แผนอุดหนุนอุตฯการแพทย์ สู้โรคสร้างโอกาสการลงทุน
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์สูงมาก โดยล่าสุดได้ออกมาตรการส่งเสริมครอบคลุมไปถึงการลงทุนห้องทดลอง และศูนย์วิจัยทางการแพทย์ ที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 8 ปี
ซึ่งในกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นหัวใจของการวิจัยพัฒนาในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ชั้นสูง และเป็นอีกความพยายามที่จะใช้จังหวะการระบาดโควิด-19สร้างโอกาสใหม่ด้านการลงทุนนั่นคืออุตสาหกรรมทางการแพทย์
ซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า แผนการส่งเสริมลงทุนของบีโอไอนอกจากจะดึงเม็ดเงินลงทุนแล้วยังจะช่วยลดต้นทุนในการทดสอบยา และวัคซีนใหม่ ๆ โดยเฉพาะยาและวัคซีนในกลุ่มชีวภาพ ทำให้ไม่ต้องส่งไปทดสอบในต่างประเทศที่ใช้เวลานานและมีต้นทุนสูง ซึ่งในขณะนี้มีเอกชนหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนในกลุ่มนี้
นอกจากสิทธิประโยชน์ที่บีโอไอให้ขั้นสูงสุดแล้ว ไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องของตลาดขนาดใหญ่ เพราะไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคนี้ในแต่ละปีมีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก มีโรงพยาบาลกว่า 400 แห่ง ตลาดเติบโตปีละกว่า 10% และมีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งหากไทยมีการลงทุนตั้งห้องทดลอง และศูนย์วิจัยเป็นจำนวนมาก ก็เป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดอุตสาหกรรมการผลิตยา วัคซีน และชุดทดสอบตรวจโรคให้เข้ามาตั้งในไทย เพราะลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนศูนย์วิจัยชั้นสูง
ทั้งนี้ บีโอไอ ยังได้ให้สำนักงานในต่างประเทศทุกแห่งรวบรวมรายชื่อบริษัทเป้าหมายด้านการแพทย์ ที่มีจำนวนหลายสิบราย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละบริษัทอย่างตรงจุด โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐ และเยอรมนี ซึ่งจะดึงดูดเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่หลากหลายภายในประเทศ
“ไม่เพียงแต่จะมีบริษัทต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย แต่ยังมีสตาร์ทอัพของไทยหลายรายที่ได้เข้ามาขอรับการส่งเสริมฯ จากบีโอไอแล้วหลายราย ได้แก่ บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และบริษัท แนบโซลูท จำกัด จัดตั้งโดยคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้ว่าจะใช้เงินลงทุนไม่สูงแต่สร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทยที่ไม่อาจประเมินค่าได้”
ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า ในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เป็นนโยบายที่สำคัญของ กพอ. ซึ่งจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกต้องการอุปกรณ์การแพทย์ป้องกัน และรักษาโรค เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลสูขภาพ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคสูง เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ชุดพีพีอี ชุดตรวจวิเคราะห์โรค อุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้แล้วทิ้ง เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องพยุงชีพต่าง ๆ รวมไปถึงสินค้าดูแลสุขภาพ เช่น อาหารเสริมวิตามิน สารสกัดจากพืช และเครื่องสำอางที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรชั้นสูง สมาร์ทฟาร์มเมอร์ อาหาร เครื่องมือแพทย์ โดยทั้งหมดนี้จะถูกครอบด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้การลงทุนในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพจะมาแรง
โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และการแพทย์ใน อีอีซี หลายโครงการ ได้แก่ โครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นการจัดทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอของคนไทย 50,000 ราย เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาด้านการแพทย์ผลิตยารักษาโรค วัคซีน และวิธีการรักษาโรคใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับคนไทยและอาเซียน เพื่อให้ประชากรในภูมิภาคนี้ตอบสนองต่อการรักษาได้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งยังจะเกิดธุรกิจโรงพยาบาลที่จะรรักษาโรคได้เฉพาะจุดเฉพาะคน การใช้เทคโนโลยีพันธุกรรมในการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ประกอบกับโรงพยาบาลของไทยก็มีชื่อเสียงในระดับโลกทำให้นักลงทุนทั้งจากเอเชีย ยุโรป สหรัฐ ต่างสนใจเข้ามาร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลของไทย
ทั้งนี้ในการส่งเสริมการลงทุนด้านสุขภาพนี้ จะครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีการปลูกพืชที่เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่จะต้องใช้เทคโยโลยีระบบปิดที่ทันสมัย เพื่อให้พืชมีความเข้มข้นของสารสกัดได้ตามมาตรฐาน มีความปลอดภัยสูง ซึ่งในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ได้มีเทคโนโลยีการปลูกพืชระบบปิดที่เอกชนเข้าไปใช้ได้ และมีโรงงานสกัดสารชีวภาพไบโอรีไฟเนอรี่ ที่เอกชนสามารถนำผลการวิจัยในห้องปฏิบัติการไปต่อยอดทดลองผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ เพื่อให้เกิดการสกัดชีวภาพใหม่ๆ ซึ่งในพื้นที่ อีอีซี มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างครบถ้วน
รวมทั้งจะเกิดอุตสาหกรรมวัสดุชีวภาพ ซึ่งที่ผ่านมามีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตเส้นไยจากวัสดุเหลือทิ้งของอ้อยและน้ำตาล ที่มีความเหนียวสูงที่สุดในโลกต่อยอดไปสู่วัสดุอื่นๆที่หลากหลาย และล่าสุดได้มีการวิจัยผลิตพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายในน้ำได้ 100% โดยไม่มีไมโครพลาสติกตกค้างในสัตว์ทะเล ซึ่งกำลังจะลงทุนผลิตต่อไป รวมไปถึงการผลิตสารสกัดจากสมุนไพรที่มีหลากหลายในไทย โดยรอบ 11 เดือนของปีนี้มีการลงทุนในธีมสุขภาพที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร , ชีวภาพ และการแพทย์ 1.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า (2564-2566) จะเติบโตได้กว่า 60-70% จากฐานปี 2563
ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้มีแผนที่จะผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างเต็มที่ โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ในปี 2564 กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย ซึ่งจะประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อรวบรวมโครงการ แผนงาน กิจกรรม ที่สอดคล้องกับแนวทางของแผนปฏิบัติการฯ และบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและเริ่มขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการภายในปี 2564