‘โควิด-19’ ทำเครือโรงหนังใหญ่สุดในโลกเสี่ยงปิดตัว
อนาคตอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์น่าเป็นห่วง AMC เครือโรงหนังใหญ่ที่สุดในโลกประกาศว่ากำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ถึงขั้นมีความเสี่ยงว่าอาจต้องปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้ หากไม่มีหนังใหม่ ๆ ปล่อยออกมาเพื่อดึงคนเข้าโรงภาพยนตร์
AMC Entertainment ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายใหญ่สุดในโลกซึ่งมีโรงหนังให้บริการอยู่เกือบ 600 แห่งในสหรัฐ และอีก 358 แห่งในต่างประเทศ ได้ออกมาแถลงเมื่อวันอังคาร (13 ต.ค. 2563) ที่ผ่านมาว่า การไม่มีหนังใหม่ ๆ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ บวกกับการที่ยังต้องปิดโรงหนังในตลาดหลัก ๆ อย่าง แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์กต่อไป ส่งผลให้ทางบริษัทขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป AMC อาจจะขาดแคลนเงินสดที่มีอยู่ภายในสิ้นปี 2563 หรือต้นปี 2564
ถึงแม้ว่าปัจจุบันโรงหนังในเครือ AMC จะเปิดให้บริการแล้ว 494 แห่ง จากทั้งหมด 598 แห่งในสหรัฐ แต่ 17% ของโรงหนังที่ยังปิดให้บริการอยู่นั้นตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ซึ่งเป็นตลาดสำคัญทั้งสิ้น นั่นก็คือ นครนิวยอร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐวอชิงตัน รัฐนอร์ธแคโรไลนา และรัฐแมรีแลนด์ โดยโรงหนังในพื้นที่เหล่านี้ทำรายได้ให้กับบริษัทมากถึงเกือบ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดเมื่อปีที่แล้ว
นอกเหนือจากเรื่องการปิดโรงหนังแล้ว ยังมีสิ่งที่ทำให้สถานการณ์ของผู้ประกอบการณ์โรงภาพยนตร์เลวร้ายหนักขึ้นไปอีก นั่นก็คือ การที่มีหนังใหม่เข้าโรงฉายน้อยมาก ล่าสุด หนังฟอร์มยักษ์อย่าง เจมส์ บอนด์ภาคใหม่ No Time To Die และหนังซูเปอร์ฮีโรอย่าง Black Widow ที่น่าจะดึงคนเข้าโรงภาพยนตร์ได้ต่างทยอยประกาศเลื่อนวันฉายไปเป็นปีหน้า ขณะที่ค่ายหนังบางแห่งก็เลือกที่จะนำหนังไปเปิดตัวฉายทางระบบสตรีมมิงแทนที่จะรอให้โรงหนังเปิดตัวก่อน อาทิ Mulan ของดิสนีย์
- อนาคตอันมืดมนของโรงหนัง
ก่อนหน้านี้ Regal เครือโรงหนังที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก สัญชาติอังกฤษ ก็เพิ่งออกมาประกาศปิดให้บริการโรงหนังทั้ง 536 โรงในเครือแบบไม่มีกำหนด หลังจากที่ผู้สร้าง No Time To Die หนังเจมส์ บอนด์ ภาคใหม่ ประกาศเลื่อนวันฉายไปเป็นวันที่ 2 เมษายน ปี 2564
ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เช่น Cinemark และ Alamo Drafthouse ต้องดิ้นรนหาทางอยู่รอดด้วยการปล่อยให้เช่าโรงหนังส่วนตัวในราคาที่ถูกเพียง 99 ดอลลาร์สหรัฐ
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มองว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้อาจทำให้เส้นแบ่งของการดูหนังในโรงภาพยนตร์ และการดูหนังที่บ้านเจือจางลง
“หนังบล็อกบัสเตอร์อาจไม่จำเป็นต้องนิยามจากตัวเลขบ็อกซ์ ออฟฟิศอีกต่อไปแล้วก็ได้” คนวงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ไม่ประสงค์จะออกนามกล่าว
“มันอาจจะนิยามด้วยตัวเลขบ็อกซ์ ออฟฟิศ หรือตัวเลขจากการปล่อยฉายในระบบ Premium Video On-Demand (PVOD) หรือตัวเลขอย่างอื่นก็ได้ หนังบล็อกบัสเตอร์ไม่ได้ตาย แต่มันกำลังวิวัฒนาการต่างหาก”
- ดิสนีย์ปรับโครงสร้าง-มุ่งสตรีมมิงเต็มตัว
ในเวลาเดียวกัน ยักษ์ใหญ่ของโลกบันเทิงอย่าง ดิสนีย์ (Disney) ก็ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ให้สอดรับกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมบันเทิงโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเพราะโควิด-19 ด้วยการหันไปมุ่งเน้นการผลิตคอนเทนต์ป้อนระบบสตรีมมิงมากขึ้น
ทั้งนี้ ดิสนีย์ถือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการระบบสตรีมมิงชั้นนำของโลก โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทเปิดเผยตัวเลขว่า Disney Plus (ดิสนีย์ พลัส) ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 มียอดผู้สมัครใช้บริการแล้วกว่า 60 ล้านราย
แต่ถ้ารวมทุกแพลตฟอร์มสตรีมมิงในในเครือ ซึ่งประกอบด้วย Disney Plus, ESPN Plus และ Hulu เข้าด้วยกัน จะมียอดผู้สมัครใช้บริการสูงถึง 100 ล้านคน
เท่านั้นยังไม่พอ ดิสนีย์ยังมีแผนจะเปิดแพลตฟอร์มสตรีมมิงใหม่ที่เรียกว่า Star ขึ้นมาอีกในเร็ว ๆ นี้
สำหรับโครงสร้างองค์กรใหม่ของดิสนีย์นั้น นายบ็อบ ชาเพ็ก (Bob Chapek) CEO ของดิสนีย์ แถลงว่าจะมีการจัดตั้งบริษัทผลิตคอนเทนต์ขึ้นมาใหม่ 3 แห่งเพื่อรับผิดชอบการผลิตเนื้อหาด้านกีฬา, ความบันเทิงทั่วไป และภาพยนตร์ ป้อนสู่ระบบสตรีมมิงเป็นหลัก
หลังจากที่ประกาศข่าวนี้ออกมา หุ้นของดิสนีย์ได้ปรับตัวขึ้นถึง 5.6% ทั้งนี้เนื่องจาก Disney Plus ถูกมองว่าเป็นผู้ให้บริการระบบสตรีมมิงหน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งหนึ่ง ถือเป็นเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างเจ้าตลาดอย่าง Netflix และ HBO Max ในเครือ WarnerMedia