'วัคซีนโควิด-19'ความหวังโลก 2564
นับตั้งแต่วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทคผ่านการรับรองจากสหราชอาณาจักร เป็นประเทศแรกของโลกเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ข่าวดีจากโมเดอร์นาก็ตามมาติดๆ ชวนให้โลกมีความหวังว่า ไวรัสร้ายคงจะถูกกำราบได้ในเร็วๆ นี้ นานาประเทศจึงทยอยฉีดวัคซีนให้พลเมือง
ล่าสุด อังกฤษเป็นประเทศแรกที่อนุมัติวัคซีนพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้า ด้วยหวังว่าการปฏิบัติการอย่างรวดเร็วจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นได้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน อนุมัติวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค และฉีดให้ประชาชนหลายแสนคนก่อนสมาชิกสหภาพยุโรปและสหรัฐหลายสัปดาห์ แต่สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ด แม้ราคาถูกและแจกจ่ายง่ายกว่าวัคซีนคู่แข่ง ก็ยังมีข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อมูลที่เผยแพร่เดือนที่แล้ววัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดน้อยกว่าของไฟเซอร์และโมเดอร์นา
ขณะที่คณะกรรมการอาหารและยาที่อื่นๆ ค่อนข้างระมัดระวัง คณะกรรมการแพทย์และผลิตภัณฑ์สุขภาพของอังกฤษพยายามบอกว่าแก้ไขข้อกังวลเบื้องต้นได้แล้ว ทั้งยังพบว่าเมื่อฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ดครบ 2 โดสห่างกัน 3 เดือน ป้องกันได้ 80% ตัวเลขนี้มากกว่าค่าเฉลี่ยที่บริษัทพบเองด้วยซ้ำ
รายงานข่าวระบุว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ดอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมของการฉีดวัคซีนทั่วโลก หลายๆ ประเทศที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุขค่อนข้างธรรมดาตั้งความหวังไว้มากกับวัคซีนตัวนี้ เนื่องจากสามารถเก็บและขนส่งได้ด้วยตู้แช่เย็นธรรมดา แตกต่างจากวัคซีนไฟเซอร์ที่ต้องเก็บเย็นจัด-70 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ สถาบันเซรุ่มวิทยา (เอสไอไอ) ของอินเดีย ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่สุดของโลก ผลิตวัคซีนออกซ์ฟอร์ดราว 50 ล้านโดสแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญในสำนักงานอาหารและยาอินเดียประชุมกันเมื่อวันพุธ (30 ธ.ค.) เพื่อพิจารณาอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉิน และจะหารือกันอีกครั้งในวันนี้ (1 ม.ค.) ชิลีก็สนใจวัคซีนตัวนี้เช่นกัน
นายทาริก จาซาเรวิค โฆษกองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เผยว่า วัคซีนตัวล่าสุดสำคัญในแง่ของการจัดส่ง การฉีดในวงกว้างและราคาวัคซีน
น.ส.เฮเลน เฟลตเชอร์ อาจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยา วิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน ชื่นชมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ดว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” สำหรับการระบาดของโควิด-19
“ด้วยข้อตกลงจัดหาวัคซีนกว่า 30 ฉบับและเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก วัคซีนแอสตร้า/เซนเนก้าอาจชะลอการระบาดและรักษาชีวิตผู้คนจำนวนมากได้ภายในปีหน้า” นักวิชาการระบุ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับดูแลของอียูเผยว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลทั้งหมดของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถอนุมัติได้ในเดือน ม.ค. แม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดด้านวัคซีนของเยอรมนีแย้งว่า การทบทวนข้อมูลโดยรวมน่าจะทำให้ตัดสินใจอย่างรวดเร็วได้
เช่นเดียวกับแคนาดากล่าวว่าระหว่างที่กำลังพิจารณาวัคซีนก็อยากได้ข้อมูลเพิ่มจากแอสตร้าเซนเนก้าด้วย
ด้านนายปาสคาล โซเรียต ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวกับสถานีวิทยุบีบีซีว่า อังกฤษอาจฉีดวัคซีนให้ประชาชนหลายสิบล้านคนได้ภายในสิ้นไตรมาส 1 ปี 64 บริษัทคาดว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าใช้ได้กับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
ที่จีน หลังจากซิโนฟาร์มประกาศเมื่อวันพุธว่า วัคซีนของตนป้องกันโควิดได้ 79.34% วานนี้ (31 ธ.ค.)นายเฉินจี้เฟย รองกรรมาธิการสำนักงานผลิตภัณฑ์ยาแห่งชาติจีน แถลงว่า สำนักงานอนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์มอย่างมีเงื่อนไข หมายถึงอนุญาตให้ขายในตลาดได้แม้ทดลองทางคลินิกยังไม่ได้ผลตามมาตรฐานแต่มีข้อบ่งชี้ว่าใช้ได้ผล
นายเฉินให้เหตุผลว่า ประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนเชื้อตายของซิโนฟาร์มมากกว่าความเสี่ยงทั้งที่รับรู้แล้วและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ แม้ประสิทธิผลของวัคซีนซิโนฟาร์มต่ำกว่าคู่แข่งจากชาติตะวันตกอย่างไฟเซอร์/ไบออนเทคและโมเดอร์นา ที่ป้องกันโควิดได้ผล 95% และ 94% ตามลำดับ แต่ก็ถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับประเทศจีนที่มีผู้พัฒนาวัคซีนโควิดหลายราย และจีนฉีดวัคซีนผลิตเองที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติราว 4.5 ล้านโดส ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และคนที่จะไปทำงานต่างประเทศแล้ว
นายเจิ้ง ยี่ซิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า การขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์มเปิดให้รัฐบาลขยายการฉีดวัคซีนไปสู่กลุ่มเสี่ยงสูง ผู้อ่อนแอต่อการติดเชื้อไวรัสรุนแรง และกลุ่มผู้สูงอายุได้
แต่จีนต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อน ในการฉีดวัคซีนประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน นายเจิ้งกล่าวว่า ต้องฉีดให้ได้ 60-70% จึงจะปกป้องได้อย่างครอบคลุม รัฐบาลปักกิ่งมีแผนฉีดวัคซีนให้ประชากรหลายล้านคนในฤดูหนาวนี้ไปจนถึงวันตรุษจีน
นอกจากนี้ จีนยังให้คำมั่นเร่งแบ่งปันวัคซีนของตนให้ประเทศพัฒนาน้อยกว่า “ในราคาที่เป็นธรรม” เนื่องจากจีนพยายามแสดงตัวเป็นผู้นำโลกฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นทางภาคกลางของประเทศเมื่อ 1 ปีก่อน
ในเรื่องของวัคซีนนั้นนอกจากความท้าทายเรื่องการแจกจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ฉีดวัคซีนได้อย่างครอบคลุม อุปสรรคหนึ่งที่ยังเหลืออยู่แม้ในประเทศที่พร้อมฉีดวัคซีนให้ประชากรวงกว้างได้ คือความรู้สึกต่อต้านการฉีดวัคซีนของสาธารณชน
ผลสำรวจล่าสุดโดยเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม-อิปซอสจากผู้ใหญ่ 13,500 คน ใน 15 ประเทศ ระหว่างวันที่ 17-20 ธ.ค.ถึงความเชื่อมั่นต่อวัคซีน พบสัญญาณบวกว่าทัศนคติเกี่ยวกับวัคซีนอาจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หลังจากมีการฉีดวัคซีนในสหราชอาณาจักร (ยูเค) และสหรัฐ ประชาชนมีเจตจำนงค์มุ่งมั่นต้องการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นมาก แต่ในเวลาเดียวกันความเชื่อมั่นในหลายๆ ประเทศกลับลดลง
สำหรับความเชื่อมั่นวัคซีนทั่วโลก ผลการสำรวจชี้ว่า ความตั้งใจฉีดวัคซีนสูงสุดในจีน ผู้ให้ข้อมูล 80% เห็นด้วยอย่างยิ่งหรือเห็นด้วยว่า “ถ้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมจะฉีดทันที”
ประเทศที่มีความมุ่งมั่นค่อนข้างสูง ได้แก่ บราซิล (78%) ยูเค (77%) เม็กซิโก (77%) ออสเตรเลีย (75%) และเกาหลีใต้ (75%)
ส่วนประเทศที่ประชากรมุ่งมั่นต่ำสุด ได้แก่ แอฟริกาใต้ (53%) รัสเซีย (43%) และฝรั่งเศส (40%)
ที่น่าสังเกตคือ ตั้งแต่เดือน ต.ค. เปอร์เซ็นต์ผู้ให้ข้อมูลที่เห็นด้วยอย่างยิ่งหรือค่อนข้างเห็นด้วยว่า“ถ้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมจะฉีดทันที” ในสหรัฐเพิ่มขึ้น 5% แต่ในประเทศอื่นลดลง ที่ลดลงมากที่สุดได้แก่ แอฟริกาใต้ (-15%) ฝรั่งเศส (-14%) ญี่ปุ่น (-9%) และเกาหลีใต้ (-8%) เดือน ธ.ค.เป็นเดือนแรกนับตั้งแต่ ส.ค. ที่ความเชื่อมั่นวัคซีนโดยรวมในแต่ละประเทต่ำกว่า 50%
ถ้าดูเฉพาะคนที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความ“ถ้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมจะฉีดทันที” ในสหรัฐเพิ่มขึ้น 9% (มาอยู่ที่ 38%) ยูเคเพิ่ม 5% (มาอยู่ที่ 46%) ในประเทศที่คนที่เห็นด้วยอย่างยิ่งลดลง ไม่มีประเทศใดลดลงเกิน 7%
ส่วนเหตุผลที่คนไม่ต้องการฉีดวัคซีน ในทุกประเทศที่สำรวจ 57-80% ของคนที่ตอบว่าจะไม่ฉีดวัคซีน กังวลเรื่องผลข้างเคียง (เพิ่มขึ้นจาก 34% ในเดือน ต.ค.) ประเทศที่กังวลสูงสุดคือเกาหลีใต้ (80%) ญี่ปุ่น (76%) และฝรั่งเศส (72%)
เหตุผลอันดับ 2 คือ ประสิทธิผล รัสเซียกังวลเรื่องนี้มากที่สุด 45% รองลงมาคือเม็กซิโก 28% และอิตาลี 27%
เหตุผลอันดับ 3 คือ ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงโควิด โดยจีนให้ข้อมูลเช่นนี้มากที่สุด 32% ยูเค 25% และแคนาดา 23%
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) จัดให้ความลังเลในการฉีดวัคซีนของประชาชน เป็น 1 ใน 10 สุดยอดภัยคุกคามอนามัยโลก การสำรวจนี้ชี้ว่ายังมีงานให้ต้องทำอีกมากเพื่อสร้างความปลอดภัย กระจายได้อย่างทั่วถึง และสร้างความเชื่อมั่นต่อวัคซีนทั่วโลก