'รถไฟฟ้า' มาหาชาวกรุง! 2 สายใหม่เปิดแล้ว 16 ธ.ค. ให้นั่งฟรี!
ชาวกรุงเตรียมนั่ง "รถไฟฟ้า" 4 สายใหม่ โดย 2 ใน 4 สาย จะเปิดให้บริการ 16 ธ.ค.นี้ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีทอง และสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ส่วนสายสีเหลือง-ชมพู จะเปิดในปี 2564-2565 ชวนดูรายละเอียด "รถไฟฟ้า" ทั้ง 4 สายก่อนใช้บริการ
ใกล้ความจริงเข้ามาทุกทีแล้ว สำหรับ "รถไฟฟ้า" 4 สายใหม่ ที่กำลังจะเปิดให้บริการชาวกรุงเร็วๆ นี้ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีทอง, รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ในเส้นทางหมอชิต-คูคต (สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ-สถานีคูคต) รวมไปถึง รถไฟฟ้าสายสีชมพู, รถไฟฟ้าสายสีเหลือง อีกด้วย
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคนกรุงมารู้จักรายละเอียดรถไฟฟ้าสายใหม่ทั้ง 4 สายนี้ว่าจะมีรูปแบบรถไฟฟ้าเป็นแบบไหน ให้บริการเส้นทางไหนบ้าง ค่าโดยสารกี่บาท แล้วจะได้ใช้งานจริงกันเมื่อไหร่กันแน่? ..มาเช็คลิสต์ทางนี้เลย
1. รถไฟฟ้าสายสีทอง
เริ่มจาก รถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นรถไฟฟ้าสายสั้นๆ ที่จะเชื่อมต่อฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น มีการปรับปรุง BTS สะพานตากสินให้เป็นสถานีที่มี 2 ชานชาลาและเป็นรางคู่ โดยจุดเชื่อมต่อที่น่าสนใจที่สุดคือ บริเวณสถานีกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน เชื่อมต่อไปยังห้างดังอย่าง ICONSIAM ริเริ่มให้มีการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2560 ก่อสร้างโดยบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มีงบลงทุนในการก่อสร้างประมาณ 3,000 ล้านบาท
อัพเดท.. ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง ระยะที่ 1 ช่วงสถานีกรุงธนบุรี-สถานีสำนักงานเขตคลองสาน ระยะทางประมาณ 1.8 กม. มีความคืบหน้าแล้ว 96% จะไม่มีการทดลองนั่งฟรี แต่จะเริ่มเก็บค่าโดยสารทันที ราคา 15 บาทตลอดสาย
ต่อมามีข้อมูล อัพเดทล่าสุด.. วันนี้ (16 ธ.ค.63) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า ในส่วนของสายสีทอง ระยะที่ 1 สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สถานีคลองสาน จะให้บริการฟรี 1 เดือน ระหว่างวันที่ 16 ธ.ค. 2563 – 15 ม.ค. 2564 จากนั้นจะเริ่มเก็บค่าโดยสารคงที่ 15 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป
อีกทั้ง เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าที่ไม่มีคนขับประชาชนอาจจะยังไม่คุ้นชิน ช่วงแรกที่เปิดให้บริการ จะมีการจัดเจ้าหน้าที่ขึ้นประจำรถไปพร้อมกับผู้โดยสารด้วย เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการเดินทางมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- รถไฟฟ้า 'สายสีทอง' จะเปิดแล้ว 16 ธ.ค.นี้ ราคา 15 บาทต่อเที่ยว
- บูมฝั่งธนฯ รถไฟฟ้า ‘สายสีทอง’ เปิดเดินรถ 16 ธ.ค.63
ในการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 : มีระยะทาง 1.80 กิโลเมตร ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี, สถานีเจริญนคร (เชื่อม ICONSIAM), สถานีคลองสาน มีแนวเส้นทางจากสถานีรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี ไปทางทิศตะวันออกตามแนวเส้นทางคู่ขนานของถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวซ้ายขึ้นทางทิศเหนือไปตามแนวถนนเจริญนครผ่านแยกคลองสาน ไปสิ้นสุดที่ถนนสมเด็จเจ้าพระยาที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน
ระยะที่ 2 : มีระยะทาง 0.88 กิโลเมตร ประกอบด้วย 1 สถานี คือ สถานีประชาธิปก
ระบบรถไฟฟ้าสายสีทอง ใช้เป็นระบบ Monorail รูปแบบไร้คนขับโดยใช้รางนำทาง มีผิวสัมผัสระหว่างล้อและทางวิ่งเป็นยาง ซึ่งจะทำให้เกิดความนุ่มนวลและก่อให้เกิดเสียงรบกวนต่ำเมื่อเทียบกับระบบอื่น อีกทั้งมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโมเดลที่ใช้เป็นรุ่น Bombardier Innovia APM 300 จำนวน 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ 4,000-12,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง
การเชื่อมต่อในอนาคต รถไฟฟ้าสายสีทอง จะมีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอื่นๆ 3 สาย ได้แก่
1. รถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้า BTS สายสีลม เชื่อมต่อจาก BTS กรุงธนบุรี (G1)
2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เชื่อมต่อกับสถานีประชาธิปก (G4)
3. รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย เชื่อมต่อกับสถานีคลองสาน (G3)
2. รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย)
เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้นำขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส เข้าดำเนินการทดสอบการเดินรถ ต่อจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จำนวน 7 สถานี คือ
สถานีพหลโยธิน59 (N18), สถานีสายหยุด (N19), สถานีสะพานใหม่ (N20), สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช (N21), สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ (N22), สถานีแยก คปอ. (N23) และ สถานีคูคต (N24) ซึ่งเป็นสถานีปลายทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รวมระยะทาง 9.8 กิโลเมตร
อัพเดทล่าสุด.. มีข้อมูลว่า "รถไฟฟ้า" สายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) พร้อมเปิดให้บริการ วันที่ 16 ธันวาคม 2563 นี้ โดยให้ประชาชน "นั่งฟรี" ไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2564
สำหรับการทดสอบการเดินรถนั้น บริษัทฯ ได้นำรถไฟฟ้าวิ่งทดสอบในราง (Test Track) ทั้งเส้นทาง โดยภาพรวมการทดสอบเดินรถไป-กลับระหว่าง 7 สถานี ผลการทดสอบเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีข้อบกพร่อง นอกจากนี้ยังทดสอบระบบรวม (System Integration Test) เช่น ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบการสื่อสาร เพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานทุกระบบมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธา และติดตั้งระบบไฟฟ้าทั้งโครงการแล้วเสร็จ 100% ทำให้ปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมมีสถานีให้บริการทั้งหมด 59 สถานี รวมระยะทางทั้งสิ้น 68.25 กิโลเมตร
3. รถไฟฟ้าสายสีชมพู
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมี ระยะทาง 34.5 กม. มีสถานีรวม 32 สถานี ให้บริการในเส้นทางแคราย-มีนบุรี มีเงินลงทุน 46,643 ล้านบาท เป็นโครงการที่อยู่ในแผนลงทุน PPP Fast Track ของรัฐบาล ซึ่งมีภาคเอกชน ได้แก่ บจ.นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล และ บจ.อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล ร่วมลงทุนจนโครงการใกล้จะสำเร็จ คาดว่าทั้งรถไฟฟสายนี้จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2565
ความคืบหน้าภาพรวม แบ่งเป็นการก่อสร้างงานโยธาของรถไฟฟ้าสายสีชมพูอยู่ที่ 70% และงานระบบอยู่ที่ 50% แต่ติดปัญหาการขยับสถานีบริเวณหน้าศูนย์ราชการนนทบุรีและสถานีนพรัตน์ ซึ่งต้องปรับรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ทำให้การเปิดบริการอาจจะเลื่อนออกไป ประมาณปี 2564-2565
คาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบเดินรถ (Test Run) ประมาณเดือนเมษายน - กรกฎาคม 2565 หลังจากนั้นจะทดลองเดินรถเสมือนจริง(Trial Running) ในช่วงมีนบุรี – ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เป็นลำดับต่อไป (คาดว่าจะเปิดให้บริการล่าช้ากว่าสายสีเหลือง) ส่วนค่าโดยสารในการเดินทางบนรถไฟฟ้าสายสีชมพู เริ่มต้น 16-42 บาท
ขบวนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ผลิตจากสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบรักษาความปลอดภัย ใช้โมเดลรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia Monorail 300 จำนวน 42 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคล่อมราง (Straddle Monorail) ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์แม่เหล็กแบบถาวร ไร้คนขับ มีความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. ใช้แรงดันไฟฟ้าแบบกระแสตรง 750 โวลด์ รองรับผู้โดยสารได้ 568 คน/ตู้ และหากคิดเป็น 1 ขบวนจะรองรับผู้โดยสารได้ 1,009 คน/ขบวน
4. รถไฟฟ้าสายสีเหลือง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีระยะทาง 30.4 กม. บริการ 23 สถานี ในเส้นทางลาดพร้าว-สำโรง มีเงินลงทุน 45,797 ล้านบาท เป็นโครงการที่อยู่ในแผนลงทุน PPP Fast Track ของรัฐบาลเช่นกัน ดำเนินงานโดย บจ.นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรลและ บจ.อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล ร่วมลงทุนเช่นกัน
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีความคืบหน้าประมาณ 62.44% และเนื่องจากสายสีเหลืองไม่ติดปัญหาด้าน EIA แบบเดียวกับสายสีชมพู จึงทำให้สามารถเปิดบริการได้เร็วกว่าสายสีชมพู คือ จะเริ่มเปิดทดสอบเดินรถในเดือนเมษายน 2564 จากนั้นจะเปิดทดลองเดินรถเสมือนจริง โดยให้ประชาชนร่วมใช้บริการฟรี! ในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน ช่วงสำโรง-พัฒนาการก่อน และเก็บค่าโดยสารในเดือนตุลาคม 2564 เป็นลำดับต่อไป ค่าโดยสารเริ่มต้น 16-42 บาท
ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ผลิตจากสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบรักษาความปลอดภัย ใช้โมเดลรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia Monorail 300 ใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคล่อมราง (Straddle Monorail) เป็นโครงสร้างยกระดับตลอดสาย มีทางเดินสำหรับการอพยพกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินตลอดทาง ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์แม่เหล็กแบบถาวร ไร้คนขับ มีความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. ใช้แรงดันไฟฟ้าแบบกระแสตรง 750 โวลด์ รองรับผู้โดยสารได้ 568 คน/ตู้
----------------------
ที่มาภาพบางส่วน : BTSSkyTrain