เปิดข้อเท็จจริง 'วัคซีนซิโนแวค' ประสิทธิผล 50.7%
ผอ.สถาบันวัคซีนฯแจงอีกรอบ "วัคซีนซิโนแวค"มีประสิทธิภาพ ส่วนที่อ้างมีแค่ 50.7%นั้น เป็นการทดสอบเฉพาะในบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อสูง-บ่อย ขณะที่ "วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" มีประสิทธิภาพต่อไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ ป้องกันป่วยได้ 70%
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีที่มีการออกมาระบุถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของ "วัคซีนซิโนแวค" เพียง 50.7% ขอชี้แจงว่านักวิทยาศาสตร์ติดตามประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของวัคซีนมาตลอด ในส่วนของวัคซีนซิโนแวค มีข้อที่น่าสังเกต คือ ในการวิจัยระยะ 3 นั้น ทำการศึกษาในกลุ่มบุคลากรทางด้านการแพทย์ ในประเทศบราซิลซึ่งขณะนั้นมีการระบาดอย่างรุนแรง และเมื่อเทียบข้อมูล ณ เวลานี้ ที่วัคซีนโควิด19 ที่ผ่านการทดสอบระยะ 3 หลายตัวแล้ว มีเพียงวัคซีนซิโนแวคตัวเดียวเท่านั้นที่วิจัยในกลุ่มบุคลากรทางด้านการแพทย์ ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ โอกาสต่อการสัมผัสเชื้อมากเพราะเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยที่เกิดการระบาด รวมถึง อยู่ในสถานที่ปิด หรือมีระบบการถ่ายเทอากาศ จึงแสดงผลในการป้องกันเชื้อในกลุ่มที่สัมผัสเชื้อบ่อยเสี่ยงสูงนี้ อยู่ที่ 50.7% ถือว่าผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก และเมื่อพิจารณาถึงประสิทธิผลในการป้องกันในกลุ่มผู้ติดเชื้ออาการปานกลาง อาการรุนแรงมีผล 83.7 % และป้องกันการติดเชื้อมีอาการรุนแรงอยู่ที่ 100%
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทย ที่มีการสั่งจองซื้อจำนวน 61 ล้านโดส จะส่งมอบเดือนมิ.ย.มีข้อมูลตีพิมพ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลว่ามีผลต่อไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ b.1.1.7 โดยป้องกันอาการป่วยได้ 70% ส่วนไวรัสอื่นๆที่ยังไม่มีการกลายพันธุ์นั้นการป้องกันอยู่ที่ 85 % ดังนั้นวัคซีนทั้ง 2 ตัวมีผลในการป้องกันอาการป่วยได้
"สื่อถึงคนที่วิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิผลของวัคซีนตัวนี้ ขอให้ใช้ข้อมูลทางด้านวิชาการตรงนี้ให้ครบถ้วน และพิจารณาเปรียบเทียบหลายๆ ส่วนกับวัคซีนตัวอื่นที่มีการตีพิมพ์ผลงานของวัคซีนออกมาแล้ว จะเห็นความต่าง ความเหมือน หรือความใช้การได้ของวัคซีน ดังนั้น ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนซิโนแวค ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีประสิทธิผลพอสมควรและมีประสิทธิผลมากในการป้องกันอาการรุนแรง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจ" นพ.นครกล่าว
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า ขอฝากถึงการพิจารณาเรื่องวัคซีนนั้น จำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องนี้ประกอบด้วย คือ ไม่สามารถจะมาเปรียบเทียบเฉพาะตัวเลขประสิทธิผลของวัคซีนเพียงลำพังเท่านั้น ต้องใช้ข้อมูลอื่นประกอบด้วย เช่น ผลการศึกษาระยะ 3 ที่แสดงผลของวัคซีนนั้นทำในกลุ่มประชากรใด เพราะวัคซีนบางตัวทำในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อจำนวนมาก พื้นที่มีการติดเชื้อมาก เจอเชื้อได้บ่อย ขณะที่วัคซีนบางตัวทำในกลุ่มประชากรในชุมชนทั่วไป จะเอาตัวเลขเปอร์เซ็นมาเทียบกันโดยตรงเพียงเท่านั้นไม่ได้