ถอดรหัสซีรีส์ ‘Start Up’ ธุรกิจทำเงินยุคใหม่ที่ต้องรู้เทคนิค
“Start Up” ธุรกิจใหม่ที่คนทั้งโลกพูดถึง โดยเฉพาะการใช้ซอฟท์พาวเวอร์เป็นอาวุธทางการค้าของเกาหลี ยกตัวอย่างซีรีส์ดัง Start Up ดูแล้วคิดเห็นอย่างไร เหล่าสตาร์ทอัพเมืองไทยมีคำตอบ ถ้าธุรกิจไปต่อได้ เหตุใดจึงสร้างรายได้มหาศาล
"ซีรีส์เกาหลีส่วนใหญ่เป็นแนวพระเอกรวยนางเอกจน ระยะหลังมีการปรับเปลี่ยนให้ตัวละครมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นและทำตามความฝันของตัวเอง ตั้งแต่ต้นปีเรื่อง Itaewon Class กลางปีเรื่อง Record of Youth ปลายปีเรื่อง Start Up นำเสนอว่าสังคมเกาหลีกำลังสนใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก"
กรกมล ลีลาวัชรกุล ผู้ก่อตั้ง เว็บไซด์ Korseries.Com แสดงความคิดเห็นในงานเสวนา ‘ถอดรหัสซีรีส์ Start Up เคล็ดลับการสร้างธุรกิจยุคใหม่ และซอฟท์พาวเวอร์แบบเกาหลี’ ที่จัดโดย คณะ BAScii ปริญญาตรีหลักสูตรศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขานวัตกรรมบูรณาการ (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา
- พลังของซอฟต์พาวเวอร์
"วงการบันเทิงเกาหลีให้ความสำคัญเรื่องการผลิตคอนเทนท์สู่ทั่วโลกว่า เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ มีหน่วยงานส่งเสริมเรื่องของการสร้างคอนเทนท์โดยเฉพาะ ทั้งซีรีส์, เกม, นิยาย และในซีรีส์เรื่องหนึ่งก็ไม่ได้มีแค่วัฒนธรรมอาหาร, เครื่องดื่ม, บิวตี้ แต่เขาแฝงมาหมดทุกอย่าง นอกจากวัฒนธรรมแล้ว ยังสร้างตัวละครชายให้เป็นคนแสนดี เพื่อส่งเสริมสังคมให้คนทำตามอีกด้วย
จะว่าไปแล้ว การนำเสนอผ่านซอฟท์พาวเวอร์นำเสนอผ่านสื่อในรูปแบบซีรีส์ ทำให้คนวงนอกที่ไม่เคยสนใจในเรื่องเหล่านี้เกิดความสนใจศึกษาหาข้อมูลมากขึ้น ขณะที่ซีรีส์ไทย การนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับชีวิตเชิงสร้างสรรค์เชิงพัฒนาให้คนสนใจศึกษาเพิ่มเติมมีน้อยมาก" กรกมล เล่าถึงประเทศเกาหลีที่จริงจังกับเรื่องนี้มาก
ซีรีส์เกาหลี เรื่อง Start-up
"รัฐบาลเกาหลีถึงกับตั้งกระทรวง SME และ Start Up เพื่อผลักดันเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีการสร้างหน่วยงาน Sand Box ขึ้นมาให้คนทำสตาร์ทอัพเข้ามาร่วมโปรแกรมให้คำปรึกษาในเรื่องกฎหมาย, บัญชี และวิธีคิดเรื่องต่างๆ ในซีรีส์นี้ยังนำเสนอสตาร์ทอัพที่เป็นผู้หญิงอย่าง ซอดัลมีหรือวอนอินแจทั้งที่คนเกาหลีที่ทำสตาร์ทอัพ 90 % เป็นผู้ชาย เพื่อผลักดันว่าผู้หญิงก็ทำได้เหมือนกัน"
ภาพวงการสตาร์ทอัพเกาหลีที่เราเห็นในซีรีส์ มีความเป็นไปได้จริง เพราะรัฐบาลเกาหลีและภาคเอกชนสนับสนุนทั้งเงินทุนและคำแนะนำแก่สตาร์ทอัพหน้าใหม่ มีแหล่งข้อมูลให้มากมาย
ทำให้มีเกาหลีมี Unicorns (ยูนิคอร์น คือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เช่น Uber, Snapchat, Airbnb) เกิดขึ้นถึง 12 แห่ง รัฐบาลเกาหลียังตั้งเป้าต่อว่าจะมียูนิคอร์นให้ได้ 20 แห่งในปี 2022 เพราะสตาร์ทอัพ คือความหวังในการขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจใหม่ของเกาหลี" กรกมล เล่า
Start up จึงต่างจาก SME (Small and Medium Enterprises) ตรงที่เป็นธุรกิจที่มีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด 1,000% ได้ภายในไม่กี่เดือน ทำซ้ำได้ (Repeatable) ขยายได้ (Scalable) มีเป้าหมายคือการ ‘ออก’ (Exit) หลังจากที่มีคนมาซื้อกิจการหรือนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยการขายฝันให้กับ Angel Investor (นักลงทุนที่มองเห็นศักยภาพในช่วงแรก) และนักลงทุนเงินหนา (Venture Capitalist) สตาร์ทอัพมักเป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะที่คนอื่นยังมองไม่เห็น เช่น Facebook, Google, Instagram, เว็บวงใน (www.wongnai.com), GRAB, HappyFresh
- สตาร์ทอัพ ในเมืองไทย
"การทำสตาร์ทอัพคือการทำให้มีนักลงทุนข้างนอกเข้ามาและเพิ่มทุนเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งผู้ก่อตั้งมีหุ้นน้อยมากกว่าหุ้นนักลงทุน ทุกวันนี้ผมถือหุ้นไม่ถึงครึ่งแล้ว แต่บริษัทโตขึ้นมีมูลค่ามากขึ้น
อย่างปัจจุบันแจ็คหม่าถือหุ้นในอาลีบาบาไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ นักลงทุนทั้งหมดถือ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เขาถือแค่นั้นก็ยังรวยที่สุดในประเทศจีนแล้วเพราะธุรกิจเมื่อสร้างไปเรื่อยๆ มันก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ" ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ นักลงทุน และผู้ก่อตั้ง Ookbee กล่าวถึงการทำสตาร์ทอัพ
"ผมไม่มีเคล็ดลับในการเลือกนักลงทุน มีแต่ทำบริษัทตัวเองให้ดีก่อน เพราะว่านักลงทุนเก่งๆ ก็อยากลงทุนในบริษัทดีๆ ช่วงแรกมันยาก ผมลงทุน 3-5 ล้านบาท บริษัทของเรายังใหม่มาก เงินในบริษัทก็ยังไม่มี ลูกค้าก็ไม่ค่อยมี แต่ถ้าดูในซีรีส์เขามาจับคู่กันเลย
ส่วนการ Hackathon(การรวมนักสร้างสรรค์ที่ชอบความท้าทายมาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างนวัตกรรม)ก็เหมือนเรามาเวิร์คชอป 2 วัน 3 คืนแล้วพรีเซนต์ อาจจะได้เงินรางวัล เป็นประสบการณ์ที่ดี ถ้ามีที่ไหนเปิดแล้วเรามีเวลาก็ไป
แต่ถ้าเริ่มทำธุรกิจแล้ว เริ่มมีลูกค้าต้องชั่งใจแล้วในเวลาเท่ากันเอาเวลาไปลุยทำธุรกิจเลยดีกว่า เพราะเราไม่รู้ว่ามีคู่แข่งอะไรอยู่ในตลาดที่กำลังจะเปิดขึ้นมาตอนนั้น อยู่ที่การตัดสินใจของทีมว่าเราจะไปทางไหน
ตอนนี้ผมยังไม่ Exit strategy (กลยุทธ์ในการออก เป้าหมายสุดท้ายที่สตาร์ทอัพจะขายบริษัทให้ใครสักคน แล้วได้กำไรมากให้กับตัวเองและผู้ลงทุน) ซึ่งมูลค่าจากการขายหุ้นตัวเองออกไปคือการได้ Exit strategy
ในซีรีส์สตาร์ทอัพเขาซื้อบริษัทเพื่อให้ได้โปรแกรมเมอร์เข้ามาเพราะเขาอยากได้นัมโดซานพระเอกในเรื่องมาทำงานด้วยเคสอย่างนี้มีอยู่เยอะในซิลิคอนวัลเลย์ แต่ก็มีสัญญาว่าจะทำงานให้เขากี่ปี ในเมืองไทยเริ่มมีบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตามก่อนเข้ามาเราต้องมีโปรดักส์ เพราะคนที่จะเข้ามาใส่เงินแล้วถือหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ต้องเชื่อในคุณ เขาอาจจะไม่ประชุมบอร์ดด้วยซ้ำ ขอแค่รายงาน" ณัฐวุฒิ เล่า