เตรียมเปิดใช้สายสีทอง พรุ่งนี้ (16ธ.ค.) ปรากฏการณ์เอกชนลงทุน 100% รัฐรับรายได้ทั้งหมด
นายกฯ เปิดโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ประชาชนเตรียมใช้บริการพรุ่งนี้ (16ธ.ค.2563)ยันราคา 15 บาทตลอดสาย กทม.ชี้เป็นระบบขนส่งหนุนเศรษฐกิจ เอกชนลงทุน 100% พร้อมมอบรายได้แก่รัฐ
รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง โดยระบุว่า พรุ่งนี้ (16 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาเป็นประธานเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการ พร้อมทดลองนั่งรถไฟฟ้าสายสีทอง จากสถานีกรุงธนบุรี ไปยังสถานีคลองสาน ก่อนจะโดยสารกลับมายังเจริญนคร เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของระบบและเปิดให้ประชาชนใช้บริการในวันเดียวกัน กำหนดอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 15 บาทตลอดสาย ซึ่งมีสถานีให้บริการ 3 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน รวมระยะทาง 1.8 กิโลเมตร (กม.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รู้จักรถไฟฟ้า 'สายสีทอง' เจาะลึกรายละเอียดน้องใหม่ป้ายแดง ก่อนวิ่งจริง 16 ธ.ค.
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีทอง ถือเป็นโครงการระบบขนส่งที่เกิดประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะคนฝั่งธนบุรี เนื่องจากคนฝั่งธนบุรี จะสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาใช้บริการ หรือทำงาน หรือใช้ชีวิตทุกวัน ในสถานที่ราชการ และสถานที่สำคัญต่างๆ ในพื้นที่บริเวณนี้ และบรรดาธุรกิจที่รายล้อมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะได้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อของรถ เรือ และระบบรางขนส่งมวลชน สร้างความสะดวกในการสัญจรได้ครบวงจร
โดยโครงการนี้ กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของโครงการ และมีบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ซึ่งเกิดจากการสนับสนุนของภาคเอกชน 100% เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยรัฐไม่ได้ขอเงินสนับสนุนจากรัฐ แต่ในขณะเดียวกันจะมอบรายได้จากค่าตั๋วโดยสารทั้งหมดให้แก่รัฐ
"รัฐไม่ต้องออกเงินสร้าง แต่จะมีรายได้ 100% จากค่าตั๋วโดยสาร เพราะ กทม.เป็นเจ้าของสาย จากคาดการณ์จากนักวิชาการด้วยว่า รถไฟฟ้าสายสีทอง จะทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฝั่งธนบุรีอย่างก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้ และคาดว่าจะช่วยลดจำนวนรถบนถนนคลองสานลง ในแต่ละชั่วโมง ให้หายไปประมาณ 6,000 คัน"
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ภาครัฐไม่ได้ใช้เงินลงทุนใดๆ ในการก่อสร้าง แต่เมื่อรถไฟฟ้าสายสีทองก่อสร้างแล้วเสร็จ จะกลายเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของ และภาครัฐจะได้รับรายได้จากค่าตั๋วโดยสารทั้งหมด โดยเงินลงทุนก่อสร้าง มาจากการขายพื้นที่โฆษณาของรถไฟฟ้าสายสีทองให้กับเอกชนล่วงหน้า