"ตลาดสมุนไพร"เศรษฐกิจหลักของไทย
คาดการณ์ว่าปี 2563 มูลค่าของอุตสาหกรรมยาจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ส่วนมูลค่าตลาดสมุนไพรและสารสกัดจากธรรมชาติ เนื่องด้วยปัจจุบันคนรุ่นใหม่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น
“สมุนไพร”ถูกใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอุตสาหกรรมยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ล้วนส่งผลให้ตลาดสมุนไพรเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดสมุนไพรในโลกมีมูลค่ารวมกันประมาณ 9.18 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐซึ่งประเทศที่มีมูลค่าทางการตลาดของสมุนไพรที่สูง ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน และภูมิภาคเอเชีย
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าปัจจุบันมูลค่าการส่งออกสมุนไพรไทยอยู่ในหลักแสนล้านบาท โดยสมุนไพรไทยในกลุ่มอาหารเสริมมีมูลค่าการใช้และส่งออกรวมกว่า 80,000 ล้านบาทขณะที่กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าปี 2563 มูลค่าของอุตสาหกรรมยาจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ส่วนมูลค่าตลาดสมุนไพรและสารสกัดจากธรรมชาติ เนื่องด้วยปัจจุบันคนรุ่นใหม่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ตลาดสมุนไพรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมยาเติบโตขึ้น จากเดิมมีมูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาทในปี 2562 และมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเป็น 20,000 ล้านบาท ภายในปี 2563
“รศ.ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ” คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าด้วยตลาดสมุนไพรมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพที่มีความปลอดภัยและมาจากธรรมชาติ ขณะเดียวกันด้านนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสมุนไพร ผ่านแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยปี 2560-2564 ที่จะสนับสนุนดูแลด้านการตลาด ส่งเสริมสมุนไพร Product Champion ไพล กระชายดาขมิ้นชัน และใบบัวบก รวมถึงการปลูกสมุนไพรตั้งต้นหรือสมุนไพรสำคัญของโลก และการมีกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดสมุนไพร ทำให้ขณะนี้มีผู้ประกอบการจำนวนมากคิดค้น และสร้างผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรอย่างมาก
“ทิศทางของตลาดสมุนไพรไทย จะกลายเป็นเศรษฐกิจหลัก และเศรษฐกิจใหม่ที่ดีของประเทศ เพราะเป็นเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานวัตถุดิบที่ประเทศมีอยู่แล้วและเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของคนไทย อีกทั้ง หากตลาดนี้เติบโตมากกว่านี้จะช่วย ทั้งในส่วนของผู้ปลูก และนักวิจัย นักเภสัชศาสตร์ ผู้คิดค้นสูตร รวมทั้ง คนที่นำไปสู่การค้าขายล้วนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ความหวังหนึ่งของเศรษฐกิจไทย โดยขณะนี้พืชสมุนไพรที่รู้จักสรรพคุณและนำมาใช้ประโยชน์ มีประมาณ 1,800 ชนิด และมี 300 ชนิด ที่เป็นวัตถุดิบสมุนไพรที่หมุนเวียนในท้องตลาดซึ่งมีความต้องการ โดยเฉพาะ 4 สมุนไพรแชมเปี้ยนมีความต้องการสูงมาก”รศ.ภก.สุรกิจ กล่าว
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดบรรยากาศการรักสุขภาพที่ควรจะส่งเสริมตลาดสมุนไพรให้เติบโตภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอางค์ ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก มีผู้ประกอบการที่สนใจนำสารสกัดจากสมุนไพรมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำนวนมากขึ้นกว่าเดิม 200-300 แห่ง
สำหรับสมุนไพรมีหลายตัวที่ได้รับความนิยม แต่ที่นำมาใช้มากสุด ตอนนี้ คือ ใบบัวบก เนื่องจากการบำรุงผิว เวชสำอางที่เกี่ยวกับลบรอยแผลเป็น และสารสกัดสมุนไพรใหม่ๆ เช่น สารสกัดจากรำข้าว ทับทิม หอมแดง และมะขามป้อม ซึ่งทิศทางสมุนไพรเหล่านี้ในปี2564 ก็จะได้รับความสนใจมากขึ้น
รวมถึงสมุนไพรที่ป้องกันชะลอความชรา อย่าง แอนไทเอจจิ้ง หรือเวชศาสตร์ชะลอวัย ดังนั้น รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องส่งเสริมให้มีการปลูกสมุนไพรอย่างมีมาตรฐานไม่ใช้สารเคมีในการปลูก และต้องมีการสนับสนุนนเกี่ยวกับตลาด ซึ่งต้องมีการสร้างเรื่องราว การตั้งราคาที่ดี และการเข้าถึงสมุนไพรที่มีคุณภาพ
“จากความต้องการและปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมการปลูกให้ได้คุณภาพ สม่ำเสมอปลอดสารพิษ และมีกระบวนการผลิตเป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสกัดสมุนไพรในรูปแบบที่ใช้ง่าย มีคุณภาพ มีสรรพคุณ ใช้แล้วเห็นผลจริง ผู้ใช้รู้สึกดี เพราะปัจจุบันมีเวชสำอางจำนวนมาก มีครีมเยอะมาก แต่ไม่ใช่ว่าทุกประเภทที่ทาแล้วรู้สึกดี รวมถึงต้องทำให้เป็นผลิตภัณฑ์น่าใช้ สะดวก มีอนุภาคที่เล็ก ดูดซึมได้ดี และอยู่บนผิวหนังได้ทั้งวัน และมีมาตรฐาน ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีความปลอดภัยขั้นสูง” รศ.ภก.สุรกิจ กล่าว
การที่สมุนไพรไทยจะไปตลาดโลกได้ต้องมีกลยุทธ์ด้านการตลาดที่ผ่านการศึกษาวิจัยตลาดเพื่อค้นหาความต้องการ พฤติกรรมของของลูกค้า เพื่อนำมาผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและภูมิภาค ซึ่งในส่วนของเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการถ่ายทอดเทคนโนโลยี ให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการจัดทำวิจัย ใช้เทคโนโลยีสารสกัดสมุนไพร การรับประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และทำหน้าที่ผลิตผลิตภัณฑ์ให้แก่บริษัทที่สนใจ
ตลาดสมุนไพรบูมมากทั้งในและต่างประเทศ และมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศไทย ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต แต่ทั้งนี้ การจะทำให้สมุนไพรไปตลาดโลกได้นั้น ต้องมีการส่งเสริมเทคโนโลยีขั้นสูง และต้องมีการศึกษาวิจัยแน่ชัดถึงสรรพคุณ และความปลอดภัยในการนำมาใช้ทั้งเป็นยา ผสมกับเครื่องดื่มหรืออาหาร หรือมาทำเวชสำอาง
“อยากแนะนำให้ผู้ประกอบการ ให้ความสำคัญเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของสมุนไพร เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการวางแผนการตลาด ต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เนื่องจากตอนนี้มีส่วนหนึ่งที่โฆษณาชวนเชื่อเกินความจริง ซึ่งจะทำให้มีปัญหาและเกิดผลต่อความเชื่อมั่นสมุนไพรไทย ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ควรส่งเสริมเทคโนโลยีขั้นสูง ให้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง และต้องมการส่งเสริม หาตลาดในต่างประเทศให้แก่สมุนไพรไทยด้วย ซึ่งหากทั้งทำได้ เชื่อว่า ตลาดสมุนไพรจะกลายเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยได้มหาศาล” รศ.ภก.สุรกิจ กล่าว