"ลอยกระทง 2564" เปิดบทสวดขอขมา "แม่คงคา" พร้อมรู้ประวัติความสำคัญ
"ลอยกระทง 2564" ปีนี้ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน ซึ่งประชาชนสามารถเที่ยวงานลอยกระทงได้ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด ชวนรู้บทสวดขอขมา "แม่คงคา" ตามความเชื่อจากตำนานการบูชา "รอยพระพุทธบาท" ในศาสนาพุทธ
"ลอยกระทง 2564" ปีนี้มีข้อมูลการจัดงานลอยกระทงที่สับสนเล็กน้อย เพราะเบื้องต้นภาครัฐมีคำสั่งว่าไม่ให้จัดงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ "โควิด-19" แต่ต่อมามีประกาศใหม่ว่า ให้สามารถจัดงาน "ลอยกระทง" ได้ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่อยากหลีกเลี่ยงงานอีเวนท์ "ลอยกระทง" ที่อาจมีฝูงชนจำนวนมาก ก็สามารถเลี่ยงไปลอยกระทงตามประเพณีได้ที่แม่น้ำลำคลองใกล้บ้านได้ หรือถ้าจะให้ดีก็ควรเปลี่ยนมา "ลอยกระทงออนไลน์" แทน เพื่อช่วยกันลดขยะให้แม่น้ำลำคลอง
- บทสวดมนต์ขอขมา "แม่คงคา" ในวันลอยกระทง
ระหว่างการลอยกระทงนั้น ประชาชนสามารถกล่าวบทสวดขอขมา "แม่คงคา" ควบคู่ไปด้วย ตามความเชื่อในตำนานการบูชารอยพระพุทธบาทในศาสนาพุทธ ซึ่งมีบทสวดขอขมาจากเอกสาร ฉบับพระราชวิจิตรปฏิภาณ พระนักเทศน์ แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ที่กล่าวเอาไว้ดังนี้
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต
ข้าแต่คงคา ลูกขอวันทา ด้วยประทีปกระทง พระแม่คงคา มีความเมตตา ต่อลูกสูงส่ง คือน้ำในกาย สามส่วนมั่นคง กายจึงยืนยง ชุ่มชื่นยืนนาน
พระแม่คงคา กำเนิดจากฟ้า โปรยปรายลงมา เป็นกระแสธาร เกิดเป็นแม่น้ำ หลายนามขนาน ปิง, วัง, ยม, น่าน คือเจ้าพระยา
ท่าจีน, ตาปี นครชัยศรี, โขง, ชี, มูล, ละหาร ห้วยหนองคลองบึง จนถึงแก่งกว๊าน น้ำใต้บาดาล อีกทั้งประปา ลูกลูกทั้งหลาย เดินทางขายค้า สำเร็จกิจจา คมนาคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- โฆษกรัฐบาล เผย "นายกฯ" ยันจัดงาน "ลอยกระทง" ตามปกติในทุกจังหวัด
- ลอยกระทง 2564 เปิดชื่อ 30 สวนสาธารณะ กทม.ไฟเขียว ย้ำมาตรการ "ปลอดโรค-ปลอดภัย"
- กรมอนามัย เผย 10 มาตรการเข้ม ลอยกระทง 2564 ลดเสี่ยงโควิด-19
นำมากินใช้ ได้ดั่งอารมณ์ ยามร้อนประพรม ชุ่มชื่นกายใจ ชำระมลทิน โสโครกทั้งสิ้น สะอาดสดใส ผุดผ่องพราวตา แลเลิศวิไล แม่น้ำรับไว้ สกปรกโสมม
น้ำเสียเรือนชาน ซักผ้าล้างจาน เททิ้งทับถม ไหลลงคงคา ธาราระทม สารพิษสะสม เน่าคลุ้งฟุ้งไป
วันนี้วันเพ็ญ พระจันทร์ลอยเด่น เป็นศุภสมัย ลูกจัดกระทง ประสงค์จงใจ นำมากราบไหว้ พระแม่คงคา
เทวาทรงฤทธิ์ ซึ่งสิงสถิต ทุกสายธารา ทั้งผีพรายน้ำ อย่าซ้ำโกรธา ลูกขอขมา อโหสิกรรม
ทำกิจใดใด อุทกภัย อย่าได้เติมซ้ำ อย่าพบวิบัติ ข้องขัดระกำ อย่าให้ชอกช้ำ น้ำท่วมพสุธา
อย่าให้สินทรัพย์ ต้องพลันย่อยยับ เพราะสายธารา อย่าให้ชีวิต ต้องปลิดชีวา พระแม่คงคา รับขมาลูกเทอญ
- "แม่คงคา" เป็นใคร? ทำไมต้องขอขมา?
อีกหนึ่งความเชื่อที่พ่วงมากับประเพณี "ลอยกระทง" เสมอ นั่นคือ ความเชื่อเกี่ยวกับ "แม่คงคา" ที่คอยดูแลปกปักสายน้ำต่างๆ ว่ากันว่าแม่คงคาเป็นเทพธาตุน้ำที่สถิตอยู่บนสวรรค์ มีหน้าที่ในการรักษาแม่น้ำบนสวรรค์ ครั้งหนึ่งพบว่าโลกมนุษย์เกิดความแห้งแล้งไม่มีน้ำกินน้ำใช้ พระศิวะจึงขอให้แม่คงคาลงจากสวรรค์ไปช่วยมนุษย์โลก
แต่เนื่องจากพระแม่คงคามีฤทธิ์เดชอย่างมหาศาล หากเสด็จลงไปทั้งองค์ อาจทำลายล้างโลกมนุษย์ได้ นางจึงเปลี่ยนพลังของนางให้เป็นสายน้ำไหลจากหมวยผมของพระศิวะลงไปยังโลก โดยฝั่งขวาให้ไหลลงไปเป็นแม่น้ำคงคา ส่วนฝั่งซ้ายจะไหลลงไปทางจีนออกมาทางธิเบตและหิมาลัย กลายเป็นแม่น้ำโขง
ด้วยเหตุนี้ผู้คนที่นับถือพาหมณ์ฮินดูจึงมีคติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาในทุกๆ ปี ซึ่งก็มีการส่งต่อความเชื่อนี้มายังคนไทยด้วย
- "วันลอยกระทง" ยึดตามวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
วันลอยกระทงตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะตรงกับราวๆ เดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจึงเย็นสบาย ซึ่งปีนี้ "วันลอยกระทง 2564" ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน
อีกทั้งวันขึ้น 15 ค่ำ มักจะเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำขึ้นเต็มฝั่ง ทำให้เห็นสายน้ำอย่างชัดเจน สามารถชมวิวแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบลงมาดูงดงาม เหมาะแก่การไปลอยกระทง พร้อมเที่ยวชมงานวัดหรืองานประเพณีที่สวยงาม
- "ลอยกระทง" ในไทย มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
สำหรับต้นกำเนิดของประเพณีลอยกระทง ไม่พบหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า “พิธีจองเปรียญ” หรือ “การลอยพระประทีป”
โดยมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นต้นกำเนิดของประเพณีลอยกระทงในปัจจุบัน
สมัยก่อนพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคมเท่านั้น สันนิษฐานกันว่าพิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม
ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ขยายเข้ามาในไทย จึงให้มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า ก่อนที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม
เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย จากนั้นสังคมไทยก็สืบสานประเพณีนี้เรื่อยมาจนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนกลาง และมาถึงปัจจุบัน
- ตำนานบูชารอยพระพุทธบาทใน "วันลอยกระทง"
มีตำนานหนึ่งเกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดของพิธี "ลอยกระทง" เชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า เล่ากันว่ามีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ารอยหนึ่ง ปรากฏอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่พญานาคทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พญานาคทูลขออนุสาวรีย์ไว้กราบไหว้บูชา
พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้สักการะบูชา หลังจากนั้นก็มีการสักการะบูชารอยพระพุทธบาทนี้ ด้วยการลอยกระทงตามแหล่งน้ำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
----------------------------------
อ้างอิง: parwat.com, finearts.go.th, goodlifeupdate.com, dhammathai.org