คลัสเตอร์ทองหล่อเจอ 'โควิดกลายพันธุ์ 'คาดระบาดหนักขึ้น 170 เท่า
สธ.หวั่นสงกรานต์ทำเจอคนติดโควิด-19 แตะหลัก 1,000 รายต่อวัน ชงเพิ่มจำนวนจ.สีแดงมากขึ้น เผยสถานบันเทิงทองหล่อเจอ "โควิดกลายพันธุ์" สายพันธุ์อังกฤษ แพร่-ติดง่ายขึ้นอีก 1.7 เท่า คาดระบาดหนักกว่าเดิม 170 เท่า เหตุหย่อนมาตรการสวนทางเชื้อที่แพร่เร็วขึ้น
เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 7 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณืโควิด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ภาพรวมโรคโควิดในประเทศไยเกิดการระบาดใหญ่อีกครั้ง แนวโน้มกำลังผู้ติดเชื้อกำลังกระดกขึ้น โดยในส่วนของพื้นที่จ.นราธิวาส เมือมีการถอดรหัสพันธุกรรมพบว่าเป็นสายพันธุ์ตรงกับที่ระบาดอยู่ในประเทศมาเลเซีย ส่วนกรณีกลุ่มก้อนสถานบันเทิงกทม. มีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ 22 มี.ค.-6 เม.ย 2564 พบผู้ติดเชื้อแล้ว 291 ราย และอีกจำนวนมกที่รอผลแล็ป อาจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก
หวั่นเจอติดเชื้อ 1,000 รายต่อวัน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ช่วงสงกรานต์หากมาตรการไม่ดีพอ โรคก็จะระบาดทั่วประเทศ โดยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ที่คาดประมาณการว่าช่วงสงกรานต์จะเป็นอย่างไร โดยคิดจากฐานที่ผู้ติดเชื้อ 1 คนแพร่ต่อไปได้ 1.2 คน และแพร่ต่อไปได้ 2.2 คน และอยู่บนสมมติฐานว่าช่วงสงกรานต์มีการพบปะผู้คนเพิ่มมากกว่าภาวะปกติ 2,4,6,8เท่า โอกาสที่จะพบผู้ติดเชื้อวันละ 1,000 รายเกิดขึ้นแน่นอน และถ้าไม่มีการควบคุมกิจกรรมพบปะก็จะเจอผู้ติดเชื้อหลายพันรายต่อวันได้ และหากเป็นเชื้อกลายพันธ์ระบาด การแพร่เชื้อจะเร็วขึ้นกว่าปกติ 1.7 เท่า เพราะฉะนั้น ช่วงสงกรานต์เป็นช่วงที่สำคัญมาก จะหยุดโรคในระลอกนี้ได้หรือไม่
"เทศกาลสงกรานต์จะมีกิจกรรมของผู้คนและการเดินทางข้ามจังหวัดมากขึ้น อาจส่งผลให้ผู้แพร่โควิดเพิ่ม 1.3 -100 เท่า โดยเฉพาะถ้าไม่มีมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง พบเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ ทำให้การแพร่เชื้อได้เร็วกว่าเดิมมากขึ้น 1.7 เท่า หากประชาชนไม่ช่วยกันป้องกันโรค จะส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคไปทั่วประเทศ และเกิดผู้ป่วยจำนวนมากได้ ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกันลดความเสี่ยง ต้องปฏิบัติตามมาตรการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สแกนไทยชนะและใช้งานแอพพลิเคชั่นหมอชนะ" นพ.โอภาสกล่าว
เดินทางสงกรานต์เพิ่มความเสี่ยงแพร่เชื้อ
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานตื ศบค.ไม่ได้ห้ามเดินทาง แต่การเดินทางจะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ และมีโอกาสนำเชื้อจากจังหวัดหนึ่งไปสู่อีกจังหวัดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา เลือกพาหนะส่วนบุคคล หรือพาหนะสาธารณะที่ไม่แออัด ผู้ดูแล ผู้ขับขี่ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา มีการทำความสะอาดพาหนะ เดินทางสู่จุดหมายโดยไม่แวะสถานที่อื่นๆ เมื่อไปถึงปลายทางให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที หากจังหวัดนั้นๆมีระบบเฝ้าระวังด้วยการซักประวัติหรือจำเป็นต้องเข้าตรวจหาเชื้อ และเมื่อเดินทางกลับให้สังเกตอากาารตัวเอง หากพบว่าป่วยให้รับไปตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้ คณะกรรมกาารโรคติดต่อแต่ละจังหวัดสามารถออกมาตรการเพิ่มเติมของตนเองได้
คาดเพิ่มจำนวน จ.สีแดงมากขึ้น
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการแบ่งจังหวัดเสี่ยงสีแดงเบื้องต้น 5 จังหวัดตามที่เสนอเข้าศบค.ชุดเล็กที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่า ศบค.ชุดเล็กไม่ได้มีการปัดตก แต่ให้กระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวงมหาดไทยมาหารือกันเพิ่มเติม เพื่อจัดแบ่งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ภายใน1- 2 วัน อย่างไรก็ตาม จากกานหารือและเห็นตรงกันในเบื้องต้น อาจจะมีการประกาศพื้นที่สีแดงเพิ่มมากกว่าเดิม เพราะขณะนี้พบการระบาดมากขึ้นในหลายจังหวัด รวมถึง สธ.อาจจะมีข้อเสนอให้ปิดผับ บาร์ ด้วย แต่ต้องนำหารือกับกับกระทรวงมหาดไทยก่อน กระทรวงสาธารณสุขพูดคนเดียวไม่ได้
"อนุทิน-วิษณุ" รอดส่วน "ตรีนุช" เสี่ยงสูง
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า กรณีมีข่าวบุคคลในครม.ติดเชื้อและสัมผัสผู้ติดเชื้อนั้น ในกรณีที่จัดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะต้องมีปัจจัยเสี่ยงคือ อยู่ใกลชิดในระยะไม่เกิน 2 เมตร พูดคุยกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยมากกว่า 5 นาทีขึ้นไป หรืออยู่ในที่ระบายอากาศไม่ดีเกิน 15 นาที
กรณีของน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อมาแสดงความยินดีโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย จึงถือว่าท่านเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ได้เข้ารับการตรวจเชื้อแล้ว ไม่พบเชื้อ แต่จะต้อกักตัวจนครบ 14 วันแล้วตรวจหาเชื้ออีกครั้ง ส่วนบุคลที่สัมผัสใกล้ชิดรมว.ตรีนุชก่อนหน้านี้ถือว่าปลอภัย เพราะเจอในช่วงที่ท่านตรีนุชยังไม่พบเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นท่านรองนายกฯวิษณุ หรือผู้เข้าร่วมประชมคนอื่นๆ
ส่วนกรณีการติดเชื้อของนายศักดิสยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ที่ได้ร่วมงานพร้อมกับนายศักดิ์สยาม ถือว่าเป็นความเสี่ยงต่ำมาก เนื่องจากทั้ง 2 ท่านสวมหน้ากากอนามัย พูดคุยกันไม่เกิน 5 นาที อีกทั้งนายอนุทิน ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ผลการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันโรค ให้ผลที่ค่อนข้างสูง แต่ยังต้องสังเกตอาการตนเอง (Self- Observation) หลีกเลี่ยงการไปในที่มีคนจำนวนมาก การเข้าประชุมต่างๆ ที่คนไม่มากก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งไม่ต้องถึงขั้นกักตัวเนื่องจากไม่ใช่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
ทองหล่อเจอโควิดกลายพันธุ์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบปีนี้กับปีที่ผ่านมานั้น พบว่าปีที่ผ่านมาการระบาดระลอกแรก เกิดขึ้นระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. ตรงกับปีนี้ โดยปีที่แล้วระบาดนาน 2 เดือน มีผู้ป่วยทั้งสิ้นประมาณ 3 พันราย โดยวันที่พบมากที่สุด คือ 188 ราย เป็นผู้ป่วยที่กลับมาจากพิธีกรรมทางศาสนาจากอินโดนีเซีย โดยปีที่แล้วผู้ป่วยเฉลี่ยหลัก 10 ราย แต่ปีนี้ การระบาดเริ่มกลางเดือนธ.ค.2563 มาจนขณะนี้ยังไม่ยุติ กระทั่งเกิดการระบาดระลอกใหม่ เรียกว่าเป็นระลอกซ้อนระลอก ที่เกิดในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในสถานบันเทิง
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า เกิดข้องสัยว่าทำไมในสถานบันเทิงครั้งนี้ จึงมีผู้ป่วยจำนวนมาก และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เรียกว่าเป็นซูเปอร์สเปรดก็ได้ โดยเชื่อว่าเป็นเพราะในสถานบันเทิงเป็นที่อับ ปกปิด อากาศไม่ถ่ายเท ซึ่งระยะหลังมีหลักฐานว่า หากอยู่ในสถานที่ปิด โรคนี้จะแพร่กระจายได้แม้กระทั่งในอากาศ หรือการหายใจ เพราะมีหลักฐานจากการร้องเพลงในโบสถ์ที่ไม่ได้สัมผัสกันก็ติดเชื้อได้ ยิ่งมีการเล่นดนตรี ร้องเพลงเสียงดัง พูดเสียงดัง โอกาสเชื้อกระจายลอยในอากาศก็ติดได้
"แต่เมื่อหลังจากการตรวจปริมาณไวรัสในคอผู้ป่วย ก็เริ่มเห็นความผิดสังเกต เพราะปริมาณไวรัสในตัวผู้ป่วยแม้ไม่มีอาการ แต่มีปริมาณไวรัสค่อนข้างสูงมาก จากนั้นก็รีบทำการตรวจอย่างรวดเร็ว โดยใช้ตัวชี้นำตรวจจำเพาะว่าเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์พื้นบ้านของไทย โดยเมื่อตรวจก็ตกใจ เพราะผู้ป่วย 24 คนที่ตรวจ ได้เชื้อมาจากย่านทองหล่อ พบว่า เป็นสายพันธุ์ที่กลาพันธุ์ในอังกฤษ และเป็นสายพันธุ์เดียวกันทั้งหมด” ศ.นพ.ยง กล่าว
แพร่เชื้อ ติดเร็วขึ้น 1.7 เท่า
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า สายพันธุ์อังกฤษ B117 นี้ พบว่า แพร่ระบาดเร็วมาก ติดต่อกันง่าย และเร็วมากกว่าสายพันธุ์ธรรมดา 1.7 เท่า ซึ่งปี 2563 ที่ระบาดในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์ S จากนั้นก็ระบาดเป็นสายพันธุ์ L และสายพันธุ์ G ซึ่งสายพันธุ์ G ระบาดเร็วมากจึงครองโลกอยู่ขณะนี้ โดยการระบาดในระลอกที่ 2 ของไทยก็เป็นสายพันธุ์ GS ส่วนสายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์เป็น GRV ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักในยุโรป ทั้งเยอรมัน ฝรั่งเศส โดยกลับมามีระลอกที่ 3 และเริ่มมีการล็อกดาวน์กันใหม่ ส่วนในประเทศอังกฤษ แม้จะมีสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนมากที่สุดในยุโรป ทำให้ผู้ติดเชื้อใหม่ในอังกฤษลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน อัตราการเสียชีวิตก็ลดลงมาก
โอกาสระบาดมากกว่าเดิม 170 เท่า
“สายพันธุ์อังกฤษที่กลัวคือ แพร่กระจายได้เร็วมาก จึงไม่แปลกที่เห็นว่าสถานบันเทิงแพร่ได้รวดเร็วมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งคาดคะเนว่าปีนี้จะระบาดมากกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวัยเป็นหลัก 100 ราย แต่ปีที่แล้วหลัก 10 ราย ขณะเดียวกันมาตรการในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีล็อกดาวน์ มีเคอร์ฟิว มีห้ามขายเหล้า มีการปิดห้างสรรพสินค้า ปิดโรงเรียน ปิดสารพัด เลื่อนสงกรานต์ แต่มาตรการในปีนี้ห่างกัน 10 เท่า ดังนั้น เมื่อเชื้อระบาดมากกว่าเดิม 10 เท่า และมาตรการต่างๆ ลดหย่อนลง 10 เท่า โอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายก็มากกว่าเดิม 100 เท่า และเมื่อเจอสายพันธุ์อังกฤษแพร่กระจายง่ายอีกถึง 1.7 เท่า พูดง่ายๆ ความเสี่ยงก็จะเป็น 170 เท่า” ศ.นพ.ยง กล่าว
ลดการเดินทางไม่จำเป็นช่วงสงกรานต์
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ส่วนตัวกลัวว่า หลังสงกรานต์ หรือช่วงสงกรานต์โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว การติดเชื้ออาการน้อย แต่มีปริมาณไวรัสมาก และเราเดินทางไปไกลโดยไม่รู้ว่ามีไวรัสอยู่ และเมื่อกลับบ้านช่วงสงกรานต์ อาจนำเชื้อไปสู่ผู้ใหญ่ที่บ้านได้ และหากพวกท่านติดเชื้อ คนสูงวัยจะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น ปอดบวมและเสียชีวิตสูงขึ้นตามอายุ จึงเป็นห่วงมากในเรื่องการเดินทาง ยิ่งเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ดังนั้น ช่วงสงกรานต์ ขอให้ทุกคน ใครไม่มีความจำเป็นก็ลดการเคลื่อนย้ายประชากร แต่หากวางแผนล่วงหน้า จำเป็นต้องไป ต้องมีมาตรการทุกอย่างให้เคร่งครัด ตั้งแต่การออกจากบ้าน ไม่ว่าจะขึ้นรถ ไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด มีระเบียบวินัย หากทุกคนช่วยกันจะช่วยควบคุมโรคได้
"กรณีกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ 5 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงนั้น เห็นด้วย เพราะตอนนี้การระบาดในกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก และการระบาดรุ่นใหม่เกิดในคนอายุน้อย และมีจำนวนมากที่ไม่ค่อยมีอาการ หรือมีอาการน้อย จึงเป็นการยากจะรู้ว่าใครป่วยหรือไม่ป่วย"ศ.นพ.ยงกล่าว
สายพันธุ์อังกฤษวัคซีนยังเอาอยู่
ศ.นพ. ยง กล่าวว่า สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ทั่วโลกที่ต้องระวัง มี 3 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์บราซิล โดยสายพันธุ์อังกฤษแพร่ได้เร็ว แต่วัคซีนยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ส่วนความรุนแรงของโรคก็เหมือนเดิม เพียงแต่การแพร่กระจายการระบาดติดได้ง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงเหมือนเดิมหมด วัคซีนจึงยังคงมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น เมื่อถึงเวลาและคิวที่จะต้องรับวัคซีนขอให้ทุกคนรีบไปรับทันที
ศ.นพ.ยง กล่าวด้วยว่า วัคซีนโควิด 19 ขณะนี้มีประสิทธิภาพ ลดอาการรุนแรงของโรค ลดการนอนรพ.และลดการเสียชีวิตได้เกือบ 100% แต่ลดการติดเชื้อไม่ 100% ดังนั้น เมื่อฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่อาการไม่รุนแรง ซึ่งจากศึกษาในส่วนของวัคซีนซิโนแวค เมื่อฉีดเข็มที่ 1 แล้ว พบว่า 2 ใน 3 มีภูมิต้านทานวัดได้ อีก 1ใน 3 ยังต่ำ เชือว่าหลังฉีดเข็มสอง จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น แต่ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100% ดังนั้น มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง