รัฐบาลตุน 7 แสนล้านสู้โควิด แผนสำรองขยายเพดานหนี้ 60%
รัฐบาลรับมือโควิดลากยาว “สุพัฒนาพงษ์” เร่งทำแผนรับมือจ้างงาน อุ้มหนี้เอสเอ็มอี เตรียม 7.4 แสนล้านรับมือปี 64 จัดงบกลาง 1.4 แสนล้าน ตุนวงเงินกู้ที่เหลือ 6 แสนล้าน สำนักงบฯ มั่นใจเพียงพอกู้วิกฤติ ชี้แผนสำรองขยายเพดานหนี้สาธารณะ 60%
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกโดยล่าสุดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกมีจำนวนใกล้เคียงกับ 30 ล้านคน ซึ่งการแพร่กระจายของไวรัสกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทย มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ล่าช้าโดยในปี 2564 เศรษฐกิจจะยังไม่กลับมาขยายตัวได้ในระดับเดียวกับก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลได้เตรียมการรับมือกรณีที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 แพร่ระบาดยาวนานกว่าที่รัฐบาลเคยคาดการณ์ไว้
สำหรับเม็ดเงินที่รัฐบาลมีในการรับมือกับโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2564 รวมแล้วประมาณ 7.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบกลาง 2564 วงเงินประมาณ 1.4 แสนล้านบาท
และวงเงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ซึ่งยังคงเหลือประมาณ 6.04 แสนล้านบาท แบ่งเป็น
1.เงินกู้ในส่วนการเยียวยาเศรษฐกิจ 5.5 แสนล้านบาท ยังมีวงเงินคงเหลือ 2.53 แสนล้านบาท
2.เงินกู้ในส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจฯวงเงิน 4 แสนล้านบาท ยังมีวงเงินคงเหลือ 3.07 แสนล้านบาท
3.วงเงินกู้สำหรับใช้ในด้านสาธารณสุขวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ยังมีวงเงินคงเหลือ 4.49 หมื่นล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการต่างๆที่จะออกมาดูแลเศรษฐกิจของประเทศจะต้องดูสถานการณ์เรื่องการแพร่ระบาดของโลกด้วย เพราะทุกอย่างบริหารอยู่บนความไม่แน่นอน รวมทั้งต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดรอบ 2 ที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นต้องใช้ความรอบคอบในการพิจารณาและออกมาตรการต่างๆ ตอนนี้ก็เน้นไปที่การจ้างงาน สร้างงาน ปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยเหลือเอสเอ็มอี
รวมทั้งหากสถานการณ์เปลี่ยนไปและมีปัจจัยที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการระบาดของโรคอีกอย่างแน่นอนในตอนนั้นก็จะเทเม็ดเงินทั้งหมดลงไปได้การบริหารงานก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง
“อย่าไปตีว่าเป็นความเสี่ยง แต่เป็นความไม่แน่นอน ต้องทำไปประคองไป เพื่อให้เห็นทีละช็อตทีละช็อต ถ้าอันไหนดี เติมได้เราก็เติมให้ก่อน ถ้าไม่ดีเราก็ปรับให้ดีขึ้น ระยะต่อไปเรื่องของมาตรการส่งเสริมการลงทุนก็ต้องมี อยู่ระหว่างทาบทามต้องดูเป็นเรื่องๆรอจังหวะในเวลาที่เหมาะสม” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ก็ต้องอาศัยเม็ดเงินจากหลายส่วนทั้งจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และเงินงบประมาณเพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ ซึ่งถือว่าภาครัฐเป็นส่วนการใช้จ่ายที่สำคัญในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับวงเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น
ระยะที่ 1 ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 9.2 หมื่นล้านบาท และ ครม.อนุมัติโครงการแล้วส่วนนี้ 4.3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะทยอยอนุมัติโครงการในส่วนของเงินกู้ระยะที่ 1 อีกภายใน 2-3 สัปดาห์
ระยะที่ 2 สศช.จะเสนอโครงการให้ ครม.พิจารณากรอบวงเงิน 1 แสนล้านบาท ในเดือน ต.ค.นี้
นายทศพร กล่าวว่า การอนุมัติงบประมาณในส่วนของเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาทจะต้องทำด้วยความรอบครอบ และมีการทยอยอนุมัติโครงการแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยดูถึงสถานการณ์และความเสี่ยงที่อาจจะมีการระบาดระยะที่ 2 ซึ่งอาจจะต้องทำให้รัฐบาลปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณรวมถึงการใช้เงินกู้ด้วย
"การทยอยอนุมัตินี้จะทำให้เงินทยอยลงสู่ระบบเศรษฐกิจ และยังเป็นการบริหารเงินที่มีอยู่โดยดูจากสถานการณ์ที่จะต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดระยะ 2 ด้วย หากมีการระบาดก็ยังมีเงินส่วนนี้ดูแลเศรษฐกิจ แต่หากไม่มีเงินจำนวนนี้ก็จะลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการที่คิดผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) หรือ ศบศ.ได้เพิ่มเติม" นายทศพร กล่าว
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า การใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจสามารถใช้ได้ถึง ก.ย.2564 ตามกรอบของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่ง สศช.แบ่งการใช้งบประมาณเป็น 4 ระยะ และปัจจุบันกำลังเข้าสู่การใช้งบประมาณระยะที่ 2 โดยถ้าการระบาดของโรคโควิดยืดเยื้อ และมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณสำหรับการเยียวยาผลกระทบเพิ่มมากขึ้น จะมีการปรับการใช้งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจไปใช้สำหรับการเยียวบาได้