คิดถึงคำสอน'รัชกาลที่ 9' : เศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีในตำรา
รู้จักใช้ รู้จักคิด รู้จักทำ แค่ไหนพอดีพอเพียง ใน"วันคล้ายวันสวรรคตรัชกาลที่ 9" น้อมรำลึกถึงคำสอน "เศรษฐกิจพอเพียง"
“คนเรา ถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบือนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่า ทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ก็ต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...”พระราชดำรัส ของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2541
หากจะให้นิยามคำว่า เศรษฐกิจพอเพียงที่พสกนิกรนำพระราชดำรัสมาอ้างอิงอยู่เรื่อยๆ ก็จะรู้ว่า มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก
ความพอเพียงในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้หมายความแค่บุคคลพึ่งตนเองได้ แต่เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่านั้น และไม่ใช่แนวทางที่ปรับใช้ได้เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ว่า เดินตามเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้วจะหยุดอยู่กับที่ แต่เศรษฐกิจพอเพียง ใช้ได้ทั้งกลุ่มบุคคล ชุมชน และสังคม
“คำว่า เศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีในตำรา” ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสในหลวง รัชกาลที่ 9
พระองค์ท่านทรงอธิบายว่า ถ้าคนไทยปฏิบัติตามแนวทางนี้แค่เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ และพอในที่นี่ไม่ได้หมายความว่า เศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ
ในหนังสือ ธรรมดีที่พ่อทำ บันทึกไว้ว่า
"ในหลวง รัชกาลที่ 9ทรงเป็นต้นคิดในเรื่องความพอเพียง พระองค์ท่านยังทรงเป็นตัวอย่างของความพอดีและประหยัด ห้องทรงงานของพระองค์ในพระตำหนักจิตรลดาฯ จะอยู่ใกล้ห้องบรรทม เป็นห้องเล็กๆ ขนาด 3 คูณ 4 เมตรเท่านั้้น ภายในห้องมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์ แผนที่ ฯลฯ สำหรับการทรงงานเพื่อประชาชนของพระองค์ตลอดเวลา
ยามเมื่อเสด็จฯออกตรวจงานภายนอก ก็จะมีรับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอว่า การนั่งรถคนละคันนั้นเป็นการสิ้นเปลือง จึงทรงให้นั่งรวมกัน และไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียด ซึ่งเรียกว่า นั่งรถหารสอง"
หม่อมเจ้าดิศานุวัต ดิศกุล เคยทรงเล่าว่า สมเด็จพระบรมราชชนกทรงประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ทุกรายการ ถึงกับทรงเคยรับสั่งว่า
“ถ้าจะไม่กลับมากินข้าว อย่าหุงข้าวให้เหลือให้หุงพอฉันกินคนเดียว”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้ให้สัมภาษณ์พระราชจริยวัตร “พอดี” ตีพิมพ์ในนิตยสารแพรว ฉบับที่ 642 วันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2549 เตือนสติคนไทยว่า
“...กินจากความสนุกนี่คือ กิเลส ผมถวายงานมายี่สิบกว่าปี เห็นเสวยอย่างไร พระราชจริยวัตรอย่างไร วันนี้ก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน ทรงรักษาระเบียบวินัยในความเป็นอยู่ แต่ของเราทั่วไปมักตามใจตัวเอง ถึงบอกว่า พอดีคือ ความพอเพียง ไม่ว่าใครก็รักษาไว้ได้”
ส่วนเกษตรกรที่มีหนี้สิน และหาทางออกให้ชีวิตไม่ได้ หลายคนหันมาใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้หลุดพ้นจากหนี้สิน ประสบความสำเร็จในชีวิตได้
อย่างลุงนิล หรือสมบูรณ์ ศรีสุบัติ เกษตรกรอ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร หนึ่งในผู้ประสบวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มีหนี้สินมากมาย เคยคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะทางออกให้ชีวิตไม่ได้ แต่แล้ววันหนึ่งได้ดูทีวี ฟังพระราชดำรัสในหลวง รัชกาลที่ 9 ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในเรื่องความพอเพียง เขาก็เลยคิดได้ จากปลูกพืชเชิงเดียว ก็หันมาทำการเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เขาใช้เวลา 19 ปีทำการเกษตรผสมผสาน ช่วง 7 ปีแรกปรับพื้นดินให้เหมาะกับการปลูกพืช ปลูกทุกอย่างที่กิน จนสามารถปลดหนี้ได้ และ 12 ปีหลังจากนั้นเก็บผลผลิตขายได้ทุกวัน
“
"ตอนผมปลูกทุเรียน 700 ต้น ผมเหนื่อยมาก นั่งหลับใต้ต้นทุเรียนเลย สู้มาหลายปี ใส่ปุ๋ยหนักให้ทุเรียนออกลูก กู้เงินมาซื้อสารเคมีรักษาต้นทุเรียน สุดท้ายเป็นหนี้ มีคนตามด่า หมดหนทาง ควักปืนออกมาจะยิ่งหัวตัวเอง คิดว่า ตายแล้ว คงมีค่าประกันชีวิตให้ลูก ไม่รู้เลยว่า ยิ่งหัวตัวเองไม่ได้ค่าประกัน ตอนนั้นลูกชายออกมาพอดี ก็เลยตายไม่ลง ตกเย็นเปิดทีวีดู บังเอิญตอนนั้นในหลวงมีพระราชดำรัสถึงประชาชน เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้คิดได้"
ตั้งแต่วันนั้นถึงปัจจุบัน ลุงนิลเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เขาเปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน ค่อยๆ ทะยอยปลดหนี้
“ผมหลุดหนี้ ด้วยหลักการเศรษฐกิจพอเพียงภายใน 7 ปี และปีที่ 8 เริ่มมีของกินมากขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากบอกคนเป็นหนี้ว่า อย่าคิดฆ่าตัวตาย ลองศึกษาแนวคิดพระราชดำรัสของในหลวง พระองค์ท่านทำเรื่องยากให้ง่าย ”
(เศรษฐกิจพอเพียง ต้องไม่ฟุ่งเฟ้อ )
1 ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ละความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีพอย่างจริงจัง ดังกระแสพระราชดำรัสว่า
“ความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง...”
2 ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้องสุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพก็ตาม ดังกระแสพระราชดำรัสว่า
“ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดจากการประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสำคัญ...”
3 ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์ในทางค้าขาย การประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง ดังกระแสพระราชดำรัสว่า
“ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น...”
.......................
ข้อมูลจาก :หนังสือการประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)