ดัน 'ดิจิทัล' หลอมรวม 'พลังงานไฟฟ้า' ปลุกอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
'ชไนเดอร์' เปิดแนวคิด ดึง 'ดิจิทัล' หลอมรวม 'พลังงานไฟฟ้า' ชี้โควิดเป็นเสมือนเสียงเรียกที่ปลุกให้เราตระหนักมากขึ้น และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
การแพร่ระบาดเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของเราและโลกที่แวดล้อมเราตลอดกาล เราทุกคนต่างมีมุมมองต่อสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไป เพราะภัยจากปรากฏการณ์ธรรมชาติกลายเป็นเรื่องที่สัมผัสได้ชัดเจนมากขึ้นทุกวัน ความเป็นสังคมเมืองและโลกาภิวัฒน์ ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัส ทั้งยังเกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้น
“ปีเตอร์ เฮอร์เว็ค” รองประธานบริหาร ฝ่ายออโตเมชั่นสำหรับอุตสาหกรรม ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวว่า แม้เราต้องการมุ่งเน้นที่ปัญหาท้าทายในปัจจุบัน แต่ต้องไม่ลืมความท้าทายในอนาคตด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดมาโดยตลอด ผู้คนจำนวนเกือบหนึ่งในสามของโลกกำลังมองว่าปัญหาดังกล่าว เป็นความเร่งด่วนระดับโลกในตอนนี้ ซึ่งไม่สามารถละเลยได้อีกต่อไป
“เราเป็นคนรุ่นที่แก้ไขสิ่งต่างๆ ได้มากที่สุด จริงๆแล้วเราอาจเป็นคนรุ่นสุดท้าย ที่เปลี่ยนอนาคตและทำสิ่งที่ถูกต้อง หน้าที่เรา คือ ใช้ความรู้และเครื่องมือที่มีอยู่รอบตัว นำพาเราไปสู่การต่อสู้ เพื่อทำให้สภาพภูมิอากาศมีความเสถียรมากที่สุด เครื่องมือเหล่านี้ประกอบด้วย เทคโนโลยีใหม่ที่นำเราไปสู่ความยืดหยุ่นได้มั่นคงยิ่งขึ้น หัวใจหลักสองประการที่ช่วยแก้สถานการณ์ที่ยากลำบาก คือ เทคโนโลยีดิจิทัล และพลังงานไฟฟ้า”
อนาคตที่ไร้ขีดจำกัดอย่างแท้จริง
นวัตกรรมที่โดดเด่นมากที่สุด ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงมนุษยชาติ คือ เทคโนโลยีดิจิทัล ปฐมบทแรกของอินเทอร์เน็ต คือ เรื่องเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระหว่างผู้คน ส่วนบทต่อไปจะเป็นเรื่องการปฏิวัติแนวทางใช้ชีวิต และการเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมของเรา ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างแมชชีนด้วยกันเอง และระหว่างมนุษย์กับแมชชีน
"ความเป็นไปได้ในเรื่องเหล่านี้มาจากการผสมผสานที่ลงตัวของ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือไอโอที ซึ่งเชื่อมทุกสิ่งรอบตัว และบิ๊กดาต้าเป็นการเก็บและรวบรวม อีกทั้งวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อเปลี่ยนเป็นมุมมองเชิงลึกที่สำคัญ วันนี้ ความสามารถฝึกฝนแมชชีน และใช้อัลกอริธึมช่วยให้ข้อมูลทั้งหมดมีความหมาย กลายเป็นความสามารถที่ไร้ขีดจำกัดอย่างแท้จริง"
การเปลี่ยนกระบวนการสู่ดิจิทัล สร้างอนาคตที่เป็นการดำรงชีวิตโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง พร้อมด้วยบ้านอัจฉริยะ อาคารอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ ระบบโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ และเมืองอัจฉริยะ นวัตกรรมเหล่านี้ล้วนใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีส์ดิจิทัล มาช่วยให้เราแบ่งปันและอนุรักษ์ทรัพยากรที่เราใช้กันอยู่ได้ดียิ่งขึ้น
เทคโนโลยีอันดับสอง คือ พลังงานไฟฟ้าสีเขียว (green electricity) ให้คิดถึงเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ไมโครกริด อาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero building) และยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ พลังงานไฟฟ้า เป็นหนทางเดียวช่วยให้ใช้พลังงานได้แบบปลอดคาร์บอน ดังนั้นจึงควรเตรียมพร้อมสำหรับโลกที่เป็นระบบไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่จะมุ่งไปไม่ใช่พลังงานไฟฟ้าเหมือนแต่ก่อน แต่จะเป็นพลังงานไฟฟ้าทดแทน นั่นคือ อนาคตสีเขียว
ขั้นตอนสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืน
การไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้ตามต้องการ ชไนเดอร์ฯ เห็นตัวแปรที่เรียบง่าย 4 ประการ คือ 1. ดิจิทัล การนำดิจิทัลมาใช้ ไม่ว่าจะใช้กับอาคารอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ หรือเมืองอัจฉริยะในทุกที่ ช่วยให้เราบรรลุการเปลี่ยนแปลงเรื่องประสิทธิภาพจากจุดที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันได้ 2. การหมุนเวียน สร้างความมั่นใจว่าทุกสิ่งที่เราทำเป็นการปลูกฝังเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
3.ไฟฟ้า อีกไม่กี่ปีที่จะถึงนี้ สัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าในทุกเรื่องจะขยายเพิ่มเป็นสองเท่า โดยอีก 20 ปี คาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าคือ 40% 4. สามารถทดแทนได้ ปัจจุบัน พลังงานไฟฟ้าทดแทนได้ 6% โดยในอีกไม่ช้า จะสามารถทดแทนได้ 40%
ความยั่งยืน สร้างความยืดหยุ่น
“โควิด-19 อาจจะเปลี่ยนจุดมุ่งเน้นของเรา แต่ก็ช่วยย้ำให้เราเห็นถึงความจำเป็น ในการปรับเปลี่ยนและสร้างความคล่องตัว โควิดเป็นเสมือนเสียงเรียกที่ปลุกให้เราตระหนักมากขึ้น และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว"
สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าใช้พลังงานจากที่ไหนและใช้อย่างไร พลังงานสูญหายหรือเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ที่ไหนและอย่างไรเช่นกัน ประเด็นนี้ จึงทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ ระบบเซ็นเซอร์ช่วยมอนิเตอร์เรื่องประสิทธิภาพ ซอฟต์แวร์ที่เชื่อมงานส่วนปฏิบัติการเข้ากับระบบไอที ระบบออโตเมชั่นและการวิเคราะห์จะช่วยให้องค์กรและบุคคลทั่วไปสามารถบริหารจัดการและใช้สภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมไม่ว่าจะที่ทำงานหรือที่บ้านก็ตาม
“ข่าวดีก็คือเรามีเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรจะตอบรับและนำมาใช้งานเพื่อการันตีเรื่องความยั่งยืนในอนาคตหรือไม่” ผู้บริหารชไนเดอร์ กล่าว