วิกฤติที่ 'เด็กไทย'เผชิญ กรอบคิด'Growth Mindset' จะช่วยฝ่าความยากลำบาก

วิกฤติที่ 'เด็กไทย'เผชิญ กรอบคิด'Growth Mindset' จะช่วยฝ่าความยากลำบาก

วันเด็กแห่งชาติ 2568 บ้านและที่โรงเรียนควรสอนเด็กไทย “Growth Mindset” หรือ กรอบความคิดแบบเติบโต  ช่วยรับมือเมื่อต้องเผชิญความยากลำบาก ต่างจากเด็กที่มีกรอบคิดแบบยึดติด Fixed Mindset

KEY

POINTS

  • วันเด็กแห่งชาติ 2568 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 “กรุงเทพธุรกิจ”ติดตามปัญหาสำคัญด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่เด็กไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
  • บ้านและที่โรงเรียนควรสอนเด็กไทย “Growth Mindset” หรือ กรอบความคิดแบบเติบโต  ช่วยรับมือเมื่อต้องเผชิญความยากลำบาก ต่างจากเด็กที่มีกรอบคิดแบบยึดติด Fixed Mindset
  • แนวทางการสร้างเสริมความฉลาดทางอารมณ์ หรืออีคิว เด็กไทยควรมีใน 3 ด้าน เป็นความสามารถที่จะเข้าใจ และควบคุม อารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามวัย สามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ขณะเดียวกันเด็กไทยก็เผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งทางกายและสุขภาพจิตด้วย ในการเปิดเผยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เกี่ยวกับเทรนด์สุขภาพที่คนไทยจะต้องเผชิญในปี 2568 ระบุส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กไทย 

มลพิษPM2.5 กระทบสุขภาพเด็กไทย

มลพิษPM2.5 เป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างผลกระทบทางสุขภาพให้เกิดขึ้นกับเด็กไทย  โดยวัยเด็กเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันกำลังพัฒนา ขณะเดียวกันวัยเด็กเป็นวัยที่หายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ ส่งผลให้สูดอากาศรวมถึงมลพิษเข้าไปในร่างกายในปริมาณที่มากกว่า

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับ PM 2.5 และการเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากโรคทางเดินหายใจในกลุ่มเด็ก พบว่าการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ในปริมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรส่งผลให้อัตราการเข้าโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 0.23% ในวันถัดไปโดยกลุ่มเด็กอายุ 6-17 ปีจะมีอัตราการเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 0.90%

ปัญหาทางจิตเวชในเด็ก

ปัญหาทางจิตเวชในเด็กแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มคือ

1.ปัญหาทางอารมณ์ ได้แก่ ความวิตกกังวล ความกลัว อาการซึมเศร้า อาการย้ำคิดย้ำทำ

2. ปัญหาพฤติกรรม ได้แก่ การดื้อดึง การท้าทาย การอาละวาด การก้าวร้า วการต่อต้านสังคม

3.ปัญหาพัฒนาการช้าในด้านต่างๆ ได้แก่ สมาธิ การเคลื่อนไหว การใช้ภาษา การเล่น การควบคุมการขับถ่าย การเรียน

และ 4.ปัญหาความสัมพันธ์ที่อาจเกิดจากเด็กเอง เช่น เด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น ซนไม่อยู่นิ่ง หรือเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครอง

อาการของโรคจิตเวชในเด็ก จะแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย เนื่องจากเด็กมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วัยแรกเกิดจนถึง 5 ปีเป็นช่วงที่สมองจะเจริญเติบโตถึง 80% ของขนาดสมองผู้ใหญ่ ปัจจัยลบที่กระทบต่อการพัฒนาของสมองในช่วงวัยนี้ อาจนำไปสู่ปัญหาพัฒนาการล่าช้า

เด็กไทยอ้วนเพิ่ม

ข้อมูลจากกรมอนามัยและการสำรวจโดยการตรวจสุขภาพพบสัดส่วนของเด็กที่มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในกลุ่มเด็กเล็กวัย 0-5 ปีเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าจาก 3.2% ในปี 2560 เป็น 8-11.5% ในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลัง และสัดส่วนไม่ได้ลดลง สำหรับกลุ่มเด็กโตช่วงอายุ 6-14 ปีมีสัดส่วนของเด็กที่มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในช่วง 10.7 ถึง 13.8%

พัฒนาเด็กไทยให้ทักษะอีคิว

ความฉลาดทางอารมณ์ หรืออีคิว(EQ) เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้เด็กไทย เนื่องจากอีคิว เป็นความสามารถที่จะเข้าใจ และควบคุม อารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามวัย สามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

กรมสุขภาพจิต ระบุว่า ความฉลาดทางอารมณ์จะทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่มีความคิดอารมณ์และพฤติกรรมที่เหมาะสม และควรได้รับการปลูกฝังและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วัยเด็ก ควบคู่กับการพัฒนาความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา เพราะความฉลาดทางอารมณ์เป็นทักษะที่เกิดจาก กระบวนการเรียนรู้ผ่านวิธีการเลี้ยงดู และการเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุ

2-5ปีจะพัฒนาการเรียนรู้ด้านนี้ได้อย่างรวดเร็วและ หลากหลาย เช่น การควบคุมอารมณ์ตนเอง การมีวินัย และการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ความฉลาดทางอารมณ์ มีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ

1.ด้านดี ความพร้อมทางอารมณ์ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น

2.ด้านเก่ง  ความพร้อมทางอารมณ์ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จ

3.ด้านสุข ความพร้อมทางอารมณ์ที่ทำให้ตนเองมีความสุข

การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ แต่ละด้านแบ่งเป็นคุณสมบัติย่อย ๆ รวม 9 ลักษณะซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พ่อแม่ควรปลูกฝัง ให้เกิดแก่ลูกวัย 3 - 5 ปี ดังต่อไปนี้

  • ด้านดี ได้แก่ รู้จักอารมณ์ มีน้ำใจ รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก
  • ด้านเก่ง ได้แก่ กระตือรือรันสนใจใฝ่รู้ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง กล้าพูดกล้าบอก
  • ด้านสุข ได้แก่ มีความพอใจ อบอุ่นใจ สนุกสนานร่าเริง

ทั้งนี้ การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ควรทำในเด็ก วัย 3-5 ปี อย่างจริงจัง เนื่องจากเสริมสร้างได้ง่ายกว่าเด็กโต ซึ่งความฉลาดทางอารมณ์จะส่งผลต่อความสำเร็จทางการเรียน การอยู่ร่วมกับผู้อื่นและการใช้ชีวิตในอนาคต

การเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์เด็ก จำเป็นต้องทำบ่อยๆ ทำทุกวัน เพื่อให้เด็กนำความฉลาดทางอารมณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันเป็นอัตโนมัติ  ซึ่งการเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ในเด็กวัย 3 - 5 ปี ทำได้หลายวิธีการ ได้แก่

  • สอนให้ทำสอนซ้ำ ๆ ในเรื่องเดิม ด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สอนทีละขั้น ทำให้ดู จับมือทำ
  • สร้างบรรยากาศที่สนับสนุนการเรียนรู้
  • อธิบายเหตุผล
  • การเป็นตัวอย่างที่ดี
  • ให้คำชมเชยหรือเป็นกำลังใจเมื่อเด็กทำได้ดี
  • หาเพื่อนทำด้วยกัน
  • แนะนำและส่งเสริม
  • จูงใจให้ทำ

ปลูกฝังเด็กไทยมี Growth Mindset

ขณะที่ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการบริหารสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) กล่าวว่า ในการปลูกฝังเด็กมีหลายแนวทาง แต่ที่ไม่ได้มีการพูดถึงมากนักคือการปลูกฝังเรื่อง Growth Mindset หรือ กรอบความคิดแบบเติบโต

ที่บ้านและที่โรงเรียนควรสอนเรื่องนี้ เพื่อให้เด็กไทยมีมุมมองเชิงบวกต่อความยากลำบาก  โดยให้เด็กเข้าใจว่าความสามารถคนเราไม่ได้มีมาแต่เกิด ยิ่งพยายามยิ่งเรียนรู้ ยิ่งเก่งขึ้น ฝึกรับมือกับความท้าทายต่างๆ จะแตกต่างจากเด็กที่มีกรอบความคิดแบบยึดติดหรือ Fixed Mindset

ทั้งนี้ เมื่อเจอความยากลำบาก เด็กที่มี Growth Mindset จะมีกรอบความคิด ลองเริ่มจากส่วนที่พอทำได้ก่อนแล้วค่อยๆทำไปที่ละขั้นตอน ส่วนเด็กที่มี Fixed Mindset จะเกิดความคิดว่าเรื่องนี้ยากเกินไป ทำไม่ได้ 

“มีงานวิจัยว่าเด็กที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต เผชิญปัญหาสุขภาพจิตน้อยกว่า 50% เนื่องจากเมื่อเจอความท้าทาย อุปสรรคต่างๆก็จะพยายามก้าวผ่านไปได้ แต่เด็กที่มีกรอบความคิดแบบยึดติด เมื่อเจอความยากลำบากก็จะล้ม แก้ไม่ได้ทำอะไรไม่ได้แล้ว”ดร.เจนนิเฟอร์กล่าว   

ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าวอีกว่า  กรอบความคิดแบบเติบโตต้องงปลูกฝังตั้งแต่เด็ก โดยเทคนิคคือชื่นชมเด็กในความพยายามของเขา อย่าชื่นชมเฉพาะเมื่อทำอะไรสำเร็จเท่านั้น หากเห็นความตั้งใจมุมานะก็ให้ชื่นชม เช่น เห็นลูกตั้งใจออกกำลังกายมาก กินผักมากขึ้นกว่าเดิม ก็สามารถชื่นชมได้ จะทำให้เด็กเริ่มเรียนรู้ว่าความพยายามเป็นส่วนสำคัญไม่ใช่แค่ผลลัพธ์