RPCเปิดแผนเทิร์นอะราวด์ ทุ่มพันล้านรุก 2 ธุรกิจ 'พลังงาน-อสังหาฯ'

RPCเปิดแผนเทิร์นอะราวด์  ทุ่มพันล้านรุก 2 ธุรกิจ 'พลังงาน-อสังหาฯ'

RPCเผย ไตรมาส4 /63ผลดำเนินงาน “เทิร์นอะราวด์” ลุยขยายสถานีบริการน้ำมันแบรนด์ “เอสโซ่” สู่เป้าหมาย 100 สาขาภายใน5ปี จากปัจจุบัน 67 สาขา พร้อมตั้งทีมรุกธุรกิจนอนออยล์

บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ RPCเดิมชื่อ บริษัท ระยองเพียวริฟายเออร์ จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันขนาด 17,000 บาร์เรลต่อวัน บริหารคลังน้ำมัน 1 แห่ง ทว่าตั้งแต่ต้นปี 2555 ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันได้หยุดดำเนินการ เนื่องจาก บริษัท ปตท. หรือ PTT ยกเลิกสัญญาซื้อขายกากคอนเดนเซท (CR) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของบริษัทถือเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาระหว่าง ปตท. และ บริษัทจึงทำให้บริษัทต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย 

ปัจจุบันขั้นตอนอยู่ระหว่างรอผลศาลแพ่งชั้นฎีกา หลังจากศาลแพ่งชั้นต้นมีคำตัดสินยืนตามอนุญาโตตุลาการให้ RPC ชนะ ! 

หากย้อนกลับไปการหยุดดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ทำให้บริษัทไม่มีรายได้จากธุรกิจหลัก และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้ต้องหยุดดำเนินการธุรกิจโรงกลั่นไปอย่างถาวร แต่ยังต้องมีภาระจ่ายค่าบำรุงรักษาโรงกลั่นปีละประมาณ 10 ล้านบาท ทำให้ทางคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นทยอยลาออก ทำให้ นายสัจจา เจนธรรมนุกูลต้องเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการแทน 

ทำให้ตอนนั้นบริษัทต้องตัดสินใจปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป ด้วยการปรับโครงการธุรกิจเป็น Holding Company ซึ่งลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ปัจจุบันมีรายได้ 2 ธุรกิจคือ “ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

“หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายสัจจา เจนธรรมนุกูล ประธานกรรมการ บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ RPC เล่าให้ฟังว่าผลประกอบการของบริษัทกลับมา “เทิร์นอะราวด์”ได้ตั้งแต่ไตรมาส4ปี 2563เป็นต้นไป แม้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ุใหม่ 2019 (โควิด-19) ทำให้ราคาน้ำมันและความต้องการลดลงรุนแรง หลังหลายประเทศใช้มาตรการปิดประเทศ (Lock down) แต่ครึ่งปีหลังราคาน้ำมันและความต้องการฟื้นตัว ส่งผลให้ยอดขายน้ำมันเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในกลุ่มรถขนส่งสินค้าออนไลน์ สะท้อนผ่านอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซเติบโตก้าวกระโดด ขณะที่น้ำมันรถยนต์ส่วนบุคคลหดตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ขณะที่แผนธุรกิจ 5 ปี (2563-2567) บริษัทตั้งงบลงทุน 1,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นลงทุนใน 2 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจพลังงาน และ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สอดรับกับเมื่อพ.ย. 2560 บริษัทได้ร่วมมือระหว่างกันกับ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSOภายใต้บริษัท เพียวพลังงานไทย จำกัด (PTEC) โดยเอสโซ่ให้ใช้สิทธิเครื่องหมายการค้า “เอสโซ่” ในการขยายสถานีบริการน้ำมัน โดย PTEC เป็นผู้บริหารสถานีบริการน้ำมันดังกล่าว

โดยมีเป้าหมายธุรกิจจำหน่ายน้ำมันแบบค้าปลีกผ่านสถานีบริการน้ำมันภายใต้แบรนด์เอสโซ่ 5 ปี ขยายสถานีบริการเพิ่มเป็น 100 สาขา จากปัจจุบัน 67 สาขา โดยในปีนี้ตั้งเป้าขยาย 7 สาขา ซึ่งวางงบลงทุนไว้ราว 200 ล้านบาท เป็นการทยอยลงทุนต่อเนื่อง รวมทั้งอาจจะมีธุรกิจใหม่เข้ามาอีกอย่างธุรกิจน้ำมันเครื่อง เป็นต้น