สศช.นัดถก ททท.ปรับ'เที่ยวด้วยกัน' เล็งลดเพดานค่าห้อง ยกเลิก E-voucher
สศช.เตรียมหารือ ททท.กรุงไทย 15 มี.ค.นี้ หาทางออก "เราเที่ยวด้วยกัน" หลัง ครม.ตีกลับต่ออายุโครงการ “ดนุชา” แย้ม 2 แผนอาจลดเพดานอุดหนุนค่าห้อง ยกเลิกจ่ายอีวอยเชอร์ แลกขยายสิทธิ์จำนวนคนเข้าโครงการ ชี้ยังจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า กรณีการเสนอขอขยายระยะเวลาและเพิ่มจำนวนผู้รับสิทธิ์ "โครงการเราเที่ยวด้วยกัน" 2 ล้านสิทธิ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ได้เห็นชอบการขยายสิทธิ์และระยะเวลาในโครงการระยะที่ 3
สำหรับโครงการนี้ต้องหารือรายละเอียดให้รอบคอบ โดยเฉพาะประเด็นการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น ซึ่ง สศช.จะหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 15 มี.ค.นี้
ส่วนแนวทางในการหารือแบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่
1.การหารือกรณีดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกันต่อไปต้องดูว่ามีระบบที่ดีที่จะรองรับหรือไม่ ซึ่งต้องฟัง ททท.ที่เป็นเจ้าของโครงการ และธนาคารกรุงไทยที่เป็นหน่วยงานวางระบบ และหากมีระบบที่ยืนยันได้ว่าป้องกันการทุจริตได้และไม่ยุ่งยากเกินไป ก็อาจขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
ทั้งนี้ แนวทางที่ต้องหารือ คือ หากมีการขยายระยะเวลาเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ออกไปอาจปรับลดเพดานราคาห้องพักจากสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และภาครัฐอุดหนุนเงินให้ไม่เกิน 40% หรือ 3,000 บาท โดยอาจลดเพดานลงเหลือไม่เกินห้องละ 2,700 บาท ซึ่งเป็นสถิติที่ ททท.รายงานว่าเป็นราคาห้องเฉลี่ยที่คนไทยเข้าพักในโครงการระยะที่ 1 และ 2
โดยหากลดเพดานค่าที่พักลงเหลือในระดับราคาดังกล่าวจะทำให้จำนวนเงินที่ภาครัฐจะอุดหนุนลดลงเหลือ 1,000-2,000 บาทต่อสิทธิ์เท่านั้น ซึ่งจำนวนเงินที่ลดน้อยลงอาจทำให้ขยายจำนวนสิทธิ์ที่จะให้ประชาชนได้มากขึ้น
ส่วน E-voucher ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่จ่ายสนับสนุนการท่องเที่ยวอยู่วันละ 900 บาท ส่วนนี้อาจพิจารณายกเลิก เพราะปัจจุบันมีส่วนโครงการที่สนับสนุนการใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนที่ร้านค้าต่างๆเข้าร่วมอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการเราชนะ คนละครึ่ง และกำลังจะมีโครงการ ม.33 เรารักกันที่ประชาชนก็จะใช้การใช้จ่ายผ่านช่องทางเหล่านี้อยู่แล้ว
อมรับว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกันสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ และช่วยให้อัตราการเข้าพักของธุรกิจโรงแรมดีขึ้น จึงจำเป็นที่จะมีโครงการช่วยเหลือภาคท่องเที่ยว แต่ต้องดูให้รัดกุมไม่มีการทุจริตเหมือที่เคยเกิดขึ้น
“การท่องเที่ยวในประเทศยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องผลักดัน ซึ่งที่ผ่านมาโครงการเราเที่ยวด้วยกันทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้น แต่หากเป็นการเสนอโครงการในรูปแบบเดิม และไม่มีการแก้ช่องโหว่การทุจริตคงให้ทำต่อไปไม่ได้ ก็ต้องมาคิดกันใหม่ว่าจะเป็นโครงการในลักษณะใด ส่วนเป้าหมายของ ททท.ที่วางไว้ว่าจะทำรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศปีนี้ให้ได้ 1 ล้านล้านบาท เท่ากับปี 2562 ต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย”
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า สถานะโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ณ วันที่ 17 ก.พ.2564 ที่คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ ได้รายงานให้ ครม.รับทราบเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2564 มีประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมสำเร็จ 7.88 ล้านคน และมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 82,699 แห่ง
ทั้งนี้ ใช้สิทธิ์ในโครงการแล้ว 5.81 ล้านสิทธิ์ จากจำนวน 6 ล้านสิทธิ์ โดยไม่มีสิทธิ์คงเหลือในโครงการ แต่ประชาชนที่ลงทะเบียนได้รับสิทธิ์แล้วยังสามารถใช้สิทธิ์ได้ถึงวันที่ 31 พ.ค.2564 โดยมีการใช้จ่ายในโครงการรวม 23,800 ล้านบาท จ่ายโดยประชาชน 14,280 ล้านบาท รัฐสนับสนุน 9,100 ล้านบาท
มูลค่าห้องพักที่มีประชาชนจองใช้สิทธิ์ไป 15,300 ล้านบาท ประชาชนจ่ายเงิน 9,430 ล้านบาท และรัฐสนับสนุนค่าห้องพัก 5,800 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยค่าห้องพักต่อคืนอยู่ที่ 2,723 บาท จำนวนที่พักและโรงแรมที่เข้าพักและที่จองรวม 5,790 แห่ง สำหรับสิทธิ์ E-Voucher มีผู้ลงทะเบียนและได้รับสิทธิ์ 1.28 ล้านราย มูลค่าการใช้จ่ายของประชาชนอยู่ที่ 7,030 ล้านบาท
ส่วนสิทธิ์บัตรโดยสารเครื่องบินมีผู้ได้รับสิทธิ์สนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน 4.6 แสนสิทธิ์ (จากจำนวน 2 ล้านสิทธิ์) มูลค่าการใช้จ่าย 1,250 ล้านบาท จ่ายโดยประชาชน 830 ล้านบาท รัฐสนับสนุน 430 ล้านบาท มีจำนวนการเดินทางและผ่านการตรวจสอบแล้ว 2.5 แสน Booking คงเหลือสิทธิ์คาตั๋วเครื่องบิน 1.33 พันสิทธิ์ โดยมีผู้ที่ลงทะเบียนและได้รับสิทธิ์บัตรโดยสารเครื่องบินแล้ว แต่ไม่สามารถเดินทางได้เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางของภาครัฐ จึงขอคืนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินและได้รับเงินคืนแล้ว 1.85 แสนราย