TQRมองความเสี่ยงใหม่ ดันธุรกิจประกันภัยเติบโต
TQRเร่งเครื่องธุรกิจแส วงหาโอกาสเติบโตบนความเสี่ยง หลังโควิด-19 ทำธุรกิจประกันภัยเปลี่ยน แย้มอนาคตเป็นพันธมิตรที่ดี “ทีคิวเอ็ม” หลังธุรกิจส่งเสริมกันและกัน ลุยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
คงปฏิเสธไม่ได้ภาวะทั่วโลกเกิดความไม่แน่นอน !! บ่งชี้ผ่านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ุใหม่ 2019 (โควิด-19) ทำให้ประชาชนเริ่มสนใจกระจายความเสี่ยงให้ตนเองและครอบครัว หนึ่งใน “ดาวเด่น” ยกให้อุตสาหกรรมประกันภัยทั้งในและต่างประเทศมีอัตราการเติบโตก้าวกระโดด สะท้อนผ่านปี 2563 ยอดขายประกันโควิด-19 สูงถึง 4,000 ล้านบาท ในช่วง 2 เดือน คิดเป็น 7 ล้านกรมธรรม์ !!
ปัจจัยบวกดังกล่าวส่งผลดีต่อหุ้นไอพีโอน้องใหม่ บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TQR ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ ให้บริการจัดหาสัญญาประกันภัยต่ออย่างครบวงจร จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 60 ล้านหุ้น เข้าซื้อขายวันแรก 17 ก.พ.นี้ หุ้นละ 5.10 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท ระดับราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ Forward P/E ที่ 14 เท่า
“ชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TQR เล่าให้ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า หุ้น TQR ปรากฏรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ “อัญชลิน-นภัสนันท์ พรรณนิภา” ผู้ก่อตั้งบริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TQM โดยถือหุ้น TQR สัดส่วน 44.35% (ตัวเลข ณ หลังเสนอขายหุ้น IPO) “ตระกูลพรรณนิภา” เข้ามาถือหุ้นตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งบริษัทในปี 2555 ตอนนั้นยอมรับไม่รู้ธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไหม แต่เมื่อมีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาร่วมลงทุนทำให้มีความอุ่นใจขึ้น ซึ่ง 1-2 ปีแรกธุรกิจขาดทุนสุทธิทำให้บริษัทลำบาก แต่ได้ครอบครัวพรรณนิภาเข้าใจและใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามา
“ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ใส่เงินเพิ่มทุนเพื่อเสริมฐานเงินทุนในการขยายธุรกิจ อนาคตจะมีความสัมพันธ์ที่ดีเพิ่มมากขึ้นกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน”
สำหรับแผนธุรกิจ มองว่าหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเกิดความเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากในธุรกิจประกัน ดังนั้น แผนธุรกิจบริษัทยังร่วมวิเคราะห์และพัฒนาการประกันภัยรูปแบบใหม่ๆ ร่วมกับคู่ค้า ตลอดจนให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่จากต่างประเทศและนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับธุรกิจประกันภัยของประเทศไทย เช่น ผลิตภัณฑ์ประกันภัยกลุ่มงานอีเวนท์ (event cancellation) ที่ปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการรับจัดงานติดต่อบริษัทเข้าไปคุยบ้างแล้ว หรือ การประกันภัยไซเบอร์ (Cyber Insurance) เป็นต้น เช่น ประกันการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่น มีการทำประกันภัยมูลค่า 2,000 ล้านยูโร ซึ่งประกันภัยดังกล่าวตลาดเมืองไทยยังไม่รู้จัก