'โควิด19' ไม่แจ้ง-ไม่รักษา-ไม่กักตัว มีโทษจำ-ปรับ
สธ.จัดหา "Hospitel" รองรับผู้ป่วยโควิด19 กทม.-ปริมณฑลเพิ่ม 7,000 เตียง เตรียมพิจารณาโทษรพ.เอกชน 2-3แห่ง ปฏิเสธรักษา ย้ำผู้ฝ่าฝืนคำสั่งคุมโรค ไม่แจ้ง-ไม่เข้ารักษา-ไม่กักตัวผิดกฎหมาย มีโทษจำ-ปรับ เปิดจอง "วัคซีนทางเลือก" ทำไม่ได้ เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องออกคำสั่งให้ผู้ติดโควิด 19 เฝ้าสังเกตอาการตัวเองอยู่ที่บ้าน ขณะนี้สถานพยาบาลยังเพียงพอ ยืนยันว่านโยบายจึงให้ผู้ติดเชื้อทุกรายต้องเข้ามารับการดูแลในสถานพยาบาลที่รัฐจัดให้
- เร่งเตรียม Hospitel ให้ได้ 7,000 เตียง
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวถึงกรณีการบริหารจัดการ ฮอสพิเทล (Hospitel) รองรับผู้ป่วยโควิด19 ว่า สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑลในการเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยจากรพ.ทุกสังกัดในกทม.
ขณะนี้มีการเตรียมเตียงรองรับแล้ว 6,525 เตียง มีการครองเตียง 3,700 กว่าเตียง โดยเตียงส่วนหนึ่งต้องเก็บไว้กรณีผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างมาก และได้เตรียมการเพื่อลดความแออัดในสถานพยาบาล และให้รพ.ได้ดูแลผู้ป่วยอาการหนัก กรมจึงได้ดำเนินการจัดตั้งฮอสพิเทล โดยการนำโรงแรมที่ขณะนี้ไม่มีผู้พักมาใช้เป็นสถานพยาบาลชั่วคราวในการดูแลผู้ป่วยโควิด19 ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไม่มีอาการ และกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาใน รพ. 3-5 วัน แล้วอาการไม่แย่ลงก็ย้ายมาอยู่ที่ฮอสพิเทล
โดยฮอสพิเทลจะมีมาตรฐานต่างๆ ทั้งโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม ความเป็นมิตรกับชุมชน รวมทั้งการจัดบริการทางการแพทย์ ทุกฮอสพิเทลต้องมีแพทย์ 1 คนประจำ มีพยาบาลอัตราส่วน 20 เตียงต่อ 1 พยาบาลพร้อมทั้งเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดระดับความเข้มข้ยออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์ เป็นต้น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นก็จะย้ายไปยังโรงพยาบาลพี่เลี้ยงของฮอสพิเทลทุกแห่ง
นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมาขึ้นทะเบียนฮอสพิเทลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มเติมจำนวน 23 แห่ง จำนวน 4,900 เตียง จะเป็นอีกทางเลือกคู่กับเตียงในรพ. และรพ.สนาม เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด 19
โดยขณะนี้มีผู้ป่วยตามข้อกำหนดเข้าไปในฮอสพิเทล 2,000 เตียง อย่างไรก็ตาม จากที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยใหม่ในพื้นที่อีกวันละ 400-500 ราย จึงได้ประสานจัดหาฮอสพิเทลเพิ่มเติม โดยจะเตรียมให้ได้ถึง 5,000-7,000 เตียง
ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆในการเข้ารับการดูแลในฮอสพิเทลนั้น ไม่คิดค่ารักษาใดๆ โดยหากมีประกันสุขภาพส่วนตัวก็ให้เบิกตามประกัน หากไม่มีก็เบิกจ่ายตามระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ
- ฮอสพิเทลเทียบเท่าสถานพยาบาลชั่วคราว
นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า มาตรฐานฮอสพิเทลดูแลผู้ป่วยเทียบเท่าสถานพยาบาลชั่วคราว ทั้งเรื่องเชิงโครงสร้าง เรื่องการดูแล สิ่งแวดล้อมและการเป็นมิตรกับชุมชนรอบๆ ส่วนมาตรฐานการรักษาพยาบาลและบุคลากรข้อกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีแพทย์ มีพยาบาลและมีระบบการเข้าไปตรวจสอบ โดยใช้เทเลเมดิซีน หรือ LINE กลุ่ม จะมีการเยี่ยมผู้ป่วยที่พักอยู่ข้างใน และบันทึกทุกวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องย้ายผู้ป่วยกลับไปที่โรงพยาบาลหลักทันที
นอกจากนี้ ต้องมีการประเมินก่อนจะย้ายผู้ป่วยเข้ามาฮอสพิเทล โดยผู้ป่วยทุกรายจะต้องถูกการตรวจคัดกรอง ออกจากโรงพยาบาลก่อน หลักๆอย่างเช่น อายุไม่เกิน 50 ปีไม่มีโรคประจำตัวอื่น ไม่ใช่เด็ก ไม่ใช่คน มีผลเลือด Positive แล้วก็ไม่มีเอกซเรย์ที่เปลี่ยนแปลงจึงจะสามารถย้ายได้ เพื่อความปลอดภัย ขอให้มีความมั่นใจว่าผู้ป่วยที่จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาล หากมีอาการเพิ่มขึ้นก็สามารถย้ายกลับไปรพ.หลักได้ทันที
- เตรียมพิจารณาโทษรพ.เอกชน 2 แห่ง
นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า กรณีการไปตรวจหาเชื้อที่คลินิก ได้รับการแจ้งมาว่า มีคลินิกหลายแห่งตรวจผู้ป่วยโควิด 19 เมื่อพบผลเป็นบวกกลับไม่ดูแลผู้ป่วย ทำให้เกิดภาระของผู้ป่วย ล่าสุด สบส.ได้ออกประกาศให้คลินิก ต้องมีระบบให้คำปรึกษาคนไข้ และคลินิกต้องได้รับการรับรองจาก สบส. ที่สำคัญ เมื่อคลินิกตรวจพบผลเป็นบวกต้องรีบแจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้อง และต้องดำเนินการประสานหาเตียงให้ผู้ป่วย หากไม่ทำก็จะมีโทษตามกฎหมาย ประกาศนี้ออกมาเพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชน และก่อนไปตรวจที่คลินิกควรตรวจสอบด้วยว่าผ่านการรับรองมาตรฐานการตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือไม่
กรณีรพ.เอกชนปฏิเสธไม่รับดูแลผู้ตรวจหาเชื้อที่ผลติดโควิด 19 นพ.ธเรศ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสสุขได้ออกประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายและเป็นโรคฉุกเฉินตามพรบ.สถานพยาบาลและพรบ.โรคติดต่อ ดังนั้น สถานพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะภาคเอกชนจะต้องให้การดูแลรักษา และดำเนินการให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับความปลอดภัยเป็นไปตามระเบียบการพยาบาล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาลงโทษรพ.เอกชนประมาณ 2-3 แห่ง ที่ฝ่าฝืน ไม่ยอมดูแลส่งต่อผู้ติดเชื้อ และอยู่ระหว่างการเรียกคลินิกเอกชนหลายแห่งเข้ามาให้ข้อมูล
- เปิดจองวัคซีนทางเลือกเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง
กรณีที่มีกระแสว่ามีโรงพยาบาลเอกชนมีการประชาสัมพันธ์ส่งข้อความถึงประชาชน ให้มาลงทะเบียนจองรับวัคซีนทางเลือกนั้น นพ.ธเรศ กล่าวว่า ต้องขอชี้แจงว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการแนวทางปฏิบัติ และวัคซีน หากมีการไปโฆษณาเชิญชวนก่อนจะเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง บางกรณีถ้าไปเรียกเงินมัดจำจากประชาชนด้วย เหมือนเอาเงินคนอื่นมาใช้โดยที่ยังไม่มีบริการ อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องดูข้อมูลให้ดีและละเอียด เพราะขณะนี้มีรพ.เอกชนหลายแห่ง ที่เข้ามาช่วยเหลือรัฐในการฉีดวัคซีนฟรี
- ไม่แจ้ง-ไม่เข้ารักษา-ไม่กักตัว มีโทษ
นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า กรณีที่พบผู้ป่วยโควิด 19แล้วไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งพรบ.โรคติดต่อ กำหนดไว้ว่า คนแจ้ง คือ เจ้าของบ้าน เจ้าหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือผู้รับผิดชอบในโรงพยาบาล ผู้ทำการชันสูตร และผู้ประกอบกิจการ ต้องแจ้งภายใน 3 ชั่วโมง หากไม่แจ้งใน 3 ชั่วโมง จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ส่วนกรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อเช่น สั่งให้อยู่กักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อรอเตียงหรือว่าสั่งให้ไปรับการรักษาเพื่อลดการติดต่อไปที่ผู้อื่น หากฝ่าฝืนจะมีความผิด มีโทษค่อนข้างแรง จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท เพราะเป็นการที่อาจทำให้เกิดอันตรายการแพร่กระจายของโรค
รวมทั้ง กรณีปิดบังสงสัยว่า ตัวเองเป็นโรคโควิด การให้ความเท็จหรือการไม่ให้ข้อมูลก็มีโทษปรับ จึงอยากขอว่าถ้าเราช่วยกันในการให้ข้อมูลการควบคุมโรคติดต่อก็จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ครอบครัวของเราเพื่อนบ้านของเราจะปลอดภัยมากขึ้น ระบบจะสามารถควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว และไม่ต้องการใช้กลไกทางกฎหมาย