ฟื้นปม ‘ตากใบ’ สุมพลัง ‘พลิกแต้ม’ การเมือง

ฟื้นปม ‘ตากใบ’ สุมพลัง ‘พลิกแต้ม’ การเมือง

วันนี้ "อนุกมธ.ฯตามใบ" สภาฯ จะประชุมนัดแรกเพื่อวางกรอบการทำงาน ใน บรรดา อนุกมธ.ฯ จาก 5 พรรคล้วนมีจุดยืนต่างกัน แต่ปลายทางเรื่องนี้ ดูเหมือนหมายมุ่งจุดเดียว คือ แต้มต่อในการเลือกตั้งรอบหน้า

KEY

POINTS

Key Point : 

  • คดีตากใบ ชัดเจนว่าหมดอายุความแล้ว ไม่สามารถรื้อคดีเพื่อทวงความยุติธรรมให้ "เหยื่อและญาติ" ได้อีก
  • ทว่ามีปมที่ถูกหยิบฉวย สร้างประเด็นให้เกิดแรงเหวี่ยงทางการเมืองของพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้
  • คือ การฟื้นเรื่องเอาผิด "เจ้าหน้าที่รัฐ-พนักงานสอบสวน" ที่ส่อว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณี "ดองสำนวนคดี" ไว้ และใช้แทกติกทางกฎหมาย "เป่าคดี"
  • อนุกมธ.ตากใบ ใน กมธ.กฎหมายฯ รับช่วงต่อจาก "สภาฯ" ศึกษาเรื่องนี้ เพื่อหวังถอดบทเรียน
  • ทว่ากลับแฝงนัยยทางการเมือง หวังชิงความนิยมจากคนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ที่แต่ละพรรคล้วนมีเป้าหมายที่อยากเอาชนะ คู่แข่ง และได้ตำแหน่ง สส. สมัยหน้า

แม้ “คดีการสลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส” จะยุติการดำเนินการ ด้วยเหตุ “หมดอายุความ” แต่กลับมีความพยายามที่จะยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้ง ผ่าน “สภาผู้แทนราษฎร”

ผ่านญัตติที่ “สส.” ร่วมอภิปรายถึงสาเหตุที่ทำให้ “คดีหมดอายุความ” ซึ่งถูกมองว่าเชื่อมโยงกับ “ฝ่ายบริหาร” ที่มี “พรรคเพื่อไทย” ฐานะจำเลยทางการเมืองเป็นแกนนำ

เนื่องจากต้นเรื่องของ “เหตุการณ์ตากใบ” เกิดขึ้นในสมัยที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกฯ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และปัจจุบันที่ “คดีขาดอายุความ” อยู่ในสมัยที่ “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกฯ

ฟื้นปม ‘ตากใบ’ สุมพลัง ‘พลิกแต้ม’ การเมือง

ล่าสุด ผลการพิจารณาญัตติจากสภาฯ ชงเรื่องให้ “กรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน” สภาฯ ที่มี “ทนายแวยูแฮ-กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ” สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เป็นประธาน กมธ.พิจารณา ซึ่ง กมธ.นี้ ได้ตั้งอนุ กมธ.ฯ ขึ้นมาพิจารณาเป็นกรณีเฉพาะ

โดย “อนุ กมธ.พิจารณาศึกษาผลกระทบจากกรณีคดีการสลายการชุมนุมเหตุการณ์ตากใบที่ขาดอายุความ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐ” หรือ “อนุ กมธ.ฯตากใบ” มีนัดพิจารณาครั้งแรก วันนี้ (14พ.ย. ) เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางดำเนินการของอนุ กมธ.ฯ ที่มีถูกวางกรอบทำงาน 90 วัน

ความน่าสนใจของอนุ กมธ.ฯ นี้ มีการตั้ง กมธ.ทำงาน 10 คน มาจาก 5 พรรคการเมือง ผสมกับ “คนนอก” โดยมี “ทนายแวยูแฮ” นั่งเป็นประธาน กมธ. “วรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์” สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยเป็นรองประธานคนที่หนึ่ง “กัณวีร์ สืบแสง” สส.พรรคเป็นธรรม เป็น อนุ กมธ.

ฟื้นปม ‘ตากใบ’ สุมพลัง ‘พลิกแต้ม’ การเมือง

นอกจากนั้นยังมี “รอมฎอน ปันจอร์” สส.พรรคประชาชน เป็นรองประธานคนที่สอง “อามินทร์​ มะยูโซ๊ะ” สส.นราธิวาส เขต2 พรรคพลังประชารัฐ เป็นอนุ กมธ.

 อีกทั้ง ยังมี “อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ” ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม อดีตสส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ปัจจุบันย้ายสังกัดและเชื่อมโยงอยู่กับ “พรรคกล้าธรรม” ฐานะทีมทนายฝ่ายโจทก์ “คดีตากใบ” ร่วมเป็น อนุ กมธ.ในโควตาคนนอก

ขณะที่ “จุดยืน” ของแต่ละ “ฝักฝ่าย” แน่นอนว่าแตกต่างกันไปตามสถานะ ของการ “ร่วม-ไม่ร่วม” รัฐบาล และแน่นอนว่าจะมีความสัมพันธ์ต่อ “ผลการทำงาน” ภายในอนุ กมธ.ฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสของความพยายามรื้อฟื้นความยุติธรรมให้กับ “เหยื่อความรุนแรง” ในคดีตากใบ ยังคงมีต่อเนื่อง แม้ว่า “การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ” ฐาน “คดีอาญา” จะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

ต่อเรื่องนี้ “ทนายอาดิลัน” มองว่าในประเด็นที่อนุ กมธฯ สามารถทำได้ คือ การเยียวยาให้กับผู้เสียหาย ด้วยการตามหา “เจ้าหน้าที่รัฐ-พนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับคดี” ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งยังมีระยะเวลาให้ “ตามตัว” และยังไม่หมดอายุความ ตามกรอบ 15 ปี นับจากปี2552

“เมื่อปี2552 พบข้อมูลว่า สภ.หนองจิก ดำเนินการให้สั่งยุติคดี ทำให้ไม่สามารถเอาผิดอาญาได้ จนราษฎรต้องรวมตัวเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลเอง ในช่วงเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ดังนั้นหากตรวจสอบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานสอบสวน ช่วงเวลานั้นๆ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร สถานะปัจจุบันเป็นอย่างไร สามารถทำเป็นข้อเสนอผ่านการศึกษาของอนุ กมธ.ฯ ได้” ทนายอาดิลัน ระบุไว้

อย่างไรก็ดี ในการตรวจสอบคดีตากใบก่อนหน้านี้ “กมธ.กฎหมาย” เคยตรวจสอบรายละเอียดมาแล้วรอบหนึ่ง เมื่อเดือน ต.ค. ซึ่งมีปมสงสัยต่อการขาดช่วงของการดำเนินการตามกฎหมาย

 หลังจากเกิดเหตุในปี 2547 ที่มีข้อมูลชี้ชัดว่า “ผู้เสียชีวิต” เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ “พนักงานสอบสวน” ของ สภ.หนองจิก “เก็บคดี” ไว้จนถึงปี 2552 โดยใช้แทกติกของกฎหมาย “ทำให้คดียุติลง” ซึ่งถูกมองว่าเป็นการทำหน้าที่ไม่สุจริต

ฟื้นปม ‘ตากใบ’ สุมพลัง ‘พลิกแต้ม’ การเมือง

ทว่า ในมุมของ “ปธ.อนุกมธ.ฯ -กมลศักดิ์” มองว่าการฟันธงว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ-เจ้าพนักงาน” ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เป็นการด่วนสรุป และต้องรอพิจารณาในแง่ของข้อเท็จจริงอีกครั้ง หลังจากที่ “อนุ กมธ.ฯ ตากใบ” เริ่มสตาร์ทการทำงานหลังจากวันที่ 14 พ.ย. นี้

นอกจากนั้นแล้ว ในความสัมพันธ์ของเรื่องนี้ต่อ “สงครามการเมือง” ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัจจุบัน จ.นราธิวาส ถูกแบ่งเป็น 5 เขต มี สส.จาก 4 พรรคดูแลพื้นที่ ได้แก่ เขต1(อ.ยี่งอ อ.เมืองนราธิวาส) มี “วัชระ ยาวอหะซัน” พรรครวมไทยสร้างชาติ เขต2(อ.ตากใบ อ.สุไหงโก-ลก) มี “อามินทร์ มะยูโซ๊ะ” เขต 3 (อ.แว้ง อ.สุไหงปาดี อ.เจาะไอร้อง) มี “สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ” จากพรรคพลังประชารัฐ เขต4 (อ.ระแงะ อ.สุคิริน อ.จะแนะ) มี “ซาการียา สะอิ” พรรคภูมิใจไทย และ เขต5(อ.ศรีสาคร อ.รือเสาะ อ.บาเจาะ) มี “กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ” พรรคประชาชาติ

ฟื้นปม ‘ตากใบ’ สุมพลัง ‘พลิกแต้ม’ การเมือง

การจุดประเด็น “ทวงความยุติธรรมให้กับคดีตากใบ” ปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่อมหวังผลต่อ “การเมืองพื้นที่” ที่แต่ละพรรค ต้องการชิงเสียงในพื้นที่ให้ “คน-พรรค” ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น “พรรคภูมิใจไทย-พรรคประชาชน-พรรคประชาชาติ-พรรคกล้าธรรม” ซึ่งในการเลือกตั้ง เมื่อ พ.ค. 2566 แต่ละเขตมีการขับเคี่ยว ในแต่ละเขต ที่พบว่า “ผู้ชนะ” เบอร์หนึ่ง กับ “ผู้ได้คะแนนรอง” คะแนนไม่ได้ทิ้งห่างเกินกว่าจะไม่สามารถเอาชนะกันได้

การเริ่มจุดประเด็น “ยุติธรรมสองมาตรฐาน” ภายใต้การนำของ “รัฐบาลเพื่อไทย-พรรคร่วมรัฐบาล” และการริเริ่ม “ฟ้องเอาผิด” ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นว่า “พรรค” อยู่ข้างประชาชน มากแค่ไหน

และการสะกิดด้วย เรื่อง “ความยุติธรรม” ที่เป็นปมคาใจของ พี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาต่อเนื่อง จึงหวังใจว่า การทำงานจะทำให้กลายเป็น “พลังที่ค่อยๆสะสม” เพื่อพลิกแต้มการเมือง

ทว่า พรรคไหนจะชิงแต้ม และความได้เปรียบ การทำงานของ อนุ กมธ.ฯ ตากใบ คงเป็นเวทีต่อยอด ที่พอทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น.