กทม.เปิดชื่อ 10 กลุ่มเสี่ยงห้ามฉีดวัคซีน 'ซิโนเวค' ป้องกัน 'โควิด'

กทม.ลุยฉีดวัคซีนป้องกัน "โควิด" วันแรก นำร่องบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมเผยชื่อ 10 กลุ่มห้ามฉีดวัคซีน 'ซิโนเวค'

ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า พล...โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรุงเทพมหานครครั้งที่ 2/2564  โดยมีคณะอนุกรรมการทั้งหน่วยงานในสังกัด กทม.และหน่วยงานต่างสังกัด อาทิ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนโรงพยาบาลสังกัดกองทัพ ผู้แทนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ทั้งนี้ ที่ประชุมรายงานความพร้อมของการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกที่ กทม.กำหนดให้บริการฉีดวัคซีนแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่เขตติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่จำนวนมาก จำนวน 6 เขต ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน เขตหนองแขม  เขตจอมทองเขตบางแค และเขตภาษีเจริญ โดยจากการตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของผู้บริหาร กทม.เช้าวันนี้ (1 มี..) มั่นใจว่าโรงพยาบาลในสังกัด กทม.และโรงพยาบาลเอกชน 13 แห่ง ที่ร่วมให้บริการฉีดวัคซีน มีความพร้อมเกือบ 100 % แต่เนื่องจากเป็นวันแรกของการดำเนินงานจึงอาจมีอุปสรรคข้อขัดข้องบ้างเล็กน้อย ซึ่งจะสามารถแก้ไขได้ในเร็ววันนี้

161459690625

สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่ กทม.ได้รับจากรัฐบาลในระยะแรก มีจำนวน 66,000 โดส/เข็ม เป็นวัคซีนของบริษัท SINOVAC สามารถฉีดให้ประชาชนได้จำนวน 33,000 คน เนื่องจาก ต้องฉีดวัคซีนคนละ 2 โดส หรือ 2 เข็ม ในระยะเวลาห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์ โดยกลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนโควิด-19 ระยะแรก ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน กำหนดให้วัคซีนในสัปดาห์แรก เพื่อเฝ้าสังเกตอาการหากมีอาการไม่พึงประสงค์และสามารถให้การดูแลได้อย่างทันท่วงที

จากนั้นสัปดาห์ที่ 2 จะฉีดวัคซีนให้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ด้านการพยาบาลพอสมควร ซึ่งหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จะสามารถดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับวัคซีนในระยะแรก ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ประกอบด้วย 1.โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งทุกชนิด ที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด 6.โรคเบาหวาน 7.โรคอ้วน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน (อายุ 18-59 ปี)

อย่างไรก็ตาม แต่ยังมีข้อจำกัดหรือข้อห้ามของบุคคลที่ไม่สามารถรับการฉีดวัคซีน SINOVAC ได้แก่ ห้ามฉีดแก่บุคคล ดังนี้

1.มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และอายุมากกว่า 60 ปี

2.หญิงตั้งครรภ์ อยู่ระหว่างให้นมบุตรหรือหญิงที่วางแผนที่จะตั้งครรภ์ภายในระยะเวลาการฉีดวัคซีน

3.ผู้ที่เคยได้รับการถ่ายเลือด พลาสมา ผลิตภัณฑ์จากเลือด ส่วนประกอบของเลือด อิมมูโนโกลบุลิน ยาต้านไวรัส หรือแอนติบอดีสำหรับการรักษาโควิด-19 ภายใน 90 วันที่ผ่านมา

4.ผู้ที่มีอาการไม่คงที่ ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ใจสั่น

5.ผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับสมองหรือระบบประสาทอื่นๆ

6.ตรวจพบเชื้อโควิด 19 ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา

7.มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือนอนรักษาตัวและออกจากโรงพยาบาลไม่เกิน 14 วัน

8.มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

9.มีภาวะเลือดออกง่ายหรือหยุดยาก เกร็ดเลือดต่ำการแข็งตัวของเลือดผิดปกติหรือได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด

10.กำลังมีอาการป่วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น หายใจลำบาก อ่อนเพลียกล้ามเนื้อ

สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วขอให้สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการ เช่น ไม่มีแรง แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน มีไข้ หรือปวดศีรษะ ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก มีผื่นลมพิษ หรือมีอาการอื่นๆ เช่น ท้องเสียไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบพบแพทย์ ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อไป