'ปิยบุตร' ชี้ ญัตติแก้รัฐธรรมนูญของ 'พปชร.' เพื่อประโยชน์ตัวเอง
'ปิยบุตร' เผยเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สร้างนวัตกรรมถ่วงดุล ทหาร-ศาล หวังใช้เวทีรณรงค์6เดือนขยายความคิด ซัด ญัตติแก้รัฐธรรมนูญของ พปชร. ทำเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวในหัวข้อโละ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และ ล้าง มรดกรัฐประหาร : หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย บนเวทีกิจกรรม ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถึงข้อเสนอที่ต้องการให้แก้ไขและปรับปรุงในรัฐธรรมนูญ ว่า 1. ให้มีผู้ตรวจการกองทัพ โดยมี ส.ส.ซีกรัฐบาลและซีกฝ่ายค้านอย่างละครึ่ง นอกจากนั้นจะให้ผู้ตรวจการดังกล่าวเข้าไปมีตำแหน่งในสภากลาโหม โดยตำแหน่งเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล และมีโอกาสตรวจสอบกองทัพ การใช้งบประมาณจัดซื้ออาวุธ รวมถึงมีหน้าที่ตรวจสอบศาลได้ 2. เพิ่มอำนาจ ส.ส. และประชาชน สามารถเข้าชื่อเพื่อถอดถอนผู้พิพากษาศาลได้ กรณีพบการทำหน้าที่ที่ไม่ชอบและผิดกฎหมาย เช่น กรณีไม่ให้ประกันตัวบุคคล และให้สิทธิสภาฯลงมติถอดถอน โดยใช้เสียง 3 ใน 5 , 3. แก้ไขประเด็นการตรวจสอบความผิดว่าด้วยจริยธรรมหรือการละเมิดจริยธรรม ให้แต่ละองค์กรดำเนินการด้วยตนเอง ไม่ใช่ให้องค์กรอื่นดำเนินการ , 4. แก้ไขประเด็นการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตนมองว่าเจตนารมณ์คือหากมีเรื่องขัดแย้งระหว่างองค์กรว่ามีหน้าที่อย่างไร ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ไม่ใช่ให้สิทธิสมาชิกรัฐสภาใช้ตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของตนเอง, 5. เลิกใบส้ม ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
“กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ตรวจสอบจริยธรรมส.ส. เช่น กรณีของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกตรวจสอบและมีประเด็นขัดจริยธรรม ผมไม่เห็นด้วย เพราะไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย ทั้งนี้มาตรฐานจริยธรรมมีที่มาจากการยกร่างโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และบังคับใช้กับทุกองค์กร ทั้งนี้การกระทำผิดจริยธรรมไม่ใช่เรื่องเกณฑ์ทางกฎหมาย ไม่ใช่คดีอาญา คดีแพ่ง แต่การออกแบบรัฐธรรมนูญให้ไปถึงศาลฎีกาต้องพ้นตำแหน่งทางการเมืองและถูกประหารชีวิตทางการเมือง” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวถึงการล้างมรดกรัฐประหาร ว่าต้องยกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญเพราะทำให้ระบบกฎหมายมี 2 ระบบ คือ กฎหมายปกติ และคำสั่ง รวมถึงประกาศของคสช. ดังนั้นหากยกเลิกจะทำให้ประกาศหรือคำสั่งของคสช. สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงเขียนให้มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร นั้นเป็นโมฆะ เพื่อให้นำตัวคณะรัฐประหารสามารถขึ้นศาลได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วที่ประเทศตุรกี นอกจากนั้นต้องเขียนให้การต่อต้านรัฐประหารเป็นหน้าที่ของประชาชน รวมถึง ห้ามศาลรับรองการรัฐประหาร และการเขียนเนื้อหาดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นประเพณีและหลักการของรัฐธรรมนูญไทย แม้รัฐธรรมนูญจะถูกฉีกแต่หลักการดังกล่าวต้องคงไว้
“สำหรับเส้นทางแก้รัฐธรรมนูญ ที่ยกเลิกทั้งฉบับ โดยไม่มีข้อจำกัด เกิดขึ้นหลายครั้งด้วยน้ำมือของคณะรัฐประหาร ซึ่งการสร้างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง หากจะฝากความหวังกับรัฐประหาร ผมมองว่าอย่าหวัง แต่หากเขาทำ จะเกิดช่วงสูญญากาศ ผมเสนอว่าต้องมีรัฐธรรมนูญของเรา แต่หากทหารไม่ทำ ต้องมีเส้นทางคือ ประชามติที่ไม่อยู่ในกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิตามธรรมชาติของประชาชน ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีต้องรอพระราชบัญญัติประชามติบังคับใช้ และคาดว่าจะใช้เวลานานหลายปี อย่างไรก็ตามการรณรงค์รอบนี้ คือ การใช้เส้นทางที่สาม คือ ทำเท่าที่ทำได้ คือ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคพลังประชารัฐ ว่า เป็นข้อเสนอเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง หากให้แก้ไขรายมาตรา โดยไม่มีประชาชน เชื่อว่าพรรคการเมืองจะกินรวบ ดังนั้นการเริ่มรณรงค์แก้ไข เชื่อว่าอีก 6 เดือน จะมีโอกาสเผยแพร่เนื้อหาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ เพื่อเป็นวาระของสังคมเมื่อถึงเวลาจะทำให้ประเด็นดังกล่าวนำไปสู่การแก้ไขได้ อย่างไรก็ดีตนจำเป็นต้องทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากการล่าชื่อได้หลักล้าน เชื่อว่าส.ว.จะเปลี่ยนได้ แต่หากส.ว.ไม่เปลี่ยน จะทำให้การเมืองเปลี่ยน ประชาชนที่ร่วมเข้าชื่อไม่ยอมส.ว. 250 คน มาขี่คอทั้งชีวิตแน่นอน.