รับมือไวรัส 'RSV' เปิดทริคเลือก 'ประกันสำหรับเด็ก' ปกป้องลูกน้อยจากไวรัสตัวร้าย

รับมือไวรัส 'RSV' เปิดทริคเลือก 'ประกันสำหรับเด็ก' ปกป้องลูกน้อยจากไวรัสตัวร้าย

เปิดเทคนิคการเลือกประกันสำหรับเด็ก เพื่อช่วยปกป้องโรคในเด็ก รวมไปถึง 'RSV' (Respiratory Syncytial Virus) โรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ที่กำลังระบาดในช่วงฤดูหนาวนี้

ข่าวการเสียชีวิตของ น้องเนเน่ วัยเพียง 10 เดือนที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus) ทำเอาผู้ปกครองต่างเป็นกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อย

และไม่เพียงโรคติดเชื้อจากไวรัส RSV เท่านั้นที่ต้องระวัง เพราะ "วัยเด็ก" เป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยสูง เนื่องจากเด็กยังมีภูมิคุ้มกันในร่างกายน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อราต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับร่างกายไ้ด้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ 

การทำ ประกันสำหรับเด็ก จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพราะประกันจะช่วยทำหน้าที่คุ้มครองค่ารักษาต่างๆ ในกรณีที่เด็กเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุได้แบบไม่ต้องกังวลมาก ซึ่งปัจจุบันบริษัทประกันมีประกันสำหรับเด็กหลากหลายรูปแบบให้เลือก และเริ่มให้ความคุ้มครองตั้งแต่เป็นทารกกันเลยทีเดียว

  •  ทำไมต้องทำประกันสุขภาพให้เด็ก 

พ่อแม่หลายคนอาจชะล่าใจมองข้ามการทำประกัน เพราะเห็นว่าลูกมีสุขภาพแข็งแรงหลังคลอด แต่อย่าลืมว่าไม่มีอะไรสามารถการันตีได้ว่าเด็กจะไม่ป่วยหรือเสี่ยงกับการติดเชื้อโรคต่างๆ ที่อยู่รอบตัว รวมไปถึงการกอด หอม จูบของคนในบ้านที่อาจนำมาซึ่งเชื้อโรคที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในเด็กแบบไม่รู้ตัว

ซึ่งการทำประกันจะให้ความคุ้มครองในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่ค่าบริการค่อนข้างสูง ซึ่งประกันจะช่วยแบ่งเบาค่ารักษาได้ โดยประกันสุขภาพสำหรับเด็กสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 15 วันหรือ 1 เดือน – 15 ปี (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของประกันแต่ละบริษัท) ความคุ้มครองจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีอุบัติเหตุ และมีผลกับกรมธรรม์ตามที่กำหนดไว้ นอกจากประกันที่ครอบคลุมชีวิตและสุขภาพรวมแล้ว การทำประกันที่เน้นการครอบคลุมโรค "RSV" ที่กำลังระบาดในกลุ่มเด็ก ในช่วงหน้าหนาวแบบนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรพิจารณา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

  •  "RSV" โรคที่แสดงอาการรุนแรงในเด็ก 

โรค RSV เกิดจาการติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เจริญเติบโตได้ดีช่วงที่มีอากาศชื้น เชื้อไวรัสนี้ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และแพร่กระจายง่ายโดยผ่านการไอ จาม การสัมผัสสารคัดหลั่ง สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส เป็นโรคที่พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในเด็กทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้

การรักษาโรค RSV จะเป็นการรักษาตามอาการ เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ หากติดเชื้อไม่รุนแรงจะมีโอกาสหายเป็นปกติได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อรุนแรงจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ที่สำคัญคือมักมีค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง ซึ่งการมีประกันที่ครอบคลุมความเสี่ยงเหล่านี้เป็นทางเลือกที่ดี

  •  4 ทริคเลือกประกันสุขภาพเด็ก ให้ครอบคลุม "RSV" 

1. เงื่อนไขต้องครอบคลุมความต้องการ เด็กแต่ละคนมีความแข็งแรงของสุขภาพต่างกัน มีความเสี่ยงที่จะป่วยจากสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นเด็กแต่ละคนจึงไม่จำเป็นต้องใช้ประกันแพคเกจเดียวกัน แต่จะต้องเลือกประกันที่เหมาะสมกับความความเสี่ยงของเด็กแต่ละคนแทน 

2. ทุนประกัน และเบี้ยประกันเหมาะสม เบี้ยประกันจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประวัติสุขภาพ ประวัติการรักษา และอายุของเด็กผู้เอาประกัน โดยการที่ผู้ปกครองพิจารณาทุนประกันมากพอที่จะครอบคลุมโรคต่างๆ ที่บุตรหลานมีความเสี่ยงจะช่วยให้ไม่ต้องเจอกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากประกันเพิ่มเติม เช่น ค่าห้องในโรงพยาบาลประจำที่เข้ารับการรักษา ฯลฯ ดังนั้นควรตรวจสอบรายละเอียดก่อนการทำประกันให้ครบถ้วน อย่างไรก็ดีอย่าลืมพิจารณาถึงความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันด้วย เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการเงินในระยะยาวและเงื่อนไขการชำระเบี้ยของประกันได้

3. เริ่มทำตั้งแต่ลูกยังไม่ป่วย เพราะทำประกันหลังมีประวัติการป่วยบ่อยๆ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคร้ายแรง ฯลฯ ส่วนใหญ่แล้วทางประกันจะไม่คุ้มครองหรือเพิ่มเบี้ยประกันขึ้น 50% ในโรคที่เด็กเคยป่วยหรือมีความเสี่ยง

4. รู้จักเปรียบเทียบ และเลือกบริษัทประกันที่เชื่อถือได้ ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือที่ช่วยให้การเปรียบเทียบประกันต่างๆ ง่ายขึ้น อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมประกันจากบริษัทประกันต่างๆ เช่น gobear ANCbroker

จะเห็นได้ว่าการซื้อประกัน RSV ก็คล้ายกับประกันชีวิตและประกันสุขภาพประเภทอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาถึงความจำเป็น ทุนประกัน และสิทธิประโยชน์ที่จะครอบคลุมตามความต้องการของผู้เอาประกัน ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจทำประกันให้กับลูกอย่าลืมเปรียบเทียบทุกครั้ง เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์สูงสุดและไม่กระทบเงินในกระเป๋า มากเกินความจำเป็น

ที่มา: thaichildcare rabbitfinance