จับชีพจรเลือกตั้ง ต่าง Gen ต่างใจ
สำรวจความคิดเห็น ความรู้สึก อารมณ์ และความคาดหวังต่อการเลือกตั้งผ่านคนแต่ละช่วงวัย
ถึงวันนี้ คงไม่มีเรื่องไหนที่คนทั่วประเทศจะให้ความสนใจเท่ากับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562
เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย ได้ทำให้ความเคลื่อนไหวและข้อมูลต่างๆ นาๆ ที่เคยกระจุก แพร่ขยายออกไปในวงกว้าง เหตุการณ์เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ครึกโครมเมื่อสัปดาห์ก่อน, ถ้อยคำแสบๆ คมๆ จากหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งในเวทีดีเบตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือจะเป็น มีม (meme) ต่างๆ นาๆ ในแวดวงการเมืองที่เพิ่งถูกผลิตขึ้นไม่กี่นาทีก่อนหน้าถูกแชร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในโลกออนไลน์
ชาวเน็ตรายหนึ่ง คอมเมนต์อย่างน่าสนใจว่า เมื่อปัญหาสังคม และการกระทำของรัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์ในอินเทอร์เน็ต อาทิ ปรากฎการณ์ฝุ่น PM 2.5, นาฬิกายืมเพื่อน, #เสือดำไม่ตายฟรี นั่นทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองการเมืองและผู้มีอำนาจเป็นเรื่องไกลตัว พวกเขาวิจารณ์ หยอกล้อ ล้อเลียน เหน็บแนม ยิ่งเมื่อมีช่องทางในการแสดงความเห็นอย่างโซเชียลเน็ตเวิร์ค พวกเขาก็พร้อมแสดงท่าทีแบบไม่ต้องกั๊ก ขณะที่พรรคแต่ละพรรคก็หันมาให้ความสำคัญกับการทำคอนเทนต์มากยิ่งขึ้น มีกลยุทธ์ในการยิงโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ถึงเช่นนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ก็มีความน่าสนใจในตัวของมันเอง เช่น การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ จะเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 24 ในรอบ 7 ปี (นับจากปี 2554) โดยเป็นการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองจดทะเบียนมากที่สุดคือ 104 พรรค (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2562)
มีการขยายเวลาลงคะแนนจากเดิม 08.00-15.00 น. เป็น 08.00-17.00 น. มีรูปแบบบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว คือกาครั้งเดียว ได้ทั้ง ส.ส.แบ่งเขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และว่าที่นายกรัฐมนตรีแบบที่ว่า เลือก 1 ได้ถึง 3 ซึ่งวิธีการดังกล่าวคาดเดาพฤติกรรมรูปแบบการตัดสินใจได้ยากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ทั้งนี้มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 52 ล้านคน และในจำนวนนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกราวๆ 7 ล้านคน
‘จุดประกาย’ ลองสำรวจความคิดเห็น ความรู้สึก อารมณ์ และความคาดหวังผ่านกลุ่มคนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 3 กลุ่มหลักๆ เพื่อสะท้อนกระแสสังคมของคนแต่ละช่วงวัย ได้แก่ 1.กลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (New voter) ที่ต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี และไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งมาก่อน 2.กลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม เจเนอเรชั่น เอ็กซ์ (Generation X) ซึ่งเกิดในช่วง พ.ศ. 2508-2522 กลุ่มเจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) หรือ ยุค Millennials ซึ่งก็คือคนที่เกิดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2523–2540 ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ผ่านประสบการณ์ทางการเมือง ได้แก่ พฤษภาทมิฬ 2535, เหตุการณ์ความขัดแย้งทางสีเสื้อ ช่วงปี 2549-2553 และ 3.กลุ่มผู้มีสิทธิวัยเก๋า ซึ่งได้แก่ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ในฐานะผู้มากประสบการณ์และเห็นความเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย
ถ้อยความที่ถูกสรุปต่อจากนี้ ไมได้หมายความว่าจะสะท้อนความจริงหรือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด หากเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ที่คนแต่ละช่วงวัยมีต่อการเลือกตั้งที่ใกล้จะเกิดขึ้น
Voter ครั้งแรก สุดตื่นเต้น
กลุ่มนี้ คือผู้มีสิทธิที่ถูกจับตามองที่สุด มีการคำนวณตัวเลขของผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกอยู่ที่ราวๆ 7 ล้านคน ซึ่งเคยมีผู้คำนวนสัดส่วนโดยนำเอาตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดจำนวน 52 ล้านคน นำมาหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนทั้งหมดของ ส.ส.ทั้งสภา จะได้ประมาณ 104,000 แสนคน หรือหมายความว่า ต้องใช้คะแนนเสียงเลือกตั้งราวๆ 1 แสนเสียง จึงจะได้ที่นั่งส.ส. 1 คน ซึ่งนั่นทำกับว่ากลุ่ม New Voter มีสิทธิพา ส.ส.เข้าสภาได้ถึงประมาณ 60- 70คน
คนกลุ่มนี้ ให้ความเห็นว่า คนรุ่นสนใจการเมืองมากกว่าที่ใครๆ ปรามาส และพวกเขามองที่ประเด็นปัญหาที่มีอยู่ในสังคม เช่น ปัญหาจราจร, สิ่งแวดล้อม, การส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ แต่ไม่ชอบการเมืองในลักษณะความขัดแย้ง หรือเข้าข่ายเกมชิงอำนาจ เช่น การจับขั้ว-ย้ายมุ้ง-เปลี่ยนพรรค แบบข่าวการเมืองที่เราคุ้นชิน
พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สะท้อนอารมณ์ของคนกลุ่มนี้ว่า เพื่อนๆรอบตัวพูดคุยกันเรื่องการเมืองอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงที่เปิดเผยแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และถ้าคนไหนที่มีความคิดเห็นชัดเจนก็จะแสดงออกทางสเตตัสในเฟสบุ๊คทันที หรือไม่ก็แชร์รูป แชร์คำพูดเด็ดๆที่หัวหน้าพรรคที่ชื่นชอบไปพูดในรายการโทรทัศน์หรือเวทีดีเบตที่ไหน
“ผมรู้สึกได้ว่าทุกคนตื่นเต้นกับการเลือกตั้งในครั้งนี้มาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า เราเติบโตในช่วงที่สถานการณ์การเมืองไม่ปกติ คือตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ตอนนั้นเรายังเด็ก แต่ก็รับรู้ได้ว่าบ้านเมืองไม่ปกติ ยิ่งโตขึ้นก็ได้ยินเหตุการณ์ทำนองนี้ เดี๋ยวมีม็อบเสื้อเหลือง เดี๋ยวมีเสื้อแดง เราได้ยินเรื่องแบบนี้มาตลอด จนกระทั่งเราเติบโตขึ้น ได้มีโอกาสใช้สิทธิ์ ได้แสดงพลังของตัวเอง ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ทุกคนจึงตั้งตารอคอยที่จะแสดงสิทธิ์ของตัวเอง”
ส่วนความคาดหวังสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ พชรพรรษ์ บอกว่า อยากให้เป็นจุดยุติปัญหาของความขัดแย้ง เพราะทุกฝ่ายต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชน จากนั้นจะใช้จุดนี้พัฒนาประเทศ สร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เกิดนวัตกรรม เกิดโอกาสใหม่ๆ สร้างแรงจูงใจให้ผู้มีความสามารถได้ทำงานในประเทศ แทนการแสวงหาโอกาสการไปทำงานต่างประเทศ เพราะไม่อยากอยู่ในประเทศที่มีแต่ความขัดแย้ง และไม่เดินหน้าเพราะปัญหาทางการเมือง
“เชื่อไหมครับว่า คนที่เก่งๆ มีความสามารถ ปัจจุบันนี้ เขาไม่ได้มองหางานในประเทศ หรือทำธุรกิจในประเทศอีกแล้ว เพราะเขามองว่า สถานการณ์มันไม่แน่นอน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เขามองถึงการไปทำงานในสิงคโปร์ หรือถ้าเรียนต่างประเทศก็จะหาทางอยู่ต่อ ตรงนี้ผมมองว่าทำให้ประเทศเสียโอกาส เสียบุคลากรเก่งๆไป เพราะปัญหาการเมืองมันไม่จบ ความเห็นของผมคงไมได้พูดแทนคนกลุ่มอายุเดียวกันได้ทั้งหมด แต่ก็เชื่อว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ อยากจะให้การเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านไปด้วยดี และทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าต่อ”
สำหรับนโยบายที่โดนใจคนกลุ่มนี้มากที่สุด เราได้รับคำตอบว่า กลุ่ม New Voter ชอบนโยบายการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะว่าคนกลุ่มนี้อยากปฏิเสธการรับใช้ชาติ แต่เขามองว่าการเข้ารับการเป็นทหารเกณฑ์ควรมาจากความสมัครใจ โดยรัฐควรจูงใจสวัสดิการ ผลตอบแทนให้เกิดการเข้ารับการสมัคร ขณะที่ผู้ถึงเกณฑ์แต่มีความถนัดด้านอื่น ก็ควรจะออกกฎหมายเพื่อให้คนกลุ่มนั้นทำงานเพื่อประเทศชาติโดยไม่ได้รับผลตอบแทน อาทิ การเป็นหมออาสา ครูอาสา ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ หน่วยงานราชการ ตามสาขาที่ตัวเองถนัด
วัยเก๋า ขอนโยบายผู้สูงอายุ
ถ้าผู้มีสิทธิ์รุ่นใหม่หมาดตื่นเต้นกับการเลือกตั้ง คงสวนทางกับกลุ่มผู้มีสิทธิ์วัยเก๋า เพราะจากการสอบถามกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป พบว่า พวกเขาสนใจการเลือกตั้งก็จริง แต่ไม่ถึงขนาดตื่นเต้น ทั้งนี้เพราะไม่ได้เชื่อว่า การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวจะสามารถพาประเทศออกจากวังวนที่ประสบอยู่ตลอด 10 กว่าปีหลังได้ บรรดาสูงวัยจึงค่อยๆ นั่งดูปรากฎการณ์กับสิ่งที่เกิดขึ้น รับรู้-รับทราบ แต่ไม่ได้เข้มข้นถึงขนาดต้องแสดงออกอะไรให้มากมาย
นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ อดีตคณะกรรมการสายสาธารณสุขหลายแห่ง บอกว่า เตรียมตัวที่จะไปเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม แต่ไม่ได้ตื่นเต้น หรือคาดหวังกับการเลือกตั้งมากนัก เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งแม้จะเป็นกลไกสำคัญ แต่ไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดี-กินดี หรือแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้
ส่วนบรรยากาศในการเลือกตั้งครั้งนี้ แน่ว่าการมีอยู่ของเทคโนโนโลยี ทำให้ใครๆ ก็เข้าถึงข้อมูล เข้าถึงกระแสข่าวได้ง่ายๆ และกลุ่มผู้สูงอายุก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เสพข่าวจำนวนมากมายมหาศาล แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ภูมิหลังความเชื่อแล้วว่า จะเชื่อข้อมูลชุดไหน อย่างไร
เมื่อถามถึงนโยบายที่คนสูงวัยคาดหวัง นพ.วิชัย บอกว่า คือนโยบายที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้ มีศักยภาพ สมองยังดี ร่างกายยังแข็งแรง ซึ่งอยากเชิญชวนให้แต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายสร้างศักยภาพและให้พื้นที่กับคนกลุ่มนี้ แตกต่างกับกลุ่มที่ 2.กลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ ทั้งจากอาการป่วย อาการชรา ดังนั้นนโยบายที่ส่งมาถึงกลุ่มผู้สูงอายุจึงต้องจำแนกและเข้าใจพฤติกรรมผู้สูงอายุทั้ง 2 กลุ่ม
“นโยบายที่ผมชอบ แต่ไมได้บอกว่าเป็นพรรคไหน คือการให้สิทธิการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการสานต่อ เพิ่มความเข็มแข็งของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง หลักของเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลคือ การให้สิทธิกับทุกคน อย่างไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงเฉพาะกลุ่ม ที่สำคัญคือการลดทอนอำนาจข้าราชการ แต่เพิ่มศักยภาพของภาคประชาชน ถ้าถามในฐานะพลเมืองผู้สูงอายุ ผมก็อยากจะอยากเห็นแนวทางด้านสุขภาพนี้เดินต่อไป”
Gen X- Gen Yผู้มากประสบการณ์
มาถึงกลุ่มคนที่มากประสบการณ์ อย่างกลุ่ม Gen X – Gen Y ที่เคยผ่านการเลือกตั้งมาไม่น้อย และคนกลุ่มนี้ยังมีจำนวนหลากหลาย ผ่านการบ่มเพาะจากสังคมที่เติบโต สังคมที่ทำงาน ซึ่งหลอมรวมคนทั้ง 2 เจเนอเรชั่นเข้าด้วยกัน
จากการสอบถามคนกลุ่มนี้มีทั้งที่ออกตัวแรง พูดดัง ฟังชัด ว่าชอบหรือเกลียดนักการเมืองไหนแบบเข้าไส้ ขณะที่บางคนทำเนียนๆ นิ่งๆ ไม่ออกตัวแรง แล้วก็มีไม่น้อยที่บ่นว่าเบื่อการเมืองเอาเสียดื้อๆ
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ที่เติบโตมากับงานด้านสิทธิมนุษยชน สะท้อนว่า ถึงจะเบื่อหน่ายการเมืองขนาดไหน แต่เชื่อว่าสถานการณ์ และกระแสข่าวขนาดนี้ ก็ทำให้คนกลุ่ม Gen X ออกมาเลือกตั้งอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีหลัง มานี้ ทำให้คนบางกลุ่มที่เคยมีความคิดเห็นด้านหนึ่งเปลี่ยนข้างไป และต้องการแสดงออกอย่างชัดเจนในการเลือกตั้งครั้งนี้
พรเพ็ญ บอกว่า เธอไม่ได้ต้องการนักการเมืองอาชีพ แต่กำลังมองหาผู้มีประสบการณ์เฉพาะทางที่เข้าไปผลักดันวาระนั้นๆ จริงๆ อาทิ นักสิทธิมนุษยชนที่เข้าไปแก้ปัญหาภาคใต้ หรือคนข้ามเพศที่ไปผลักดันประเด็น LGBT
ส่วนนโยบายที่ชื่นชอบ เธอมองว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้ตื่นเต้นกับนโยบายใหญ่ๆ อย่างเศรษฐกิจ, การศึกษา, สาธารณสุข เพราะแต่ละพรรคแทบไม่แตกต่างกันมากนัก แต่กำลังมองหานโยบายของพรรคที่สร้างความแตกต่างได้ อาทิ การเสนอให้ตัดงบความมั่นคง เพื่อเอาไปใช้ชดเชยในส่วนอื่นที่สอดคล้องกับบริบทโลกปัจจุบันมากกว่า
ทั้งหมดคือความคิดเห็นในเส้นทางของการเลือกตั้งกำลังดำเนินไป หากเป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ นี่คงเป็นช่วงกลางเรื่องที่ทำให้คนดูรู้สึกมีอารมณ์ร่วม แต่ถึงเช่นนั้นก็ยังมีอีกหลายซีน หลายมุม ที่กำลังถูกเฉลย และชวนให้บรรดาพลเมืองอย่างเราๆ ท่านๆ ต้องติดตามกันต่อไป