถ้าวัคซีนป้องกันระดับหนึ่งช่วงเวลาหนึ่ง ก็เป็นไปได้สูง ในการให้กระตุ้นวัคซีนเป็นระยะ เพื่อป้องกันโรคได้ยาวนานต่อเนื่องต่อไป ซึ่งการมีรายงานโควิดติดแล้วอาจติดซ้ำไม่ใช่อะไรใหม่ แค่มีหลักฐานชัดเจน และบอกว่ามีการสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันได้เวลาหนึ่ง แต่ป้องกันนานแค่ไหน ข้อมูลที่มียังไม่สามารถตอบได้ ถ้ามีวัคซีนกระตุ้นภูมิได้ เวลาผ่านไปอาจต้องกระตุ้นซ้ำ" นพ.ธนรักษ์กล่าว
"การมีรายงานติดโควิดซ้ำ ถ้ามีวัคซีน เวลาผ่านไปอาจต้องกระตุ้นซ้ำ"
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการยืนยันการเป็นซ้ำเป็นแล้วเป็นอีก ของโรคโควิด-19 จำนวน 4 ราย ในฮ่องกง เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์และ รัฐเนวาด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการยืนยันว่าเป็นแล้วเป็นอีก กรณีผู้ป่วยในฮ่องกงระยะห่างกัน 4 เดือนครึ่ง ผู้ป่วยในอเมริกาเป็นครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกไม่ถึง 50 วัน โดยผู้ป่วยเป็นครั้งที่ 1 ไม่รุนแรง ส่วนการเป็นครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่ก็ไม่รุนแรง ยกเว้นในผู้ป่วยของอเมริกา ที่เป็นครั้งที่ 2 มีอาการปอดอักเสบ ส่วนครั้งแรกไม่รุนแรง
“การติดเชื้อ โควิด 19 ซ้ำ ต้องแยกจาก การตรวจพบเชื้อซ้ำ ในผู้ที่หายจาก โควิด 19 หรือที่เราชอบพูดกันว่าตรวจพบซากไวรัส จากการศึกษาของศูนย์ในการติดตาม ผู้ที่หายป่วยจาก โควิด 19 มีการตรวจพบเชื้อซ้ำได้อีก หลังจากผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น หากผู้ป่วยที่มีอาการน้อย จะมีภูมิต้านทานต่ำกว่าผู้มีอาการมาก หรือปอดบวม”ศ.นพ.ยงกล่าว
ศ.นพ.ยง บอกด้วยว่า จากการศึกษาในอดีตไวรัสโคโรนา(coronavirus) ทั่วไปที่ทำให้เกิดหวัดนั้น ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นค่อนข้างต่ำ และลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นแล้วเป็นอีกได้ เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่น อาร์เอสวี (RSV) ไรโนไวรัส(Rhinovirus) เป็นแล้วเป็นอีกได้ ไม่แปลกที่อาร์เอสวีในเด็กบางคนเป็นทุกปี เพราะเชื้อจะอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนต้นเป็นส่วนใหญ่ และภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจึงไม่อยู่นาน และไม่สามารถป้องกันเป็นซ้ำได้
ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย จะมีภูมิต้านทานต่ำกว่าผู้มีอาการมาก
เช่นเดียวกัน โควิด 19 ในผู้ที่มีอาการน้อย ถ้าภูมิต้านทานต่ำและไม่อยู่นาน ก็จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก
“ระบบภูมิต้านทานและการติดเชื้อซ้ำของ โควิด 19 จะมีความสำคัญมาก กับวัคซีนที่กำลังพัฒนา ในการป้องกันโรค รวมทั้งภูมิที่เกิดขึ้น จะส่งเสริมการ เกิดโรคครั้งที่ 2 หรือไม่การศึกษาภูมิระยะยาวของผู้ที่หายป่วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา ซึ่งในประเทศไทยศูนย์ฯ ร่วมกับสำนักอนามัยและการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กำลังทำการศึกษาติดตามภูมิต้านทานในผู้ที่หายป่วยจาก โควิด 19 ระยะยาวให้ถึง 1 ปี ขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 6 แล้ว”ศ.นพ.ยงกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเดิมจะติดเชื้อไวรัสซ้ำได้อีก เมื่อระยะมีภูมิคุ้มกันของวัคซีน ยกตัวอย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เกิดระบาดและถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในปี 2552 โดยมียาโอเซลทามิเวียร์เป็นยารักษาเฉพาะ และมีการวิจัยพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ ปัจจุบันไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้ เป็น “โรคตามฤดูกาล” แม้ในประเทศไทยจะมีคนติดเชื้อและป่วยจำนวนมากต่อปีละ ในปี2562มีรายงานผู้ป่วย390,733 ราย เฉลี่ยวันละถึง 1,070 ราย เสียชีวิต 27 ราย
ขณะนี้รัฐก็มีการฉีดวัคซีนฟรีให้กับกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงประจำทุกปี นั่นเพราะแต่ละปี สายพันธุ์ไวรัสที่จะระบาดอาจแตกต่างกับปีก่อนและภูมิคุ้มกันในปีก่อนของคนเดิมอาจลดลงและไม่สามารถป้องกันในปีนี้ได้ จำเป็นต้องฉีดหรือกระตุ้นซ้ำ ซึ่งวัคซีนนี้พัฒนาจากป้องกันได้สายพันธุ์เดียว กลายเป็นวัคซีนฉีด 1 เข็ม ป้องกันได้ 4 สายพันธุ์แล้ว
คำตอบสำคัญที่จะหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงไม่เพียงอยู่ที่ “วัคซีนสำเร็จ” แต่ยังต้องรู้ต่อไปด้วยว่า “ภูมิคุ้มกัน”ที่เกิดขึ้นทั้งจากการให้วัคซีนและติดเชื้อตามธรรมชาติจะมีอยู่ในคนนั้นนานแค่ไหน เพื่อพิจารณาถึงการให้วัคซีน
เหนืออื่นใด “คนต้องปฏิบัติมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด” เพราะท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์โลกก็จะต้องอยู่ร่วมกับ “โรคโควิด-19”ต่อไป เช่นเดียวกับโรคอื่นๆที่เกิดขึ้นมาแล้ว