เปิดแผนกระจาย"วัคซีนแอสตราเซนเนก้า"นำเข้าล็อตแรก

เปิดแผนกระจาย"วัคซีนแอสตราเซนเนก้า"นำเข้าล็อตแรก

แผนกระจายวัคซีนโควิด-19นำเข้า 2 ยี่ห้อ 2 ล้านโดสซิโนแวคกระจาย 18 จังหวัด ส่วนวัคซีนแอสตราฯกว่า 1 แสนโดสแรก เสริมให้กลุ่ม60ปีขึ้นไปใน 9 จ.แดง-ส้ม อนุฯอยากให้“นายกฯ”- “อนุทิน”ประเดิมเข็มแรกคนละยี่ห้อ ย้ำประชาชนได้รับตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 23 ก.พ.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19ที่จะเข้ามาถึงไทย 2 ยี่ห้อว่า ในส่วนของวัคซีนซิโนแวคเป็นตามแผนที่ศบค.พิจารณาแล้ว คือ 2 ล้านโดสจะให้ใน 18 จังหวัด ส่วนจะมีการฉีดเข็มแรกเมื่อไหร่ ก็จะต้องเป็นเร็วสุดหลังจากที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันผลการตรวจสอบวัคซีนแล้วว่ามีความปลอดภัย ซึ่งอาจจะเป็นช่วง 28 ก.พ.-1มี.ค.2564 ส่วนสถานที่จัดฉีดเข็มแรกนั้น หากจะมีการจัดเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของประเทศไทยนั้น ก็มีการเตรียมการไว้ที่สถาบันบำราศนราดูร

“ส่วนวัคซีนของแอสตราเซนเนก้าที่เป็นการผลิตในต่างประเทศซึ่งเข้ามาราว 1 แสนโดสนั้น มีแผนกระจาย โดยเสริมให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในพื้นที่สีแดงและสีส้ม 9 จังหวัด ซึ่งวัคซีนของแอสตราฯองค์การอนามัยโลกหรือฮูแนะนำว่าให้ฉีดได้ในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยจะให้ฉีดในประชาชน 50,000 คน เพราะจะให้แต่ละคนได้รับ 2 เข็มโดยให้ตามเวลาที่ห่างกันในแต่ละเข็ม”นพ.โสภณกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯจะเป็นผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรกหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯต้องการให้ผู้นำประเทศได้รับวัคซีนก่อนเพื่อสร้างความมั่นใจ อีกทั้ง นายกฯเข้าข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คือ อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป อยู่ในพื้นที่เสี่ยง และทำงานด่านหน้าในการลงพื้นที่ต่างๆ อีกทั้ง ยังแสดงความเชื่อมั่นว่าวัคซีนที่สั่งเข้ามาให้ประชาชนนั้นมีความปลอดภัยกับประชาชน ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

ต่อข้อถามนายกฯและรองนายกฯควรจะมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกคนละยี่ห้อหรือไม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่น นพ.โสภณ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯอยากเชิญเช่นนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อที่ประเทศไทยนำเข้ามานั้น ผู้บริหารระดับสูงของประเทศมั่นใจและกล้าฉีด แต่ก็เป็นไปตามความสมัครใจ โดยนายกฯสามารถฉีดของแอสตราฯได้เนื่องจากอายุมากกว่า 60 ปี และรองนายกฯอนุทิน สามารถฉีดของซิโนแวคได้ เพราะอายุไม่ถึง 60 ปี

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า ส่วนคำถามที่ว่าประชาชนต้องการฉีดต้องทำอย่างไรนั้น ขอทำความเข้าใจว่การสั่งนำเข้า 2 ยี่ห้อเข้ามาก่อนเพราะมีสถานการณ์ระบาดเกิดขึ้นในจ.สมุทรสาคร ภาคตะวันออก กรุงเทพนและปริมรฑล เพราะฉะนั้น ในการกระจายล็อตที่นำเข้านี้จะเป็นการพิจารณาตามพื้นที่เสี่ยงของสถานการณ์โรค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุมโรค ลดการป่วยเสียชีวิต ระบบสาธารณสุขเดินต่อไป และเศรษฐกิจเดินหน้าได้ด้วย และพิจารณากลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นก่อน

“การจัดสรรในระยะแรกยังไม่เพียงพอทั้งหมด ในการจัดสรรการให้วัคซีนของจังหวัดเป้าหมาย ก็จะดูจาก 1.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังซึ่งมีรายชื่ออยู่ในบัญชีสถานพยาบาลอยู่แล้ว 2.คณะกรรมการแพทย์ดูข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าใครเสี่ยงมาก ก็จะพิจารณาให้ก่อน และ3.ประชาชนเข้ามาดูจากลิสต์รายชื่อตามข้เอบ่งชี้นี้หรือได้รับการติดต่อจากรพ. โดยหากสมัครใจที่จะรับวัคซีน ก็สามารถจองเวลาได้ผ่านไลน์หมอพร้อม หรือรพ.โทรไปประสานตามรายชื่อคนไข้ หรืออสม.ไปแจ้ง เนื่องจากไม่อยากให้เป็นระบบเข้าคิวใครมาก่อนได้ก่อน แต่ให้เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ รวมถึง การพิจารณาว่าใครจะได้รับวัคซีนยี่ห้อไหนด้วยก็จะให้เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์”นพ.โสภณกล่าว

18 จ.รับวัคซีนซิโนแวค
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนกระจายวัคซีนซิโนแวค ล็อตที่ 2 อีก 8 แสนโดส กระจายให้กลุ่มเป้าหมายใน 18 จังหวัด จำนวน 707,000 โดส ได้แก่ สมุทรสาคร 60,000 โดส , กทม. (ฝั่งตะวันตก) 150,000 โดส , ปทุมธานี 64,000 โดส , นนทบุรี 64,000 โดส , สมุทรปราการ 36,000 โดส , ตาก (อ.แม่สอด) 24,000 โดส , ชลบุรี 50,000 โดส , ภูเก็ต 16,000 โดส , สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย) 16,000 โดส , เชียงใหม่ 32,000 โดส , กระบี่ 16,000 โดส , ระยอง 28,000 โดส , จันทบุรี 24,000 โดส , ตราด 24,000 โดส , นครปฐม 28,000 โดส , สมุทรสงคราม 20,000 โดส , ราชบุรี 25,000 โดส และเพชรบุรี 30,000 โดส โดยให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับโควิด 19 รวม 217,000 โดส ประชาชน 490,000 โดส และสำรองไว้สำหรับควบคุมการระบาดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 93,000 โดส

และล็อตที่ 3 อีก 1 ล้านโดส กระจายให้กลุ่มเป้าหมายใน 18 จังหวัด จำนวน 888,000 โดส ได้แก่ สมุทรสาคร 100,000 โดส , กทม. (ฝั่งตะวันตก) 200,000 โดส , ปทุมธานี 60,000 โดส , นนทบุรี 60,000 โดส , สมุทรปราการ 60,000 โดส , ตาก (อ.แม่สอด) 48,000 โดส , ชลบุรี 48,000 โดส , ภูเก็ต 48,000 โดส , สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย) 16,000 โดส , เชียงใหม่ 48,000 โดส , กระบี่ 16,000 โดส , ระยอง 32,000 โดส , จันทบุรี 24,000 โดส , ตราด 24,000 โดส , นครปฐม 32,000 โดส , สมุทรสงคราม 24,000 โดส , ราชบุรี 32,000 โดส และเพชรบุรี 16,000 โดส โดยให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับโควิด 19 รวม 62,000 โดส ประชาชน 846,000 โดส และสำรองไว้สำหรับควบคุมการระบาดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 112,000 โดส