ธปท.ชี้ “เอ็นพีแอล”ปี 64 ไหลต่อ จับตาหนี้เกือบเสีย พุ่ง2เท่า

ธปท.ชี้ “เอ็นพีแอล”ปี 64 ไหลต่อ  จับตาหนี้เกือบเสีย พุ่ง2เท่า

ธปท.ชี้แนวโน้มหนี้เสียปีนี้จ่อเพิ่มไม่หยุดจากลูกหนี้ที่เข้าไปช่วยเหลือไม่ได้ ขณะที่ธุรกิจโรงแรมพอร์ตรวม 4 แสนล้านบาทยังต้องอุ้มต่อ ขณะที่เอ็นพีแอลปี 2563 เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 3.12% หลังเอสเอ็มอีรายย่อย-กลางมีปัญหาชำระหนี้พุ่ง


     นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ปี 2563 ว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลปี 2563 โดยรวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.233 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.12% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 ที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับ 2.98%

       โดยหนี้เสียส่วนใหญ่ เพิ่มขึ้นในกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีสายป่านสั้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มียอดสินเชื่อต่ำกว่า 500 ล้านบาท ที่ล่าสุดหนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาอยู่ที่ 6.84% หากเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้าที่อยู่เพียง 6.22% กลุ่มนี้ทางการเป็นห่วงมากที่สุด ซึ่งส่งผลให้หนี้เสียของธุรกิจเอสเอ็มอีโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.23% จาก 3.01% ในปีก่อนหน้า

     ขณะที่ธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อเกิน 500 ล้านบาทขึ้นไปหนี้เสียก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันมาอยู่ที่ 2.58% จาก 2.08%

    กลุ่มอุปโภคบริโภคลดสวนทาง

     นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า หนี้เสียในกลุ่มอุปโภคบริโภค ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.84% จาก 2.90% ในปีก่อนหน้า หลังธนาคารพาณิชย์เข้าไปบริหารจัดการหนี้เสียได้ค่อนข้างดี และมีการให้การช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆส่งผลให้หนี้เสียกลุ่มนี้ชะลอตัว

     นอกจากนี้หากดูสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม หรือ stage 2 พบว่า กลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่า มาอยู่ที่ 6.62% หากเทียบกับปีก่อนหน้าที่อยู่เพียง 2.79% ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าหากธนาคารพาณิชย์มีการช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ลูกหนี้จะไม่ไหลไปเป็นหนี้เสีย และอาจมีสถานะดีขึ้นไปอยู่ในกลุ่มสินเชื่อปกติได้

     ดังนั้นต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง และพยายามให้ธนาคารพาณิชย์มีการให้การช่วยเหลือลูกหนี้ต่อไป

คาดหนี้เสียปี64เพิ่มต่อเนื่อง

    อย่างไรก็ตามคาดการณ์แนวโน้มหนี้เสียปี 2564 เท่าที่ติดตามจากธนาคารพาณิชย์ คาดว่าหนี้เสียมีโอกาสทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อในปีนี้ หากเทียบกับปีก่อนหน้า จากกลุ่มที่ช่วยเหลือไม่ได้ แต่คาดว่าหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์ ไม่น่าจะปรับตัวขึ้นแรง จากการผิดนัดชำระหนี้ที่ปรับตัวขึ้นจำนวนมาก หรือ Cliff effect แต่หนี้เสียจะทยอยเพิ่มขึ้น และยังอยู่ในวิสัยที่ธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการได้

     กลุ่มที่น่าห่วงที่สุด คือกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และเกี่ยวเนื่อง ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 100% ที่ยังเป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุด แต่อย่างไรก็ตามพบว่ามีบางธุรกิจโรงแรมเริ่มกลับมาชำระหนี้ได้บ้าง สำหรับธุรกิจโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวในประเทศที่เริ่มเห็นปัญหาลดลง

อุ้มต่อธุรกิจโรงแรม4แสนล้าน

     ทั้งนี้หากพิจารณาพอร์ตสินเชื่อธุรกิจโรงแรมในปัจจุบันที่อยู่ในระบบของธนาคารพาณิชย์พบว่า มียอดหนี้ราว 4 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่ยังต้องการการช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ต่อไป

      “พอร์ตโรงแรมเป็นพอร์ตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เท่าที่เราไปคุยกับธนาคารพาณิชย์ขณะนี้มียอดหนี้รวมที่อยู่กับธนาคารพาณิชย์ราว 4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในการช่วยเหลือ แต่บางโรงแรมก็กลับมารับท่องเที่ยวได้ ทำให้เริ่มมีการกลับมาชำระหนี้ได้บ้าง จากกระแสเงินสดที่เริ่มกลับมา แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ต่อไป”

     สำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการของธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันพบว่ามีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือราว 8.37 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นยอดหนี้ราว 4.83 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ลดลง 33% หรือลดลงเมื่อเทียบกับก.ค. ที่มียอดการให้การช่วยเหลือ 12.52 ล้านบัญชี หรือยอดหนี้ราวที่ 7.19 ล้านล้านบาท โดยพบว่ากลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ปกติได้มากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์

     นางสาวสุวรรณี ยังกล่าวต่อว่า สำหรับการให้การแก้ไขพ.ร.ก.ซอฟท์โลน และโกดังเก็บหนี้ หรือแวร์เฮ้าส์ซิ่ง ปัจจุบัน ธปท.และกระทรวงการคลังกำลังเร่งหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปโดยเร็ว

  ฐานะแบงก์ยังเข้มแข็ง

    สำหรับภาพรวมผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ปี 2563 ว่า โดยรวมระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ได้

     โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2.994 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 20.1% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 7.99 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 149.2% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ หรือ LCR สูงถึงระดับ 179.6%

     ส่วนภาพรวมการเติบโตสินเชื่อของทั้งระบบ ขยายตัวเพิ่มมาอยู่ที่ 5.1% จาก 2% ซึ่งหลักๆมาจากสินเชื่อธุรกิจที่ขยายตัว 5.4% จากที่หดตัวปีก่อน 0.8% เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งกลับมาขอสินเชื่อแทนการออกตราสารหนี้ ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีหดตัว ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวลดลงเหลือ 4.6% จาก 7.5% หลังโควิด-19 กระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนให้ลดลง

    ในด้านกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยรวมอยู่ที่ 1.46 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 33.5% ที่ 2.7 แสนล้านบาท หลังกำไรจากการดำเนินงานลดลงเหลือ 4 แสนล้านบาท จาก 5 แสนล้านบาทในปีก่อนหน้า หรือลดลง 18.8% แต่หากตัดกำไรพิเศษ จากการขายกิจการ หรือเงินลงทุน ทำให้ผลประกอบการลดลงที่ 3.7% ส่วนค่าใช้จ่ายสำรองสูงขึ้น มาอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท จาก 1.63 แสนล้านบาทในปีก่อนหน้า เพื่อรองรับคุณภาพหนี้หลังโควิด-19

“เราชนะ”เงินสะพัด3.8 หมื่นล้าน

   นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ข้อมูลการใช้จ่ายเงินจากโครงการเราชนะ ณ วันที่ 22 ก.พ.2564 สำหรับประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.2564 จนถึงปัจจุบันไปแล้ว จำนวนมากกว่า 22,761 ล้านบาท

    สำหรับประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com เป็นผู้ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ ผ่านแถบ (Banner) โครงการ “เราชนะ” ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้ว

     มีจำนวนมากกว่า 14.4 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2564 จนถึงปัจจุบันไปแล้ว จำนวนมากกว่า 15,762 ล้านบาท จึงมีผู้ใช้สิทธิ์โครงการฯ รวมแล้วมากกว่า 28.1 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยไปแล้วมากกว่า 38,524 ล้านบาท ผ่านผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการรายย่อยที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ มากกว่า 1.01 ล้านกิจการ