'กองทัพเมียนมา'เสนอหยุดยิงจับตาจุดยืนมนุษยธรรมไทย
สถานการณ์การเมืองในเมียนมายังไม่ทราบว่าจะยุติลงที่ใด เมื่อโลกจับตามเมียนมา ไทยในฐานะเพื่อนบ้านหนีไม่พ้นต้องเข้าไปอยู่ในสายตาชาวโลกด้วย กรุงเทพธุรกิจพูดคุยกับนักวิชาการถึงวิธีการที่ดีที่สุดที่ไทยทำได้ในขณะนี้
สถานการณ์การเมืองในเมียนมายังไม่ทราบว่าจะยุติลงที่ใด เมื่อโลกจับตาเมียนมา ไทยในฐานะเพื่อนบ้านหนีไม่พ้นต้องเข้าไปอยู่ในสายตาชาวโลกด้วย ยิ่งเมื่อสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ไทยผลักดันชาวกะเหรี่ยงหนีการปราบปรามของรัฐบาลกลับไปฝั่งเมียนมา กรุงเทพธุรกิจพูดคุยกับนักวิชาการถึงวิธีการที่ดีที่สุดที่ไทยทำได้ในขณะนี้
สุภลักษณ์ กาญจนะขุนดี นักวิจัยอิสระ อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กล่าวว่า กรณีนี้ไทยหนีไม่พ้นต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องท่าทีที่ไม่เหมาะสม ประเด็นอยู่ที่วิธีปฏิบัติของไทยไม่ค่อยเป็นมิตรกับกลุ่มชาติพันธุ์สักเท่าใด สมัยก่อนเมื่อมีเหตุรุนแรงคนกะเหรี่ยงเคยเข้ามาไทยระยะหนึ่ง เมื่อสถานการณ์สงบแล้วก็กลับไป
“ปัญหาของรัฐบาลไทยคือกลัวว่าคนเหล่านี้จะกลายเป็นผู้อพยพ เป็นผู้ลี้ภัยตามนิยามของสหประชาชาติ ก็เลยพยายามไม่รับรู้ ไม่อนุญาตให้ตั้งศูนย์พักพิงอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่ไทยตั้งศูนย์พักพิงให้กลุ่มชาติพันธุ์มาหลายสิบปีแล้ว ส่งกลับไปหลายพันคนแต่ก็ยังเหลืออีก 8 หมื่นกว่าคน จึงไม่อยากรับระลอกใหม่อีก อาจรับแบบไม่เต็มใจให้อยู่แป๊บๆ หรือไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็ไล่กลับไป ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ก็ไม่ค่อยเหมาะสม ไม่ใช่เพื่อนบ้านที่เป็นมิตร”
สุภลักษณ์เสนอว่า ถ้าจะแสดงความอารีกับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องแค่นี้น่าจะทำได้ เพราะไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแค่ต้องหาพื้นที่ให้ โดยมีองค์การต่างๆ คอยดูแล เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งประชาชาติ (UNHCR) กาชาดสากล แพทย์ไร้พรมแดน
ส่วนข้ออ้างเรื่องกลัวผู้ลี้ภัยนำโควิด-19 เข้ามา สุภลักษณ์กล่าวว่า ถ้าไทยไม่รับหรือไม่จัดการเขาก็หนีเข้ามาอยู่ดีเพราะเขาเดือดร้อนซึ่งจะยากเข้าไปใหญ่เพราะคุมไม่ได้ สู้นำเข้ามาอย่างเป็นระบบ จัดการตรวจโรค ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง หาข้าวหาน้ำให้กิน หาหมอพยาบาลให้พร้อม ก็จะลดการระบาดได้ จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องทำเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง กระตือรือร้นและทำอย่างเป็นระบบ ก็จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศเอื้ออารีอย่างที่คุย
สุภลักษณ์กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในเมียนมายังไม่จบง่ายๆ แค่เริ่มต้นวงจรใหม่ ตราบใดที่ทหารเมียนมาไม่เลิกควบคุมการเมืองและสันติภาพยังไม่เกิดขึ้นก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ แต่รอบนี้อาจจะไม่นานเหมือนรอบก่อนเพราะคนสนใจปัญหาเมียนมามาก
ส่วนความคาดหวังของเพื่อนบ้านอาเซียนต่อไทย รวมถึงความคาดหวังของไทยต่ออาเซียนในกรณีเมียนมา อดีตสื่อมวลชนรายนี้กล่าวว่า จริงๆ แล้วประเทศอาเซียนหวังซึ่งกันและกันไม่ได้อยู่แล้ว มากที่สุดคือให้เข้าไปดูแลช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากในเมียนมา เป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่จะหวังให้อาเซียนไปขับไล่รัฐบาลทหารนั้นเป็นไปไม่ได้
“ก็หนีไม่พ้นต้องยอมรับรัฐบาลทหาร ถ้ารัฐบาลทหารคุมอำนาจได้ ต้องเอาความเป็นจริงเป็นตัวกำหนด” หมายความว่า การสนับสนุนรัฐบาลคู่ขนานไม่เป็นจริง เพราะยังไม่มีรัฐบาลที่แท้จริง ไม่มีประเทศจะอยู่ ไม่มีกองกำลัง ปฏิบัตินโยบายไม่ได้ ไม่มีสภาพเป็นรัฐ แต่กองทัพสามารถออกกฎหมายและปฏิบัตินโยบายได้ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องคุยกับรัฐบาลทหารหาวิธียุติความขัดแย้ง
ประเทศที่จะเป็นความหวังพอจะช่วยผลักดันเมียนมาได้ สุภลักษณ์ย้ำว่า 1.จีน ในฐานะคู่ค้าอันดับ 1 เข้าไปลงทุนในเมียนมาเป็นอันดับ 2 และมีอิทธิพลทางการเมืองสูงมาก ไม่ว่าจีนทำอะไรรัฐบาลเมียนมาต้องเกรงใจ 2. ไทย เนื่องจากมีชายแดนติดกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีมายาวนาน มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมาย ไทยพูดอะไรเมียนมาก็ต้องรับฟัง จึงมีความชอบธรรมมากในการพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมา 3. สิงคโปร์ เป็นนักลงทุนอันดับ 1 ถ้าไม่ทำอะไรเลยเงินก็จะสูญ 4. อินโดนีเซีย ตอนนี้เป็นผู้นำอาเซียน ขยันขันแข็งและกระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาเมียนมา 5. ญี่ปุ่น เคยเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มาแล้ว ไทยสมควรร่วมมือกับญี่ปุ่น
ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันที่ 1 เม.ย. มีนัยสำคัญคือ ถ้าไม่มีรัฐประหารจะเป็นวันที่รัฐบาลเก่าสิ้นวาระ รัฐบาลใหม่ทำงานเต็มตัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือวานนี้
คณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาเมียนมา (CRPH) ที่ฝ่าย NLD (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ตั้งขึ้นประกอบด้วย ส.ส.จากการเลือกตั้งทั้งในสภาสูง สภาล่าง ประกาศตัวเป็นรัฐบาลชุดใหม่เป็นรัฐบาลปรองดองที่มีสัดส่วนตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์รวมอยู่ด้วย และให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม “ขบวนการอารยะขัดขืน” (CDM) ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ฉาน กะฉิ่นประกาศสนับสนุนผู้ประท้วงอยู่แล้ว พร้อมเป็นที่พักพิงให้ผู้ประท้วง
"ล่าสุด มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการใช้กำลังทางอากาศกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ฉาน กะฉิ่น จึงอาจจะลำบาก และมีแนวโน้มมีผู้ลี้ภัยมาเพิ่มในส่วนของกะเหรี่ยงและฉานที่อยู่ใกล้กับไทย"
แต่รัฐบาลทหารเมียนมาเสนอหยุดยิง 1 เดือน ระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. ผศ.ดร.นฤมล มองว่า ถ้าประกาศหยุดยิงรัฐบาลน่าจะไม่ใช้กำลังทางอากาศ อาจเป็นผลจากบทบาทของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลทหารระบุว่า การหยุดยิงครั้งนี้ไม่มีผลกับ “กิจกรรมทุกรูปแบบที่มีผลต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของรัฐ ตลอดจนความราบรื่นในการบริหารกิจการแผ่นดิน” ซึ่งหมายถึงการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ชี้ว่ารัฐบาลทหารเมียนมากังวลกับกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่ากลุ่มต่อต้าน น่าจะเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติของสหประชาชาติ
"เมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศหยุดยิง ไม่ใช้กำลังทางอากาศโจมตีฉาน กะเหรี่ยง กะฉิ่น คนเหล่านี้ก็อาจไม่จำเป็นต้องข้ามแดนมา 1 เดือนนี้ mediator คงต้องเจรจา แสดงว่าเมียนมายอมผ่อนปรนบางระดับเพื่อเจรจา แต่ฝ่าย NLD โดย CRPH ไม่ทราบว่าจะเจรจาด้วยหรือไม่ 1 เม.ย.คือวันที่ต่างฝ่ายต่างเคลื่อน โดยที่ยังยึดถือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 จึงต้องจับตาดูว่าใน 1 เดือนนี้จะเกิดอะไรขึ้น" นักวิชาการจากจุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย