เปิด 8 คำถามแบบประเมิน 'ฆ่าตัวตาย' เช็คตัวเองเสี่ยงหรือไม่?
เนื่องในวัน "ป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" 10 กันยายน ชวนคนไทยช่วยกันสอดส่องคนรอบข้าง ครอบครัว เพื่อนฝูง รวมถึงเช็คตัวเองด้วยว่ามีความเสี่ยงต่อการ "ฆ่าตัวตาย" หรือไม่? พร้อมรู้วิธีรับมือเมื่อเห็นสัญญาณเตือนจากคนใกล้ตัว
องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดให้วันที่ 10 กันยายน เป็น "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมทั้งรณรงค์ให้ทั่วโลกช่วยกันยับยั้งและป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย สำหรับประเทศไทยเองก็พบว่าการฆ่าตัวตายยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและเรื้อรังมายาวนานแล้วเช่นกัน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เคยเปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี 2561 เอาไว้ว่า จากภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายของทั้งประเทศ อยู่ที่ 6.34 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,137 คน แบ่งเป็นชาย 3,327 คน คิดเป็น 80% และเป็นหญิง 810 คน คิดเป็น 20%
อีกทั้งยังพบว่าคนไทยวัยแรงงาน ช่วงอายุ 25-59 ปี เป็นวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด 74.7% รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 22.1%และวัยเด็ก อายุ 10-24 ปี 3.2% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบจำนวนผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 345 รายต่อเดือน และมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยวันละประมาณ 11-12 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 10 กันยายน 'วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก' กับ 10 เรื่องที่ควรรู้!
- ‘ฟังด้วยใจ’ ประตูทางออกที่อาจช่วยให้ 1 ชีวิตรอดจาก 'ฆ่าตัวตาย'
เนื่องใน "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนคุณมาทดสอบภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันด้วยการทำ "แบบประเมินการฆ่าตัวตาย" จาก thaidepression.com ด้วยคำถาม 8 ข้อ ดังต่อไปนี้
- เช็คตัวเองกับ 8 คำถามแบบประเมินการ "ฆ่าตัวตาย"
1. คิดอยากตาย หรือคิดว่าตายไปจะดีกว่าหรือไม่?
2. คิดอยากทำร้ายตัวเองหรือทำให้ตัวเองบาดเจ็บหรือไม่?
3. ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เคยคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายหรือไม่? ถ้าเคย สามารถควบคุมความอยากฆ่าตัวตายได้หรือไม่?
4. ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีแผนการที่จะฆ่าตัวตายหรือไม่?
5. ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้เตรียมการที่จะทำร้ายตัวเอง หรือเตรียมการจะฆ่าตัวตายโดยตั้งใจจะให้ตายจริงๆ หรือไม่?
6. ได้ทำให้ตนเองบาดเจ็บ แต่ไม่ตั้งใจที่จะเสียชีวิตหรือไม่?
7. ได้พยายามฆ่าตัวตายโดยคาดหวังหรือตั้งใจที่จะตายหรือไม่?
8. ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เคยพยายามฆ่าตัวตายหรือไม่?
โดยชุดคำถามทั้ง 8 ข้อนี้ แต่ละข้อจะมีคะแนนแตกต่างกันไป ระหว่างที่ตอบคำถามแต่ละข้อให้ผู้ทำแบบประเมินบวกคะแนนที่ตนเองได้ไปเรื่อยๆ จนครบทั้ง 8 ข้อ แล้วนำผลคะแนนรวมที่ได้ไป "แปรผล" ตามตารางข้างล่างนี้ ซึ่งหากผลออกมาว่ามีความเสี่ยงหรือแนวโน้มที่จะเกิดการฆ่าตัวตายต้องรีบบอกคนรอบข้าง อย่าเก็บงำไว้คนเดียว และควรไปพบจิตแพทย์โดยเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลดีๆ จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้เผยแพร่ถึง 5 สัญญาณเตือนของคนรอบข้างที่เสี่ยงต่อการ "ฆ่าตัวตาย" ในโลกโซเชียล รวมถึงวิธีรับมือหรือคู่มือที่ต้องทำ เมื่อพบเห็นว่ามีคนรอบข้างส่งสัญญาณเตือนการ "ฆ่าตัวตาย" ออกมา เมื่อเราเห็นสัญญาณดังกล่าวก็ต้องรับมือให้ถูกต้องด้วย
- 5 สัญญาณเตือนเสี่ยงต่อการ "ฆ่าตัวตาย" ในโลกโซเชียล
1. การโพสต์ข้อความสั่งเสียเป็นนัยๆ เช่น ขอบคุณ ขอโทษ ลาก่อน
2. โพสต์ข้อความพูดถึงความตาย หรือไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว
3. โพสต์ข้อความว่า ตนเองรู้สึกผิด รู้สึกตนเองล้มเหลว รู้สึกหมดหวังในชีวิต
4. โพสต์ข้อความพูดถึงความเจ็บปวด
5. โพสต์ข้อความว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น
- 8 วิธีรับมือเมื่อเห็นสัญญาณคนรอบข้างเสี่ยง "ฆ่าตัวตาย"
1. แสดงความเต็มใจช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำอย่างจริงใจ
2. ยอมรับว่า สิ่งที่โพสต์นั้นเป็นปัญหาของเขาจริงๆ เขาไม่ได้แกล้งเรียกร้องความสนใจ
3. ให้กำลังใจ สร้างความหวัง ให้เห็นว่า ปัญหาสามารถแก้ไขและผ่านไปได้
4. พิมพ์ข้อความให้คำปรึกษา ปลอบใจให้มีสติค่อยๆ คิดหาทางแก้ไขปัญหา
5. ชักชวนให้ออกมาทำกิจกรรมข้างนอก อย่าให้อยู่ลำพังคนเดียว
6. ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัว ให้บอกญาติเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด
7. แนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้คำปรึกษา
8. ติดต่อหาแหล่งช่วยเหลืออื่นๆ ในพื้นที่เท่าที่จะทำได้
สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนในสังคมต้องช่วยกันสังเกตสัญญาณเตือนคนรอบข้าง หากพบว่ามีอาการเศร้า หดหู่ เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ มีความคิดอยากตาย หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟังอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสิน เพื่อให้ผู้ที่เสี่ยงฆ่าตัวตายนั้นได้พูดระบายความรู้สึกจนคลายทุกข์ในใจ เกิดความสบายใจ มีกำลังใจ และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้
----------------------
อ้างอิง :