“บีโอไอ”เฟ้นจุดแข็ง“อีอีซี” ดึงลงทุนแข่งเวียดนาม

“บีโอไอ”เฟ้นจุดแข็ง“อีอีซี” ดึงลงทุนแข่งเวียดนาม

เวียดนามที่มีรแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องเป็นที่น่าสนใจของบริษัทข้ามชาติที่จะเข้าไปลงทุน โดยแนวโน้มจีดีพีช่วงปี 2564-2568 จะขยายตัว 6.5-7.0% การลงทุนจากต่างประเทศปี 2562 มีมูลค่าถึง 16,120 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าไทยที่มีมูลค่า 4,816 ล้านดอลลาร์

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า หลังวิกฤติโควิด-19 ไทยยังคงเป็นฐานอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industries) ที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคอาเซียน และมีบทบาทสำคัญใน Global value chain แม้ว่าจะมีคู่แข่งที่มาแรงอย่างเวียดนาม แต่ด้วยจุดแข็งของไทยและการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง จะทำให้แข่งขันได้ โดยเฉพาะการมี เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มีความพร้อมเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน

ทั้งนี้ เวียดนามอาจจะมีความได้เปรียบในบางเรื่อง เช่น ต้นทุนค่าแรง ค่าที่ดินและสาธารณูปโภคที่ต่ำกว่า ความตกลงทางการค้ากับภูมิภาคต่างๆ ที่มีมากกว่าไทย แต่โดยรวมแล้วไทยมีความได้เปรียบมากกว่าเวียดนามในหลายด้าน เช่น มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม มีระบบโลจิสติกส์ที่ดี แรงงานมีคุณภาพ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ มีฐานผู้ผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่ครบวงจร สามารถต่อยอดได้ มีนิคมและเขตอุตสาหกรรมจำนวนมากพร้อมให้เลือกลงทุน และมีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจ

นอกจากนี้ ขีดความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤติโควิด-19 ซึ่งไทยทำได้ดีและควบคุมการแพร่ระบาดในวงจำกัด และไม่มีการล็อคดาวน์ที่ส่งผลกระทบให้ภาคการผลิตหยุดชะงักเหมือนหลายประเทศ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในช่วงวิกฤติยิ่งทำให้ไทยโดดเด่นมากขึ้น ในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนของบริษัทข้ามชาติใน Global value chain ซึ่งจะให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารความเสี่ยงและความต่อเนื่องของธุรกิจ

161496613139

ในขณะที่ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนมายาวนานที่สุดในภูมิภาคมากกว่า 40 ปี ซึ่งมีขีดความสามารถผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงได้รับการยอมรับ และมีความหลากหลาย ตั้งแต่ชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติกและยาง ไปจนถึงแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ควบคุมที่มีความแม่นยำสูง ใช้เทคโนโลยีที่มีความยากและซับซ้อน 

รวมถึงการผลิตวัสดุขั้นสูง เพื่อป้อนอุตสาหกรรมหลักทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกล ในช่วงหลังเริ่มขยายไปถึงกลุ่ม New S-curve เช่น อุตสาหกรรมอากาศยาน ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสนับสนุนมีทั้งบริษัทไทยและต่างชาติ โดยถ้าเป็นระดับเทียร์ 1 จะเป็นบริษัทต่างชาติ ส่วนบริษัทไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับเทียร์ 2–3 แต่ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนา ยกระดับขีดความสามารถให้สูงขึ้นมาตลอด บริษัทต่างชาติหลายรายได้เข้ามาร่วมทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยด้วย

สำหรับเทรนด์ที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นสอดคล้องกับทิศทางของไทยที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิด BCG คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 

ในส่วนของบีโอไอ นอกจากจะเน้นส่งเสริมกิจการในกลุ่มเกษตร อาหาร การแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และกิจการรีไซเคิลเป็นพิเศษแล้ว ยังจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย ประหยัดพลังงาน รวมถึงการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นด้วย

แหล่งข่าวจากนักลงทุนไทยในเวียดนาม กล่าวว่า จุดเด่นของการส่งเสริมการลงทุนของเวียดนาม คือ รัฐบาลกลางเวียดนามได้ออกสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากส่วนกลางที่มีผลทั่วประเทศ ซึ่งใช้ต้นแบบจากสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของไทยและประเทศอื่น 

รวมทั้งยังให้อำนวจรัฐบาลท้องถิ่นในจังหวัดต่าง ๆ ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนเพิ่ม เพื่อให้แต่ละจงหวัดแข่งขันกันดึงดูดการลงทุน และออกแบบสิทธิประโยชน์ให้ตรงกับจุดแข็งของพื้นที่ หรือตามความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม ทำให้นักลงทุนต่างชาติได้รับสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ สูงกว่าไทย

ขณะที่การให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของไทย มีเพียงรัฐบาลเป็นผู้ออกประกาศสิทธิประโยชน์จากส่วนกลางทั้งหมด และให้สิทธิประโยชน์ในอีอีซีสูงกว่าพื้นที่อื่นทำให้ไม่สามารถจะให้เพิ่มได้อีก ทำให้แข่งขันกับเวียดนามได้ยาก รวมทั้งยังไม่ได้กระจายอำนวจให้กับท้องถิ่นในการดึงดูดการลงทุน ทำให้ท้องถิ่นไม่ได้มีส่วนร่วมในการลงทุนภายในจังหวัด

“การที่เวียดนามให้ท้องถิ่นออกมาตรการสิทธิประโยชน์เพิ่ม ทำให้แต่ละจังหวัดให้สิทธิประโยชน์ได้ตรงความต้องการของแต่ละบริษัทที่ต้องการปลีกย่อยที่ต่างกัน ทำให้นักลงทุนได้สิทธิประโยชน์ตามต้องการ ส่วนไทยโดยเฉพาะในอีอีซีให้สิทธิประโยชน์เต็มที่แล้วทำให้เพิ่มได้ยาก จึงควรอำนวยความสะดวกในด้านอื่นเพิ่ม”

ทั้งนี้ การที่บริษัทขนาดใหญ่ยังเข้าไปลงทุนในอีอีซีน้อยเพราะขาดบุคลากรที่มีความสามารถสูง ขาดช่างเทคนิคที่เชี่ยวชาญรองรับ เพราะอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นอุตสาหกรรมชั้นสูง ทำให้ต้องการบุคลากรทักษะชั้นสูงด้วย

นอกจากนี้ แม้อีอีซีจะผลิตบุคลากรช่างเทคนิคชั้นสูงเป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนต่างชาติได้รับรู้ และที่ผ่านมาวิศวกร และช่างที่จบจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา ยังไม่สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ นักศึกษาที่จบออกมาไม่สามารถทำงานในโรงงานได้ทันที จะต้องผ่านการฝึกอบรมเพิ่ม ให้เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของไทย ซึ่งไทยควรจะร่วมกับสถาบันความร่วมมือกับต่างชาติที่มีอยู่เข้ามาผลิตบุคลากรเพื่อป้อนให้