กฎหมายภาษี 'กองทุนรวม' ที่นักลงทุนต้องรู้ อัพเดตปี 2563
อัพเดท! "กฎหมายภาษีกองทุนรวม" ในปี 2563 มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอะไรบ้างที่นักลงทุนควรรู้ และกองทุนรวมประเภทใดบ้างที่ต้องจ่ายภาษี? หรือประเภทใดบ้างที่ได้รับการยกเว้น?
สำหรับกฎหมายภาษีกองทุนรวมที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นมีรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ต่างออกไปจากเดิมอย่างไร ก่อนอื่นต้องขอเท้าความกลับไปยังปี 2562 รัฐบาลได้มีการออกกฎหมายการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้ โดยจัดเก็บอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ดอกเบี้ยที่กองทุนรวมได้รับ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเกิดความเท่าเทียมกันระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงและการลงทุนผ่านกองทุนรวม
จากหลักการตามกฎหมายใหม่ “กองทุนรวม” มีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งกำหนดให้เฉพาะเงินได้ดอกเบี้ย อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ และไม่ต้องนำรายได้อันมิใช่เงินได้ดอกเบี้ยมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างไรก็ดีรัฐบาลจะยังคงยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมในกลุ่มประเภทการออมเพื่อการเกษียณอายุ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนการออมแห่งชาติ กองบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เป็นต้น
จากหลักการข้างต้น ภาระภาษีในฝั่งผู้ลงทุนบุคคลธรรมดา ในปี 2563 สรุปตามประเภทกองทุน และประเภทเงินได้ ดังนี้
1) กลุ่มกองทุนรวมตราสารหนี้ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เมื่อได้รับเงินได้ทั้งส่วนแบ่งกำไรและ Capital Gain เนื่องจากกฎหมายมองว่า ได้จัดเก็บภาษีไปแล้วในระดับกองทุนรวมจึงไม่จัดเก็บในระดับผู้ลงทุนให้เกิดความซ้ำซ้อนและเป็นภาระให้นักลงทุนเพิ่มอีก
2) กลุ่มกองทุนรวมตราสารทุนและกองทุนตราสารผสม สำหรับเงินได้ประเภทส่วนแบ่งกำไรที่ผู้ลงทุนผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาได้รับ โดยกองทุนรวมฯ ในฐานะผู้จ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินส่วนแบ่งของกำไรนั้น และผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกไม่นำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี ส่วนเงินได้ประเภท Capital Gain จะได้รับยกเว้นภาษี
3) กลุ่มกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับเงินได้ประเภทส่วนแบ่งกำไร ผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินส่วนแบ่งของกำไรจนกว่าจะครบกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่ปีที่จัดตั้งกองทุนตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 544 และหลังจากนั้น จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินส่วนแบ่งของกำไรนั้น และผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกไม่นำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี ส่วนเงินได้ประเภท Capital Gain จะได้รับยกเว้นภาษี
4) กลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สำหรับเงินได้ประเภทส่วนแบ่งกำไรที่บุคคลธรรมดาได้รับ โดยกองทุนรวมฯในฐานะผู้จ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินส่วนแบ่งของกำไรนั้น และผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกไม่นำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี ส่วนเงินได้ประเภท Capital Gain จะได้รับยกเว้นภาษีเช่นเดียวกัน