วัคซีน COVID-19 ใกล้ถึงไทย ฉีดหรือไม่ เลือกค่ายไหนดี
วัคซีน COVID-19 ล็อตแรกจะส่งมาถึงคนไทยแล้ว แต่ยังมีคำถามมากมายถึงประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงของการฉีด
ในเดือนกุมภาพันธ์ วัคซีน COVID-19 ล็อตแรกจะส่งมาถึงคนไทยแล้ว แต่ยังมีคำถามมากมายถึงประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน COVID-19 จนเกิดเป็นคำถามว่า ถ้ามีวัคซีนมาให้ฉีดจริง คุณจะกล้าฉีดหรือไม่ และถ้าจะต้องเลือก จะเลือกฉีดวัคซีนจากค่ายไหนดี
วัคซีนล็อตแรกที่จะมาถึงไทยคือ วัคซีนจาก แอสตร้าเซนเนก้า (Astrazeneca) โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัย Oxford และบริษัท Astrazeneca บริษัทผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน โดยวัคซีนของ Astrazeneca ใช้เทคโนโลยี Viral Vector เป็นการใช้เชื้อไวรัสที่ถูกทำให้เชื้ออ่อนลงและไม่ก่อให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่รหัสพันธุกรรมของ COVID-19 โดยเฉพาะพันธุกรรมที่สร้างโปรตีนส่วนหนาม (Spike Protein) ที่อยู่ล้อมรอบตัวไวรัส COVID-19 และทำให้ไวรัสเกาะติดกับร่างกายได้ง่าย เมื่อฉีดวัคซีนนี้เข้าไปในร่างกาย ร่างกายของเราจะประเมินว่าไวรัสตัวนี้คือสิ่งแปลกปลอม และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับไวรัสตัวนี้
วัคซีนจาก Astrazeneca มีประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 90% โดยจะต้องฉีดทั้งหมด 2 ครั้ง ซึ่งข้อดีของวัคซีนจากค่ายนี้คือ การใช้เทคโนโลยี Viral Vector ที่ให้ไวรัสเป็นตัวนำพาส่วนของพันธุกรรมที่ตัดต่อแล้วเข้าไปในร่างกาย เป็นไวรัสกลุ่ม Adenovirus ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดทั่วไป และเป็นไวรัสที่เป็นที่รู้จักและมีงานวิจัยมากมายอยู่แล้ว จึงถือว่ามีความปลอดภัยพอสมควร โดยปัจจุบันมีการใช้วัคซีนชนิดนี้กับโรคอีโบล่า ส่วนข้อเสียคือ บางคนที่มีภูมิคุ้มกันต่อ Adenovirus อยู่แล้ว ร่างกายอาจกำจัดเปลือกของไวรัสนี้ได้ จึงอาจทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
วัคซีนอีกตัวที่คาดว่าจะมาถึงไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้และน่าสนใจมาก คือ วัคซีน CoronaVac จากบริษัท Sinovac Biotech บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์รายใหญ่ของจีน โดยวัคซีนจาก Sinovac เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) เป็นการนำไวรัส COVID-19 มาทำให้อ่อนแรง และไม่ทำให้เกิดอันตราย แล้วจึงฉีดเข้าสู่ร่างกาย เพื่อกระตุ้นร่างกายให้เกิดภูมิคุ้มกัน
วัคซีนจาก Sinovac จะต้องฉีดทั้งหมด 2 ครั้ง โดยมีประสิทธิภาพเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50% ซึ่งแม้จะดูเหมือนน้อยแต่ก็นับว่าเพียงพอแล้วในการสร้างภูมิคุ้มกัน เทียบกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพอยู่ที่ประมาณ 50-60% เช่นกัน ข้อดีของวัคซีนจาก Sinovac คือ การฉีดวัคซีนด้วยเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างมาก นอกจากนั้น วัคซีนจาก Sinovac ของจีน ยังง่ายต่อการเก็บรักษาเช่นเดียวกับวัคซีนของ Astrazeneca เนื่องจากสามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถเก็บในตู้เย็นมาตรฐานทั่วไปได้
ในขณะที่วัคซีนจากสหรัฐฯ อย่าง Pfizer และ Moderna ใช้เทคโนโลยี mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่และยังอาจต้องอาศัยระยะเวลาอีกพอสมควร จึงจะสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความปลอดภัยอย่างแท้จริง นอกจากนั้นในการเก็บรักษายังต้องเก็บรักษาที่ระดับอุณหภูมิเย็นจัด โดยวัคซีนของ Moderna ต้องเก็บที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ส่วนของ Pfizer ต้องเก็บที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส
จากความสะดวกในการเก็บรักษา วัคซีนของ Sinovac จากจีน ค่อนข้างตอบโจทย์สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีศักยภาพไม่เพียงพอในการจัดเก็บวัคซีนที่อุณหภูมิเย็นจัด แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งของวัคซีนจาก Sinovac คือ ราคาจะค่อนข้างสูงจากขั้นตอนการผลิตที่ค่อนข้างยุ่งยาก
จากความจำเป็นในการใช้วัคซีน COVID-19 อย่างเร่งด่วน และกระแสตอบรับต่อวัคซีนจาก Sinovac ที่ค่อนข้างดี ทำให้ Sinovac วางแผนเพิ่มไลน์การผลิตวัคซีน COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน Sinovac ได้มีโรงงานผลิตวัคซีนขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตวัคซีน CoronaVac ได้มากถึง 300 ล้านโดสต่อปี ซึ่งจะสามารถฉีดให้ประชาชนได้ 150 ล้านคน คิดเป็น 10% ของประชากรจีน และตั้งเป้าขยายการผลิตวัคซีน CoronaVac ให้ได้ 600 ล้านโดสต่อปี
สำหรับประเทศไทยได้มีการสั่งซื้อวัคซีน COVID-19 จาก Sinovac ทั้งหมดจำนวน 2 ล้านโดส ในขณะที่อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ตุรกี บราซิล ชิลี มีการสั่งซื้อวัคซีนจากซิโนแวคเช่นกัน
จะเห็นว่าวัคซีน COVID-19 ของทั้ง Astrazeneca และ Sinovac ที่กำลังจะเข้ามาถึงไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ใช้เทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และมีประสิทธิภาพเพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกัน และประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่สั่งซื้อวัคซีนจากทั้ง 2 บริษัทนี้ เพราะประเทศอื่นๆ ก็ต่างเร่งสั่งนำเข้าและแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชากรของตนอย่างเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกัน และลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ในขณะที่ผู้ผลิตวัคซีนก็ต่างเร่งกำลังการผลิตเพื่อให้เพียงต่อความต้องการเช่นกัน
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPTTM Wealth Manager ธนาคารทิสโก้