‘ประกันสังคมมาตรา 33’ ถูกหักเงินสมทบแล้ว ไปไหน?
ทำความเข้าใจ "ประกันสังคมมาตรา 33" ที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้ จ่ายเงินสมทบแล้วไปไหน ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
“ประกันสังคม” รายจ่ายที่มนุษย์เงินเดือน พนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งเป็น “ผู้ประกันตน มาตรา 33” ต้องถูกหักจากเงินเดือนทุกๆ เดือนเพื่อสมทบเข้า “กองทุนประกันสังคม” ตามกฎหมายแรงงาน เพื่อช่วยเป็นหลักประกันในมิติต่างๆ ของลูกจ้างทั้งในมิติของสุขภาพ การว่างงาน อุบัติเหตุ รวมไปถึงเงินสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ
โดยในยามปกติ ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนในระบบ “ประกันสังคม มาตรา 33” จะถูกหักเงิน 5% ของค่าจ้าง (สูงสุด 750 บาท) เข้ากองทุนประกันสังคม และนายจ้างก็จะจ่ายสมทบในจำนวนที่เท่ากัน บวกกับเงินที่รัฐบาลจ่ายเข้ามาให้ด้วยอีก 2.75%
ยกเว้นช่วงเยียวยาผลกระทบจาก “โควิด-19” เช่นนี้ ที่รัฐบาลได้ปรับลดการหักเงินสมทบกองทุนประกันสังคมแล้วหลายครั้งด้วยกัน
เริ่มจากครั้งแรก คือ เมื่อเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2563 ปรับลดให้ลูกจ้างถูกหักลดลงเหลือ 1% (สูงสุด 150 บาท) ส่วนนายจ้างลดจาก 5% เหลือ 4% (สูงสุด 600 บาท) ก่อนจะกลับมาใช้อัตราปกติ 5% เมื่อมิถุนายน 2563
การปรับลดครั้งที่สอง คือ เดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2563 ที่มีมติปรับลดการหักเงินสมทบ จาก 5% เหลือ 2% (สูงสุด 300 บาท) เท่ากันทั้งฝั่งลูกจ้าง และ นายจ้าง ก่อนจะกลับมาใช้อัตราปกติ 5% ในเดือนธันวาคม 2563
การปรับลดครั้งที่สาม คือ การออกประกาศลดการหักเงินสมทบเหลือ 3% (สูงสุด 450 บาท) ให้กับทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง มกราคม - มีนาคม 2564
หลังจากใช้มาตรการดังกล่าวได้เพียงเดือนเดียว คือ มกราคม 2564 ก็ได้สั่งปรับลดอีกครั้ง สำหรับ เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564 ให้เหลือการหักเงินสมทบเพียง 0.5% ของค่าจ้าง (สูงสุด 75 บาท) สำหรับลูกจ้าง ส่วนฝ่ายนายจ้างจ่ายเงินสมทบในอัตรา 3% มีผลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564
แต่ไม่ว่า เหล่าลูกจ้าง “ผู้ประกันตน มาตรา 33” จะถูกหักเงินไปเท่าไร มีใครทราบหรือไม่ว่า “เงินสมทบ” ที่เราถูกหักไปทุกๆ เดือนนั้น ไปอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วจะเกิดประโยชน์กับเราอย่างไร
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปทำความเข้าใจกับ “กองทุนประกันสังคม 101” ที่ลูกจ้างควรทราบถึงสิทธิที่มี ซึ่งให้ ความคุ้มครอง 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ตาย ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ โดยในจำนวนเงินที่เราถูกหักไปในทุกๆ เดือนนั้น ทางสำนักงานประกันสังคมได้ทำการจัดสรรเพื่อให้เป็นไปตาม 7 ความคุ้มครองข้างต้น
- พนักงานประจำ ต้องถูกหักเงินสมทบอย่างไร?
สำหรับพนักงานประจำ จะถูกนายจ้างจะหักเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท เพื่อนำส่งกองทุนประกันสังคมในทุกๆ เดือน เช่น หากคุณได้รับเงินเดือน 10,000 บาท จะถูกหักเงินเพื่อนำส่งประกันสังคม 500 บาท หากได้รับเงินเดือน 15,000 บาท จะถูกหักเงินเพื่อนำส่งประกันสังคม 750 บาท แต่ในกรณีที่เงินเดือน 15,000 ขึ้นไปจะถูกหัก 750 บาท เนื่องจากเป็นเพดานสูงสุด
- จ่ายสมทบแล้ว.. เงินไปไหน?
จุดสำคัญที่ผู้ประกันตนควรรู้ และต้องรู้คือ เงิน 5% ที่ถูกหักไปสมทบในกองทุนประกันสังคมนั้นไปอยู่ที่ไหนบ้าง สมมติว่าเราส่งเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมทุกเดือน เดือนละ 750 บาท
1.5% ของยอดสมทบ หรือสูงสุด 225 บาท จะใช้ในส่วนประกันเจ็บป่วย หรือตาย
0.5% ของยอดสมทบ หรือสูงสุด 75 บาท จะถูกเก็บไว้ในส่วนของประกันการว่างงาน
3% ของยอดสมทบ หรือสูงสุด 450 บาท จะถูกเก็บไว้ในส่วนของประกันชราภาพ
- ได้รับสิทธิ์อะไรบ้าง
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าเงินที่ถูกหักไปสมทบกองทุนประกันสังคมทุกๆ เดือนนั้น จะถูกนำไปสะสมไว้สมหรับผู้สมทบในอนาคตในรูปแบบต่างๆ โดย สิทธิ์ที่ผู้ส่งเงินประกันสังคมจะได้รับ แบ่งออกเป็นกรณีหลักๆ 7 เรื่องได้แก่ เจ็บป่วย ตาย ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สิ่งที่ไม่รู้ไม่ได้ คือ "สถานะ" ของการเป็นผู้ประกันตนของตัวเอง โดยการตรวจสอบข้อมูล และสิทธิ์ประกันสังคมต่างๆ สามารถทำได้ด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ของ "สำนักงานประกันสังคม" 2 ช่องทางหลัก ได้แก่
- เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th โดยจะต้องสมัครสมาชิกก่อนเข้าระบบเพื่อตรวจสอบข้อมูลต่อไป
- แอพพลิเคชั่น "SSO Connect mobile" ที่สามารถตรวจสอบเงินชราภาพ ตรวจสอบสถานพยาบาลตามสิทธิ ทำการเปลี่ยนสถานพยาบาล เช็คยอดเงินทันตกรรม การส่งเงินสมทบ ฯลฯ ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟน โดยสามารถดาวน์โหลดได้ผ่าน Google Play และ App Store
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506 ให้บริการทุกวันทุกเวลา สามารถโทรตรวจสอบสิทธิประกันสังคม หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ประกันสังคม รวมทั้งสิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทน สามารถโทรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประกันสังคมมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการ