'ม.33เรารักกัน' จากมติ ครม. ถึงวันลงทะเบียน www.ม33เรารักกัน.com
ชวนรู้จักมาตรการ "ม.33เรารักกัน" ตั้งแต่เริ่มแนวคิด จนถึงวันลงทะเบียน www.ม33เรารักกัน.com 21 ก.พ. 64 วันแรก! รู้ละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้ประกันตน ม.33 เข้ามาเช็คที่นี่!
ใกล้ถึงวันสำคัญของประชาชนกลุ่ม "ผู้ประกันตน มาตรา33" เพราะภาครัฐกำลังจะเปิดให้ลงทะเบียน "ม.33เรารักกัน" ผ่าน www.ม33เรารักกัน.com ในวันอาทิตย์ที่ 21 ก.พ. 64 เป็นวันแรก โดยเป็นมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าครองชีพสำหรับผู้ประกันกลุ่มนี้ (ประมาณ 9.2 ล้านคน) ด้วยการมอบเงินเยียวยาจำนวน 4,000 บาท
ก่อนจะเตรียมตัวลงทะเบียน www.ม33เรารักกัน.com กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนมารู้จักมาตรการนี้กันตั้งแต่เริ่มต้นไอเดีย สู่การนำเข้า ครม. ผ่านที่ประชุมมติ ครม. เคาะอนุมัติโครงการฯ จนมาถึงขั้นตอนการลงทะเบียน รู้ครบจบที่นี่ เช็คเลย!
- จากดราม่า "เราชนะ" สู่ไอเดีย "ม.33เรารักกัน"
คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าไอเดียแรกเริ่มของโครงการ "ม.33เรารักกัน" มีจุดเริ่มต้นมาจากดราม่า "เราชนะ" เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. 64 ที่ผ่านมา ในครั้งนั้น รัฐได้เคาะเงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับสิทธิเงินเยียวยา "เราชนะ" 7,000 บาท ปรากฏว่ากลุ่มประชาชน "ผู้ประกันตน ม.33" ไม่ได้สิทธิเราชนะ เหมือนคนอื่นเขา จนกลายเป็นดราม่าร้อนแรงในโลกโซเชียลที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ต่อมาประมาณวันที่ 3 ก.พ. 64 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้เปิดเผยภายหลังเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือแรงงานผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยตั้งชื่อโครงการว่า "ม.33 เรารักกัน" โดยนายกฯ อยากให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงเงินเยียวยา ซึ่งจะต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง แต่เบื้องต้นรูปแบบจะคล้ายโครงการเราชนะ
จากนั้นวันที่ 5 ก.พ. 64 นายสุชาติ ชมกลิ่น ออกมาอัพเดทความคืบหน้าของโครงการ "ม.33 เรารักกัน" ระบุว่า หลังหารือกับประธานสภาฯ ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง และสหพันธ์แรงงาน 39 แห่ง โดยได้หลักเกณฑ์เบื้องต้นว่า จะมอบเงินเยียวยาจำนวน 4,000 บาท แบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท คาดว่าผู้ที่จะได้รับสิทธินี้มีประมาณ 9.2 ล้านคน จะนำรายละเอียดทั้งหมดเข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 15 ก.พ.64
อ่านเพิ่ม :
- ลงทะเบียน 'www.ม33เรารักกัน.com' ตามขั้นตอน รับเงิน 4 พัน 21 ก.พ.นี้
- รู้จัก 'ประกันสังคม' ม.33 ม.39 ม.40 ต่างกันอย่างไร รัฐ 'เยียวยา' อะไรบ้าง?
- 'เรารักกัน' ประกันสังคมมาตรา 33 เช็คไทม์ไลน์ลงทะเบียน รับ 4,000 บาท
- ครม. อนุมัติ "ม.33 เรารักกัน" เคาะคุณสมบัติ/เงื่อนไข
ต่อมาวันที่ 15 ก.พ.64 หลังการประชุม ครม. ทางคณะโฆษกฯ ก็ได้ออกมาแถลงว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการ "ม.33 เรารักกัน" แล้ว โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับ คุณสมบัติ/เงื่อนไข ของผู้ที่จะได้สิทธิจากโครงการ "ม.33 เรารักกัน" ดังนี้
1. มีสัญชาติไทย
2. มีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท ดูข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563
3. เป็นผู้ที่อยู่ในมาตรา 33 ของผู้ประกันตน โดยมีข้อมูลอยู่ในระบบประกันสังคม ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 หรือเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564
4. เป็นผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน)
5. เป็นผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิโครงการ "เราชนะ"
อีกทั้งโครงการ "ม.33 เรารักกัน" กระทรวงการคลัง ได้มีการวางแผนระบบงานเบื้องต้นคร่าวๆ คือ จะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 7 มีนาคม 2564
จากนั้นธนาคารจะตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งประมวลผลคัดกรอง ใช้เวลาประมาณถึงวันที่ 14 มีนาคม 2564 ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม 2564 จะให้ประชาชนผู้ที่ผ่านการคัดกรอง เข้าไปกด "ยืนยันตัวตน" ผ่านแอพฯ "เป๋าตัง" ได้จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2564
เมื่อยืนยันตัวตน "ผ่าน" เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะได้รับวงเงินผ่านแอพฯ "เป๋าตัง" สัปดาห์ละ 1,000 บาท จะได้รับเงินงวดแรก วันที่ 22 มีนาคม 2564
อ่านเพิ่ม : สรุป! รายละเอียด 'ม.33 เรารักกัน' ครม.เคาะแล้ววันนี้ รู้ชัดใครได้สิทธิ!
- ผู้ประกันตน มาตรา33 คือใคร?
สิ่งที่ควรรู้เป็นลำดับถัดมาคือ การจะได้รับสิทธิในโครงการ "ม.33 เรารักกัน" นั้น ไม่ใช่ว่าผู้ประกันตนจะได้สิทธินี้ทุกคน แต่ต้องผ่านการคัดกรองด้วย ดังที่กล่าวไปข้างต้น
โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่ทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป (ลูกจ้าง/พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป) ผู้ประกันตนภาคบังคับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม นายจ้างต้องขึ้นทะเบียนให้ลูกจ้าง โดยลูกจ้างต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ในวันเข้าทำงาน
- สัญชาติไทย หรือเป็นคนต่างด้าวก็สามารถขึ่นทะเบียนประกันสังคม มาตรา 33 ได้
ลูกจ้างไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม มาตรา 33 เอง แต่เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน อีกทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ คือ
- ลูกจ้าง ส่งเงินสมทบ 5% ของค่าจ้าง คำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุด 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- นายจ้าง ส่งเงินสมทบ 5% เท่ากับลูกจ้าง
- รัฐบาล ร่วมจ่ายสมทบในอัตรา 2.75%
สำหรับ "ปัจจัยสำคัญ" ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่อาจทำให้คุณ "ไม่ได้รับสิทธิ เรารักกัน" คือผู้ที่ "เงินฝากรวม" ในทุกบัญชีรวมกันเกิน 500,000 บาท ณ เดือนธันวาคม 2563
"เงินฝาก" ที่จะนำมานับรวมในเงื่อนไขนี้ คือ 1.เงินฝากกระแสรายวัน 2. เงินฝากออมทรัพย์ 3. เงินฝากประจำ 4. บัตรเงินฝาก 5. ใบรับฝากเงิน และ 6. ผลิตภัณฑ์เงินฝากอื่นใด ที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
"เงินฝาก" ดังกล่าว ไม่รวมบัญชีลักษณะดังต่อไปนี้ 1.บัญชีร่วม 2.บัญชีเพื่อ 3.สลากออมทรัพย์ และ 4. เงินฝากในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ" เท่ากับว่าคนที่เงินในบัญชีเหล่านี้ แม้มีเกิน 500,000 บาทก็ยังมีโอกาส "ได้รับสิทธิ ม.33 เรารักกัน"
อ่านเพิ่ม : 'ม.33 เรารักกัน' มนุษย์เงินเดือนแบบไหนไม่ได้เงิน 'เรารักกัน' 4,000 บาท
- จากวันเปิดโครงการ สู่วิธีการลงทะเบียน "ม.33 เรารักกัน"
วันที่ 21 ก.พ. นี้ จะเป็นวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนโครงการ "ม.33 เรารักกัน" ตั้งแต่เวลา 06.00 น. โดยเบื้องต้นวิธีลงทะเบียน "ม.33 เรารักกัน" น่าจะคล้ายคลึงกับการลงทะเบียนโครงการ "คนละครึ่ง" หรือ "เราชนะ" นั่นคือ
1. เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com
2. กดคลิกไปที่ปุ่ม "ลงทะเบียน"
3. ระบบจะโชว์รายละเอียดโครงการ และการอนุญาตให้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคล และการรับสิทธิต่างๆ ให้กด "ยอมรับ"
4. กรอกรายละเอียดส่วนบุคคล ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประชาชน, เบอร์โทรศัพท์, เลข OTP เพื่อยืนยันการลงทะเบียน
5. กดยืนยันการลงทะเบียน "ม.33 เรารักกัน"
ระบบจะเปิดให้ผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถ "ลงทะเบียน" และ "ตรวจสอบสิทธิ" ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ได้ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม 2564 หลังจากนั้นผู้ประกันตนสามารถ "ยืนยันตัวตน" ผ่านแอพฯ "เป๋าตัง" ในวันที่ 15-21 มีนาคม 2564
อ่านเพิ่ม : www.ม33เรารักกัน.com เตรียมลงทะเบียน ‘ม.33 เรารักกัน’ 21 ก.พ.นี้
ที่มา : กระทรวงแรงงาน, สำนักงานประกันสังคม, กระทรวงการคลัง