'งดเค็ม-สมุนไพรทำลายไต' ลดความเสี่ยงโรคไต
ไทยมีผู้ป่วยโรคไตและผู้มีภาวะเสี่ยงกว่า 20 ล้านคน ป่วยเป็นไตเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้นและอายุน้อยลงทุกปี ทำให้ภาครัฐและประชาชนที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการตรวจสุขภาพทุกปีเพื่อค้นหาสิ่งผิดปกติในร่างกาย
ในงานสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ประจำปี 2564 ภายใต้คำขวัญ “ไตวายไม่ตายไว แค่ปรับใจและปรับตัว” รูปแบบออนไลน์ ผ่าน Facebook Live ของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย วันที่ 11 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 13.30 น. เพื่อให้คนไทยเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ และการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม
เนื่องจากสถานการณ์ของโรคไตในปัจจุบันนั้นมีความรุนแรงต่อเนื่องสอดคล้องกับการทำวิจัยพฤติกรรมการบริโภคเค็มครั้งล่าสุดในปี 2564 พบว่าคนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา เปรียบเทียบกับคนไทยบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเกือบ 2 เท่า (องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม)
อีกเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญ คือการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรต่าง ๆ ของยาสมุนไพรหลายชนิดในช่วงนี้ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เป็นประเด็นที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ขอยืนยันว่าในปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้
สมุนไพรอีกชนิดที่กำลังเป็นที่นิยม คือถั่งเช่า ซึ่งมีแพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย และมีผู้แนะนำสินค้าบนโลกออนไลน์โซเชียลมีเดีย "รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ" นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ยืนยันว่า จากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย
ส่วนถั่งเช่าที่มีการศึกษาในมนุษย์นั้น ส่วนใหญ่เป็น ถั่งเช่าจากทิเบต (Cordyceps sinensis) ที่เกิดในธรรมชาติซึ่งมีราคาสูงมาก การศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 1-6 เดือนเท่านั้น จึงไม่สามารถทราบถึงผลดีและผลเสียในระยะยาวได้และยังพบว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าทิเบตบางส่วนมีโลหะหนักในปริมาณสูง ซึ่งจะมีผลเสียต่อไตในระยะยาว
โดยสรุปการที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้น น่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ โดยเราต้องอย่าลืมว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีค่าการทำงานของไตลดลงอยู่แล้ว ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด
ขณะเดียวกันเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ก็สามารถก่อให้เกิดโรคไตได้ เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้จะจับกับตัวรับที่ชื่อว่า angiotensin – converting enzyme 2 receptor (ACE2 receptor) ซึ่งพบได้เป็นจำนวนมากที่ไต รวมทั้งทางเดินหายใจ สำไส้ และหัวใจ เมื่อไปจับกับตัวรับ ACE2 แล้วจะทำให้ปริมาณตัวรับลดลงส่งผลทำให้โรคปอดรุนแรงได้ เพราะ ACE2 มีข้อดีในการลดปฏิกิริยาการอักเสบต่างๆของร่างกาย
“รศ.พญ.ธนันดา ตระการวนิช” อายุรแพทย์โรคไต และ ที่ปรึกษาอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย อธิบายว่า เมื่อเกิดการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจมีผลทำให้เกิดโรคไตวายเฉียบพลันได้ โดยพบได้ร้อยละ 0.5-56.9 โดยจะพบได้ภายใน 1-2 สัปดาห์แรกหลังรับตัวไว้ในโรงพยาบาล ร้อยละ 30 จะเกิดไตวายเฉียบพลันจนต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต และสัมพันธ์กับอัตราตายที่เพิ่มขึ้น
สาเหตุที่ผู้ป่วยโควิด -19 เกิดไตวายเฉียบพลันเป็นผลจากการอักเสบของปอด รวมทั้งการติดเชื้อในร่างกายส่งผลให้เกิดการสร้างสารที่ก่อการอักเสบ รวมทั้งมีปริมาณเลือดไปเลี้ยงไตลดลง โรคโควิด -19 ทำให้เกิดภาวะ “พายุไซโตโคน์” ทำให้อวัยวะต่างๆถูกทำลาย มีภาวะลิ่มเลือดอุดตามหลอดเลือดที่ร่างกาย เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจมีผลต่อเซลล์ไตโดยตรง ทำให้เกิดโปรตีนและเม็ดเลือดแดงรั่วในปัสสาวะและไตวายเฉียบพลันได้
สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไตอยู่เป็นประจำ ผู้ป่วยปลูกถ่ายไต ต้องรับประทานยากดภูมิอย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งการรักษาโรคโควิด-19 ยากลุ่มนี้อาจมีปฏิกิริยากับยากดภูมิด้วย ซึ่งอาจต้องลดระดับยาลงทำให้เกิดปัญหากับไตได้ ผู้ที่เป็นโรคไตอยู่แล้วจึงมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)มีผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายลงทะเบียนรับการรักษารวม 64,639 ราย ใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวน 9,720 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น หากคนไทยทุกคนลดการบริโภคเค็มลง จะช่วยให้จำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลดลง รวมทั้งผู้ป่วยโรคความดัน หัวใจ และโรคหลอดเลือดลดลงอีกด้วย ช่วยประหยัดด้านงบประมาณให้กับประเทศประมาณ 7-8 พันล้านบาท