พิษโควิดกระทบธุรกิจโรงแรม ปรับตัวปล่อยเช่ารายเดือน

พิษโควิดกระทบธุรกิจโรงแรม ปรับตัวปล่อยเช่ารายเดือน

"คอลลิเออร์ส" เผยผลกระทบจากโควิด-19 โรงแรมระดับลักชัวรี่ ปรับตัวนำห้องพักปล่อยเช่ารายเดือน พร้อมลดค่าห้องลงกว่า 50%

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยภาพรวมอุปทานโรงแรมระดับลัคชัวรี่ในกรุงเทพ ปี2563 อยู่ที่ 12,943 ห้อง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% จากในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งผู้ประกอบการบางรายยังคงเดินหน้าเปิดตัวโรงแรมใหม่ตามแผนเดิมที่วางไว้ โดยในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาพบว่ามีโครงการลัคชัวรี่เปิดบริการใหม่ 3 แห่ง จำนวน 674 ห้องพัก คือ โรงแรมสินธร เคมปินสกี แบงค็อก – กรุงเทพ ตั้งอยู่บริเวณใจกลางกรุงเทพฯติดกับสวนลุมพินี ประกอบไปด้วยห้องพักจำนวน 274 ห้อง โรงแรมโฟร์ ซีซั่นส์ โฮเต็ล แบงค็อก แอท เจ้าพระยาริเวอร์ ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 299 ห้องพัก และโรงแรม คาเพลลา กรุงเทพ ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 101 ห้อง


นายภัทรชัยกล่าวว่า อัตราการเข้าพักของสถานพักแรม ในเดือนพ.ย.อยู่ที่ 34.82% ซึ่งพบว่าปรับตัวลดลงกว่า 35% จากในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับลัคชัวรี่ในกรุงเทพฯครึ่งหลังของปี2563 พบว่าอยู่ที่28% ปรับตัวลดลงประมาณ 7% จากอัตราเข้าพักเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี จากสถิติการเข้าพักโรงแรมทั่วประเทศก่อนเกิดโควิด-19 พบว่าอัตราเข้าพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวในเดือนม.ค.ปีนี้อยู่ที่ 77.97% จนกระทั่งเกิดการแพร่โควิดเดือนก.พ. 63 ส่งผลให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยลดลง58.39% และปรับลดลงเหลือเพียงแค่ 20.82% ในเดือนมี.ค.ก่อนปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดในเดือนเม.ยอยู่ที่ 2.26% หลังจากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์และปิดน่านฟ้า

จากนั้น 2 เดือนอัตราเข้าพักในเดือนพ.ค.อยู่ที่ 3.83% ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 13.48% หลังจากที่รัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์การเดินทางในประเทศ ทำให้คนไทยเริ่มเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เมืองท่องเที่ยวในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้งโดยเฉพาะพัทยา หัวหิน และชะอำ คาดการณ์ว่าทิศทางกลุ่มธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวในปี2564 อาจปรับตัวดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง

โดยใช้สมมติฐานว่าประเทศต่างๆ จะกลับมาเปิดประเทศโดยไม่มีข้อจำกัดการเดินทาง และเรียกความเชื่อมั่นในการเดินทางระหว่างประเทศของประชาชนให้กลับคืนมาได้หลังจากวัคซีนโควิด-19 ถูกพัฒนาและเริ่มมีการทดลองใช้ในหลายประเทศ สอดคล้องกับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าทั้งปี2564 อยู่ที่11 ล้านคน บวกกับแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศจากภาครัฐผ่านโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 2 ที่สามารถจองสิทธิ์ห้องพักอีก 1 ล้านสิทธิ์ใหม่ และการประกาศเพิ่มวันหยุดพิเศษสำหรับในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง

นายภัทรชัย ระบุว่า ธุรกิจภาคท่องเที่ยวและบริการเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่ขณะนี้นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้โดยปกติ โดยโรงแรมหลายแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราวหรือบางโรงแรมประกาศปิดกิจการถาวร หรือมีการปรับตัว เช่น ให้เช่าห้องเพื่อเป็นสถานกักตัวของรัฐ หรือปล่อยเช่ารายเดือน เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า มีโรงแรมระดับระดับลัคชัวรี่ในกรุงเทพที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการในปีนี้ อีก 4 แห่ง ประมาณ 726 ห้องพักและในปี 2565 อีก 600 ห้องพัก และพบว่ามีโรงแรมระดับลัคชัวรี่ในพื้นที่กรุงเทพ 2 โครงการ 423 ห้องพักได้เลื่อนการเปิดตัวออกไปจากในปี2563ที่ผ่านมา และอาจมีการปรับแผนการเปิดตัวใหม่อีกครั้งในอนาคตหากสถานการณ์โควิด-19ยังไม่ดีขึ้น


นายภัทรชัยกล่าวว่า คาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกลซึ่งมีดีมานด์ต้องการเดินทางเข้าไทยพอสมควร จากผลสำรวจจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานลอนดอนระบุว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 จุดหมายปลายทางที่ชาวอังกฤษต้องการเดินทางมาเยือนในช่วงฤดูร้อนกลางปี2564 และจากภาวะซบเซาของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการโดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดหาย ความต้องการเข้าใช้ห้องพักโรงแรมลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อรายได้ทั้งในส่วนของห้องพักและรายได้จากการให้บริการสถานที่สำหรับงานเลี้ยงและงานประชุมต่างๆ

จากวิกฤตการณ์โรคระบาดดังกล่าวผู้ประกอบการจึงเลื่อนการจัดกิจกรรมทุกกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ยอดจองห้องพักรวมถึงรายได้จากค่าห้องพักในปี 2563 หายไปมากกว่า 50% โดยผลกระทบดังกล่าวส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อธุรกิจโรงแรมทั้งโรงแรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่เนื่องจากผู้ประกอบการจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ค่อนข้างสูงส่งผลให้โรงแรมจำนวนมากต้องปิดตัวลงชั่วคราวหรือบางโรงแรมประกาศปิดกิจการถาวร หรือมีการปรับตัว เช่น ให้เช่าห้องเพื่อเป็นสถานกักตัวของรัฐ หรือปล่อยเช่ารายเดือน เป็นต้น