เศรษฐกิจไทย ‘ยังหนัก’ ต้องเร่งฟื้นจากฐานราก
แม้ กนง.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 เหลือหดตัว 7.8% จาก 8.1% แต่ก็ปรับลดคาดการณ์การเติบโตปี 64 เหลือ 3.6% จาก 5% สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ยังอาการหนัก หนทางออกสำคัญต้องเน้นไปที่การพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น และพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากฐานราก
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับ “ประมาณการ” เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ใหม่ เป็น “หดตัวน้อยลง" เหลือ 7.8% จากคาดการณ์เดิมที่หดตัว 8.1% ...ฟังแบบนี้ อาจให้ความรู้สึกว่า เศรษฐกิจไทย “กำลังดีขึ้น” แต่ถ้าไปดูตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 ที่ กนง.ประเมินไว้ใหม่ ก็คงต้องเบรกความคิดนี้เอาไว้ เพราะ กนง.ได้ปรับลดคาดการณ์ “การเติบโต” ของเศรษฐกิจไทยปีหน้าลงเหลือ 3.6% จากประมาณการเดิมที่เคยประเมินว่าจะเติบโตระดับ 5%
ประมาณการใหม่ของ กนง. สะท้อนว่า กนง.กำลังมองเศรษฐกิจไทยช่วง 2 ปีนี้ (2563-2564) “หนักกว่าคาด” เพราะตัวเลขคาดการณ์เดิมเฉลี่ย 2 ปี หดตัวปีละประมาณ 1.55% แต่ประมาณการใหม่หดตัวเฉลี่ยปีละ 2.1% สาเหตุหลักเป็นผลจากการที่เรายังไม่สามารถ “เปิดประเทศ” ได้อย่างเต็มที่ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยในระยะข้างหน้า มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลงอย่างมีนัยสำคัญ โดย กนง.ได้ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยลงเหลือ 9 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 16.2 ล้านคน
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้ม “ต่ำกว่า” ประมาณการเดิมแบบมีนัยสำคัญ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อ “การบริโภค” ในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราจึงเห็น กนง. “ปรับลด” ตัวเลขการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนในปีหน้าลงมาเหลือ 2% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.5% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวช้า ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งช่วงที่ผ่านมาถือเป็น “พระเอก” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ...ที่ต้องจับตา คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวช้ากว่าคาด จะส่งผลกระทบต่อ “ธุรกิจ” ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้อย่างไร บริษัทที่สายป่านสั้น ขาดสภาพคล่องคงต้อง “ปิดกิจการ” จำนวนคนตกงานจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องลงมาดูแลอย่างจริงจัง
ย้อนไปช่วงหลายปีก่อน ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ โดยเฉพาะ “ข้าว” ทำให้แรงงานใน “ภาคเกษตร" ต้องย้ายมาทำงานใน “ภาคบริการ” กันมากขึ้น เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สร้างความคึกคักให้กับเศรษฐกิจในภาคบริการ แต่เวลานี้ภาคบริการกำลังเผชิญผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด หลายธุรกิจเริ่มปิดตัว ทำให้แรงงานกลุ่มนี้บางส่วนต้องย้ายกลับไปสู่ “ภาคเกษตร” เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ท้าทาย “ภาครัฐ” ว่าจะดูแลแรงงานกลุ่มนี้อย่างไร ยิ่งถ้าหันมาดูราคาสินค้าเกษตรในปัจจุบันแล้ว สถานการณ์ดู "น่าเป็นห่วง" ไม่แพ้กัน
ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ “ข้าว” ช่วงไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงต้นเดือน ก.ย. นับว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ล่าสุด “ราคา” กำลัง “ดิ่งลงอย่างหนัก” จากปริมาณผลผลิตที่ออกมาเยอะเกินความต้องการ หากสถานการณ์ด้านราคายังไหลลงต่อเนื่อง ปัญหาปากท้องจะยิ่งกลับมาเป็นประเด็น เราหวังว่ารัฐจะเข้ามาดูแลเรื่องเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และการดูแลต้องไม่ทำเฉพาะด้านราคา แต่ต้องดูรวมไปถึงระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำเกษตร เพราะถึงแม้ราคาสินค้าเกษตรจะกลับมาดี แต่เกษตรกรไม่มีน้ำใช้ ไม่มีน้ำในการทำเกษตร ผลผลิตก็ไม่เกิด ปัญหาต่างๆ ก็จะวนกลับมาที่เดิม เราเห็นว่าวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายในประเทศที่มากขึ้น ดังนั้นการมุ่งแก้ปัญหาภาคเกษตรแบบยั่งยืน พลิกฟื้นเศรษฐกิจจากฐานรากจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐต้องเพิ่มน้ำหนักในการดูแล!