'เจโทร' ชี้บริษัทญี่ปุ่นในไทย เมินโควิดลุยธุรกิจเพิ่ม 400 ราย

 'เจโทร' ชี้บริษัทญี่ปุ่นในไทย เมินโควิดลุยธุรกิจเพิ่ม 400 ราย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการขยายธุรกิจในหลายภาคส่วน แต่สำหรับในประเทศ พบว่า กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น ยังคงให้ความสำคัญขยายการลงทุนในประเทศไทย

การเคลื่อนไหวการลงทุนของธุรกิจการค้าจากต่างประเทศนับเป็นดัชนีชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างหนึ่ง ล่าสุด องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) สำนักงานกรุงเทพฯ เปิดเผย ”ผลการสำรวจแนวโน้มการลงทุนของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำปี พ.ศ 2563” จากการสำรวจเมื่อ 5 ต.ค. 2563 ถึง 12มี.ค. 2564 พบว่า ทิศทางการลงทุนของธุรกิจญี่ปุ่นในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

ทาเคทานิ อัทสึชิ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า การสำรวจแนวโน้มการลงทุนฯปีนี้นับเป็นครั้งที่ 4หลังจากทำการสำรวจเมื่อ 3 ปีก่อน หรือ ปี2560  ซึ่งขณะนั้นมีการประกอบธุรกิจญี่ปุ่นในไทย จำนวน 5,444 บริษัท แต่ในการสำรวจปีนี้ พบว่ามีเพิ่มขึ้นที่ 5,856 บริษัท หรือ เพิ่มขึ้น 412 บริษัท 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาสัดส่วนของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า อันดับ 1  คือ อุตสาหกรรมการผลิต  จำนวน 2,344 บริษัท อันดับ 2  คือ การค้าส่งและการค้าปลีก  จำนวน 1,486 บริษัท และอันดับ 3  การบริการ จำนวน   1,017 บริษัท 

สำหรับธุรกิจบริการผลสำรวจครั้งนี้ชี้ว่า เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ถึง 121 บริษัทเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าที่มีจำนวน  896 บริษัท และเพิ่มเป็น 1,017 บริษัท จึงนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ทำการสำรวจที่จำนวนบริษัทจากกลุ่มธุรกิจบริการทะลุ 1,000 บริษัท 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนอุตสาหกรรมภาคการผลิตพบว่าไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงนักเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าที่ 2,346 บริษัท ลดลงเหลือ 2,344 บริษัท และในอุตสาหกรรมการค้าส่งและการค้าปลีก จากการสำรวจครั้งก่อนหน้ามีจำนวน 1,360 บริษัทเพิ่มขึ้นมา 126 บริษัท เป็น 1,486 บริษัท

161701660211

แม้ว่าจะตกอยู่ภายใต้ความยากลำบากอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทยยังคงเพิ่มจำนวนมากกว่า 400 บริษัท และมีบริษัทที่ยังดำเนินกิจการต่อไปได้อยู่ถึง 5,856 บริษัท ทำให้ผมรู้สึกมั่นใจเป็นอย่างมาก เจโทร กรุงเทพฯ ยังคงสนับสนุนการลงทุนของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างแข็งขัน เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ไทยและญี่ปุ่น”

ส่วนประเภทธุรกิจอื่นที่พบว่ามีสัดส่วนการขยายตัวสูงในการสำรวจครั้งนี้ ได้แก่ ซักรีด ซาลอน ร้านเสริมสาย โรงอาบน้ำ จำนวนเพิ่มขึ้น 15 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 93.8% อสังหาริมทรัพย์ การเช่าและให้เช่า เพิ่มขึ้น 88 บริษัท สัดส่วน 88% 

นอกจากนี้ รายงานผลสำรวจยังได้จำแนกขนาดบริษัทพบว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ 47.6% ของทั้งหมด ขณะที่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมรวมถึงบุคคลธรรมดามีสัดส่วนรวมกันถึง 52.4% ของทั้งหมด มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า50%ต่อเนื่องจากการสำรวจครั้งก่อน และเมื่อเปรียบเทียบไปก่อนหน้านี้สัดส่วนธุรกิจขนาดใหญ่จะมีมากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก โดยปี2557 สัดส่วนธุรกิจขนาดใหญ่มีมากถึง 50.5% 

161702001160

สำหรับการกำหนดเป็นขนาดของธุรกิจขนาดกลางและย่อม ตามเงื่อนไขดังนี้ อุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมอื่นๆ คือมีเงินทุนจดทะเบียนไม่เกิน 300 ล้านเยน หรือมีพนักงานไม่เกิน 300 คน ,อุตสาหกรรมการค้าส่ง  คือมีเงินทุนจดทะเบียนไม่เกิน 100 ล้านเยน หรือมีพนักงานไม่เกิน 100 คน และอุตสาหกรรมการบริการ คือมีเงินทุนจดทะเบียนไม่เกิน 50 ล้านเยน หรือมีพนักงานไม่เกิน 100 คน

ด้านพื้นที่ตั้งของธุรกิจญี่ปุ่นในไทยผลสำรวจยังเผยอีกว่า สัดส่วนของบริษัทจำแนกตามที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ พบว่ามีการกระจุกตัวอยู่ในกรุงทพฯ และเขตปริมณฑลเป็นหลักซึ่งจำนวนบริษัทที่ตั้งอยู่ใน 10 จังหวัด สัดส่วน 95% อาทิ  กรุงเทพ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นนทบุรี โดยจังหวัดที่มีธุรกิจญี่ปุ่นตั้งอยู่สูงสุด 3อันดับแรกคือ กรุงเทพสัดส่วน 53.1% ชลบุรี สัดส่วน 12.2% สมุทรปราการ สัดส่วน 10.5%