หุ้นไทยโค้งท้ายส่อ‘รูดหนัก’ โบรกชี้สัญญาณ ‘ปรับฐาน’ ก่อนเลือกตั้งสหรัฐ
โบรกเกอร์ ประสานเสียง หุ้นไทยไตรมาส4 /63 ผันผวนคาดปรับฐานแรงช่วงเดือนต.ค. ก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ-กลับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ พร้อมกังวลการเมืองในประเทศ “พัฒนสิน“ ชี้ มีโอกาสแตะ1,150-1,200 จุด ยันปิดไตรมาส 3 ไร้แรงหนุน“วินโดว์เดรสซิ่ง”
ด้าน “ทิสโก้” เล็งปรับลดดัชนีสิ้นปีนี้ จากเดิมมอง1,400 จุด ”ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี” ชี้ต่างชาติยังคงขายหุ้นไทยต่อเนื่องคาดสูงกว่า 2.87 แสนล้านบาท ทำนิวไฮ หลังล่าสุดขายแล้ว 2.7 แสนล้านบาท
ภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี 2563 เรียกได้ว่าไม่สดใสเท่าใดนัก โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกซึ่งดัชนี SET ดิ่งลงจากจุดสูงสุดเมื่อปีก่อนที่ราว 1,850 จุด ไปทำจุดต่ำสุดที่ 969 จุด ก่อนที่ดัชนีจะฟื้นตัวได้แรงช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา กลับมายืนเหนือ 1,400 จุด แต่ล่าสุดดัชนีได้ปรับตัวลดลงมาแตะระดับ 1,250 จุด อีกครั้ง ทำให้ผลงานทั้งปียังติดลบอยู่ราว 20% จากปีก่อน
หากมองไปที่แต่ละกลุ่มนักลงทุนจะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นฝ่ายขายสุทธิอย่างหนักถึง 2.70 แสนล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายบุคคลเป็นผู้รับซื้อ 2 แสนล้านบาท ร่วมกับนักลงทุนสถาบันที่รับซื้อไป 6.75 หมื่นล้านบาท และที่เหลือเป็นแรงซื้อจากบัญชีบริษัทหลักทรัพย์
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน - กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์(บล.) โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย ช่วงไตรมาส4ปี 2563 จะผันผวน โดยประเมินกรอบแนวรับ1,150-1,200 จุด แนวต้านที่ระดับ 1,330 จุด ซึ่งในช่วงต้นไตรมาส คือเดือนต.ค.ตลาดอาจจะมีการปรับฐานลงไปทดสอบแนวรับ เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ และความไม่แน่นอนนโยบายการค้าของสหรัฐ ซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้ประเด็นดังกล่าวในการหาเสียง
ส่วนกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กลับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติในวันที่1ต.ค.2563 ที่ให้ชอร์ตเซลได้ในราคาที่สูงกว่าหรือเท่ากับราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Zero Plus Tick) จากก่อนหน้าที่ใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลชั่วคราวที่ต้องชอร์ตเซลในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) ซึ่งขณะนี้ตลาดกำลังปรับตัวเพื่อรองรับกับความเสี่ยงนี้ ซึ่งในช่วงที่ใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลชั่วคราวเพื่อลดความผันผวนของตลาดนั้นมูลค่าชอร์ตเซลลดลงเหลือเฉลี่ยวันละ 500 ล้านบาท จากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มูลค่าชอร์ตเซลอยู่เฉลี่ยวันละ 3,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าเมื่อกลับมาใช้เกณฑ์ปกติแล้วมูลค่าชอร์ตเซลก็จะกลับมาอยู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แต่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้แค่ไหน
ทั้งนี้หลังจากทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐแล้ว ปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนพ.ย.และธ.ค.เรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความคืบหน้าวัคซีน ที่จะมีผลต่อจิตวิทยาการลงทุน ส่วนเม็ดเงินลงทุนต่างชาตินั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณบวกที่จะกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งต้องรอหลังเลือกตั้งว่าประธานาธิบดีสหรัฐเป็นใคร นโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้นักลงทุนทั่วโลกมีการปรับพอร์ตการลงทุนตลาดหุ้นเอเชียมีโอกาสได้ผลบวก และตลาดหุ้นไทยจะได้รับอานิสงส์หรือไม่ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดีแค่ไหนและแนวโน้มผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน
สำหรับการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้แนะนำให้เน้นลงทุนในหุ้นที่มีผลดำเนินงานเติบโต เช่น กลุ่มส่งออกอาหาร เครื่องดื่ม และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และนักลงทุนควรถือหุ้นสัดส่วน 25% เพื่อรอจังหวะเข้าซื้อหุ้นในช่วงที่ตลาดปรับฐานในช่วงต้นไตรมาส ส่วนปิดไตรมาส3ปี 2563คาดว่าจะเห็นนักลงทุนสถาบันทำราคาเพื่อปิดงวดบัญชี (วินโดว์เดรสซิ่ง)น้อย เพราะปกติช่วงที่มีการทำวินโดว์เดรสซิ่งจะเป็นช่วงกลางปี และปลายปี
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทย ในช่วงไตรมาส 4 ปี2563 คาดว่าดัชนีฯน่าจะปรับตัวผันผวนขาลง เนื่องจาก เชื่อว่าภาวะตลาดยังถูกปกคลุมจากความไม่แน่นอนของปัจจัยทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างการปรับลดประมาณการเป้าหมายดัชนีฯสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดไว้ระดับ 1,400 จุด
ทั้งนี้ประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของไตรมาส 4ปีนี้จะเคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัวลง เนื่องจากมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อตลาด ได้แก่ การเลือกตั้งของประเทศสหรัฐ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าใครจะได้รับเลือกขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่,สถานการณ์การแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 ในหลายประเทศ และความล่าช้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯรอบใหม่ ซึ่งอาจทำให้เริ่มเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มแผ่วลงและกระตุ้นแรงขายในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศยังมีแรงกดดันจากสถานการณ์การเมืองที่เริ่มร้อนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดจะมีการนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในเดือนต.ค.นี้รวมถึงแนวโน้มการต่อพรก.ฉุกเฉินออกไปอีก
ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของไตรมาสดังกล่าวนั้น คาดว่าดัชนีฯจะค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากจะเห็นความชัดเจนของการเลือกตั้งสหรัฐฯและการโยกย้ายเม็ดเงินจากตลาดเงิน อาทิ ตลาดตราสารหนี้และเงินฝากเข้ามาในตลาดหุ้นเพิ่มมากขึ้น เพราะภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับคาดว่าจะมีความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และทิศทางฐานกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่จะพลิกกลับมาดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1ปี2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะหนุนให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนพลิกกลับมาเป็นบวก เพราะตลาดหุ้นมักสะท้อนปัจจัยล่วงหน้าไปก่อน
อย่างไรก็ตามในส่วนของด้านกลยุทธ์การลงทุนนั้น มองว่าเป็นจังหวะในการเข้าซื้อ เมื่อดัชนีปรับตัวลดลง ซึ่ง1,250 จุดถือว่าเป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะมีค่าพีอีตลาดเพียง 15 เท่า ส่วนกลุ่มหุ้นที่แนะนำเน้นที่ราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาดและมีแนวโน้มการเติบโตดี อาทิ กลุ่มอาหาร,การแพทย์ และกลุ่มหุ้นขนาดเล็ก
“ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างการปรับลดประมาณการเป้าหมายดัชนีฯสิ้นปีนี้แถวระดับ 1,250-1,300 จุด จากเดิมคาดไว้ระดับ 1,400 จุด โดยเป้าหมายดัชนีฯต่ำสุดคาดว่าจะอยู่ที่บริเวณ 1,200 จุด ส่วนจุดสูงสุดไม่น่าจะเกินระดับ 1,300 จุด”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บล. ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกมีทิศทางดีขึ้นคาดว่าดัชนีมีโอกาสฟื้นตัวได้ แต่จากที่สหรัฐจะมีการเลือกตั้งวันที่ 3 พ.ย. นั้นจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการผันผวนสูงในช่วงก่อนเลือกตั้งจากที่ยังมีความไม่แน่นอน แต่ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะผันผวนไม่แรง เพราะที่ผ่านมาตลาดหุ้นต่างๆปรับตัวขึ้นแต่ตลาดหุ้นไทยขึ้นก่อนกว่า แต่ช่วงที่ตลาดหุ้นอื่นปรับตัวลง ดัชนีหุ้นไทยก็จะลงแรงกว่า และในช่วงต.ค.และพ.ย.จะเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนทยอยประกาศงบไตรมาส3ปี 2563ออกมา เชื่อว่า จะดีกว่าช่วงไตรมาส 2 ปี2563
สำหรับทิศทางเม็ดเงินต่างชาติคาดว่าจะยังคงขายหุ้นไทยอยู่ เพราะ ยังไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาหนุน ทำให้มีโอกาสที่ปีนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์(นิวไฮ) ใหม่จากไฮเดิมอยู่ที่ 2.87 แสนล้นบาท ในปี 2561 เพราะ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน(24ก.ย.)ต่างชาติขายสุทธิแล้ว 2.7 แสนล้านบา
ทั้งนี้ประเมินว่าดัชนีไตรมาส4ปีนี้จะแกว่งตัวในกรอบ 1,200-1,330 จุด โดยมองดัชนีสิ้นปีอยู่ที่ 1,280 จุด สำหรับกลยุทธ์การลงทุนหากเป็นนักลงทุนระยะสั้นเก็งกำไรได้ แต่หากเป็นนักลงทุนระยะยาวรอจังหวะซื้อหลังเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งหากโควิด-19ทิศทางดีขึ้นแนะนำให้ซื้อหุ้นที่จะฟื้นตัวจากโควิด-19 เช่น กลุ่มค้าปลีก โรงกลั่น โรงพยาบาล