10 ปี ‘บิ๊กโจ๊ก’ ปะฉะดะ ‘เก้าอี้ ผบ.ตร.’ ฝันที่ไปไม่ถึง

10 ปี ‘บิ๊กโจ๊ก’ ปะฉะดะ  ‘เก้าอี้ ผบ.ตร.’ ฝันที่ไปไม่ถึง

หากพลิกปูม เส้นทางรับราชการตำรวจ บิ๊กโจ๊ก เติบโตก้าวกระโดดแซงหน้ารุ่นพี่-เพื่อนร่วมรุ่น หลังรัฐประหารปี 2557 ในฐานะคนใกล้ชิด “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" นายตำรวจอนาคตไกลกลายเป็นที่จับตา 

KEY

POINTS

  • ความขัดแย้งองค์กรตำรวจ การแต่งตั้งโยกย้าย มูลเหตุสำคัญทำให้ บิ๊กโจ๊ก ถูกจองกฐินครั้งใหญ่ จนลามไปสู่การปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โดนคำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน
  • บิ๊กโจ๊ก เจ้าของฉายา แมวเก้าชีวิต กำลังทำทุกวิถีทางให้หลุดพ้นบ่วงพันธนาการกลับมาเป็นตำรวจอีกครั้ง
  • ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ยังไม่เปิดเผยผลชี้ขาดคดี บิ๊กโจ๊ก  ท่ามกลางความอื้ออึงว่า ศาลยกฟ้องคดีคำสั่งให้ออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

จุดพลิกผัน “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล นายตำรวจผู้ได้รับฉายา “แมว 9 ชีวิต” เกิดขึ้นเมื่อ ก.ย.2566 หลังตำรวจคอมมานโดอาวุธครบมือ หน่วยปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บุกค้นบ้านพัก และแจ้งจับลูกน้อง 8 นาย กล่าวหาพัวพันกับผู้ต้องหาพนันออนไลน์ ภายใต้การนำ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

เหตุการณ์เกิดขึ้น เพียงไม่กี่วันก่อนมีการคัดเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ โดย พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ เป็น รอง ผบ.ตร. หนึ่งในแคนดิเดตที่อาวุโสสูงสุด ตาม พรบ.ตำรวจฉบับใหม่ ถูกมองเป็นคู่แข่งคนสำคัญ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.

เป็นที่มา พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ นัดสื่อมวลชนแถลงข่าว ชี้เปรี้ยงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นหนึ่งในแผนสกัด ดิสเครดิตไม่ให้ตนเอง มีชื่อเข้าชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. พร้อมกวักมือเรียกลูกน้อง 8 นายมอบตัว เดินหน้าต่อสู้คดีเต็มที่ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์

จากนั้นไม่นาน พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ถูกดำเนินคดีข้อกล่าวหามีเส้นเงินโยงกับเครือข่ายเว็บพนัน ในห้วงเวลาเดียวกัน ที่ประชุม ก.ตร. มี เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เป็นประธาน เคาะเลือก “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” เป็น ผบ.ตร. คนที่ 14

พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ตอบโต้ผ่านสื่อ โซเชียลมีเดีย กลายเป็นมหากาพย์ความขัดแย้งในองค์กรตำรวจ มีการสาวไส้กันเอง ลามไปถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็นคู่กรณี สั่นคลอนความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวงการสีกากี

ในระหว่างทางที่ศึกภายในองค์กรตำรวจแห่งชาติดำเนินอยู่ ปรากฎภาพ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ลงพื้นที่ดูแลความปลอดภัย ทักษิณ ชินวัตร จ.เชียงใหม่ รวมถึงภาพกำลังย่อตัวทักทายคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ในงานวิ่งมาราธอนที่สนามหลวง

แต่ก่อนเรื่องราวจะบานปลายใหญ่โต นายกฯเศรษฐา เรียก “บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก” ไปหย่าศึกที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนเป็นที่มาคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่สํานักนายกรัฐมนตรี และมอบหมาย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. รักษาการแทน

สถานการณ์เหมือนจบลงด้วยดี พลันที่“บิ๊กต่อ -บิ๊กโจ๊ก”จับมือโอบเอว หลังตั้งโต๊ะแถลงข่าวเคลียร์ใจกันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่สุดท้ายก็ออกมาโจมตีกันต่อนอกองค์กรตำรวจ ทั้งการขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัว กล่าวหาซื้อบ้านพักต่างประเทศ มาเป็นระยะ

จากนั้นมีการออกหมายเรียก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ถึง 3 ครั้ง หลังปฏิเสธการเข้าพบพนักงานสอบสวน จนเป็นที่มาการออกหมายจับในที่สุด และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เดินทางเข้าไปมอบตัวเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา

ก่อนเป็นที่มาคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ พร้อมลูกน้อง 4 นาย ออกจากราชการไว้ก่อน หลังจากถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง และศาลอนุมัติหมายจับคดีฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ โดยมี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการ ผบ.ตร.ลงนาม

ทำให้ “บิ๊กโจ๊ก” ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุด ยื่นฟ้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ(ก.พ.ค.ตร.)และ นายกฯ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2567 ว่า ร่วมกันให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หากพลิกปูม เส้นทางรับราชการตำรวจ ของพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ เติบโตก้าวกระโดดแซงหน้ารุ่นพี่-เพื่อนร่วมรุ่น ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 หลังได้กลายเป็นคนใกล้ชิด “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ถูกจับตานายตำรวจอนาคตไกล ได้ขยับจากรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ขึ้นรักษาการตำแหน่งผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานนายกรัฐมนตรี

จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ปี 2558 สร้างผลงานและชื่อเสียง อยู่ที่กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวเพียง 1 ปี ก็ย้ายกลับมาที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) อีกครั้ง หลังจากที่เคยสังกัดอยู่ช่วงสั้น ๆ

กลับมารอบนี้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ขึ้นชั้นเป็นผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191 สร้างผลงานด้านการอำนวยการสืบสวนจับกุมได้อย่างโดดเด่น แม้จะอยู่ในตำแหน่งนี้ไม่ถึง 1 ปี ก่อนรั้งตำแหน่งรักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เมื่อปี 2561

ในช่วงที่ชีวิตรับราชการกำลังรุ่งโรจน์ “บิ๊กโจ๊ก” กลับโดนคำสั่ง “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ขณะนั้น สั่งย้ายไปประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิม หลังเกิดกรณีรถยนต์ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ถูกลอบยิง

ไม่กี่วันต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 โอน “บิ๊กโจ๊ก” ไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ประจำปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และถูกขึ้นบัญชีบุคคลต้องได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

ช่วงเวลานั้น มีข่าวลือเกี่ยวกับ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ มากมาย เนื่องจากบัญชีสื่อออนไลน์ที่เคยเคลื่อนไหวถูกปิดไปจนสิ้น บ้านพักและเซฟเฮาส์ส่วนตัวหลายแห่งถูกค้น เงินสดหลายร้อยล้านถูกอายัดไปตรวจสอบ

ในเวลานั้น พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ใช้ชีวิตเงียบ ๆ ในชีวิตข้าราชการพลเรือนไป 2 ปีเต็ม หลังจากนั้น จึงมีคำสั่งนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ โอนกลับไปเป็นที่ปรึกษา สบ 9 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เทียบผู้ช่วย ผบ.ตร.

หลัง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องออกคำสั่งโยกย้าย แม้ต่อมาศาลปกครองจะยกฟ้อง เพราะฟ้องผิดขั้นตอนที่กฎหมายปกครองกำหนดไว้ก็ตาม

และในวันที่ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ (ยศขณะนั้น) กลับมาผงาดอีกครั้งในตำแหน่งหลักผู้ช่วย ผบ.ตร. และขยับขึ้นเป็น รอง ผบ.ตร. ในปี 2565

ในช่วง 2 ปีนี้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ สร้างผลงานคดีค้ามนุษย์หลายคดี ซึ่งรวมทั้งปฏิบัติการทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ ปราบเงินกู้นอกระบบ ทลายเครือข่ายทุนจีนสีเทา ก่อนขึ้นแท่นเป็นแคนดิเดตชิง ผบ.ตร. แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

วันที่ 13 พ.ย.2567 ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ปิดปากเงียบ ผลชี้ขาดคดี พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ โดยให้รอเจ้าของสำนวนนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาเป็นทางการ ท่ามกลางความอื้ออึงว่า ศาลยกฟ้องคดีคำสั่งให้ออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เป็นการปิดฉาก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ บนเส้นทางสายตำรวจอย่างสิ้นเชิง?