“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มองเกมแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เปลี่ยน “โครงสร้างอำนาจ”
"เสียงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หมายความว่าแก้อะไรก็ได้ เพราะเขาต้องการแก้โครงสร้าง เช่น มีสภากี่สภา องค์กรอิสระจะมีหรือไม่ การยื่นเสนอแก้ไขของพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีการแตะโครงการสร้างอำนาจเลย เป็นคนละโจทย์กับเสียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ”
เกือบ 2 ปีแล้วที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ลาออกจาก ส.ส. หลังไม่สามารถนำพรรคประชาธิปัตย์ ไปสู่เป้าหมายทางการเมืองได้ แถมยังแพ้ศึกเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ในหลายพื้นที่ จนได้ ส.ส.ต่ำกว่า 100 ที่นั่ง
เป็น 2 ปีที่ “อภิสิทธิ์” ต้องจำใจหลบฉากทางการเมือง จากคนหน้าฉากไปอยู่หลังฉาก แต่ทุกลมหายใจของ “อภิสิทธิ์” ยังปักหมุดอยู่กับการเมือง
ล่าสุด “อภิสิทธิ์” ให้สัมภาษณ์รายการ คม ชัด ลึก EXCLUSIVE เนชั่นทีวี เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “กรุงเทพธุรกิจ” หยิบบางช่วงบางตอนที่ “อภิสิทธิ์” ได้ฉายภาพทางแก้-ทางออก การไขรัฐธรรมนูญมานำเสนอ
“อภิสิทธิ์” เล่าชีวิตการเมืองหลังลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า “ผมถอยออกมาจากการเมือง ไม่มีบทบาทในพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะมีสื่อมวลชนสอบถามเรื่องความเห็นต่อสถานการณ์ต่างๆ อยู่บ้าง แต่ผมไม่ได้ให้ความเห็นรายวัน”
ส่วนจะกลับเข้าไปเล่นการเมืองอีกหรือไม่ ผมก็ยังไม่สามารถตอบได้ แต่หากจะกลับเข้าไปอยู่ในการเมืองก็ต้องตอบได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร ทำประโยชน์อะไร หากเงื่อนไขต่างๆ ยังไม่สามารถทำประโยชน์ได้ ก็ไม่เห็นเหตุผลที่จะกลับเข้าไปอยู่ในการเมือง เพราะเพิ่งออกมา โดยเงื่อนไขกติกาบ้านเมือง ผลการเลือกตั้ง
“ผมยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราไม่สามารถทำงานได้ เราก็ถอยออกมา ตอนนี้ผ่านมา 2 ปี ผมมองว่ามันไม่ได้ยาวนานอะไร และไม่ได้ตั้งเป้าจะกลับเข้ามาอยู่ในการเมือง วันนี้พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ แม้หลายอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นห่วงบ้านเมืองมาก แต่คงทำได้ในแง่ผู้สังเกตการณ์”
อภิสิทธิ์ เล่าความรู้สึกตั้งแต่วันที่ลาออกจากหัวหน้าพรรค ปชป.ว่า ประเทศเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ประชาชนตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น การเมืองจะต้องตอบสนองเรื่องความเป็นอยู่พื้นฐานมีความชัดเจนขึ้น แต่ปัญหาที่สะสมมา เช่น การทุจริต การใช้อำนาจในทางมิชอบ ก็ยังมีอยู่มาก
“น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญ 2560 ไปยึดต้นแบบรัฐธรรมนูญปี 2521 ทำให้การเมืองถอยหลังไปพอสมควร ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของผู้ร่าง ปัญหาของรัฐธรรมนูญเริ่มมาตั้งแต่ตอนออกคะแนนเสียงประชามติ แม้เสียงส่วนใหญ่จะรับรัฐธรรมนูญ แต่หลายคนรับเพราะต้องการเข้าสู่การเลือกตั้ง หลายคนรับโดยตระหนักว่าต้องแก้ได้ เพราะมีจุดอ่อน จุดบกพร่องอยู่ หลายคนที่ชอบก็มี”
“อภิสิทธิ์” มองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ยังมีปัญหาอยู่หลายจุด โดยคนวงการการเมืองเห็นว่าน่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหลังการเลือกตั้งปี 2562 ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ ที่ยืนยันว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การออกแบบรัฐธรรมนูญทำให้แก้ไขยาก เพราะต้องได้เสียงจาก ส.ว. และพรรคพลังประชารัฐ ดูไม่เต็มใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เลยทำให้มีอุปสรรคมาโดยตลอด
“กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ พยายามปกป้องไม่ให้ถูกแก้ไข พรรคการเมืองแม้อยากจะแก้ไข ก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ หากเราเห็นว่ากติกาของประเทศ ควรมีหลักประชาธิปไตยแบบสากลมากกว่านี้ ตอนนี้ต่อให้บอกว่าจะแก้รายมาตรา แก้แยกรายฉบับ ผมมองว่ามันก็จะกลับเข้าไปสู่สภาพเดิม”
“เสียงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ คงไม่ได้หมายความว่าแก้อะไรก็ได้ เพราะเขาต้องการแก้โครงสร้าง เช่น มีสภากี่สภา องค์กรอิสระจะมีหรือไม่มี ดังนั้นหากแก้รายมาตราจะแก้ได้ยากมาก และการยื่นเสนอแก้ไขของพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีการแตะโครงการสร้างอำนาจเลย ซึ่งเป็นคนละโจทย์กับเสียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ”
“อภิสิทธิ์” ยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเชิงโครงสร้าง การทำเป็นกระบวนการที่มี ส.ส.ร. จะสามารถทำได้อย่างสมเหตุสมผลมากกว่า เช่น หากผมบอกว่าจะเปลี่ยน ส.ว. จำนวนที่มาก็ต้องสัมพันธ์กับอำนาจ และอำนาจก็ต้องสัมพันธ์กับองค์กรอิสระ การตรวจสอบ การถ่วงดุล ซึ่งหากแก้เป็นรายมาตราจะยากมาก วันนี้เราจะใช้วิธีไหนก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดไม่ใช่เทคนิค แต่เป็นเจตจำนงค์ทางการเมือง ที่ผู้นำและรัฐบาล ไม่พร้อมที่จะเล่นบทบาทตรงนี้ แต่กลับโยนให้เป็นเรื่องของสภา ทั้งที่ถูกระบุให้เป็นนโยบายของรัฐบาล
“ผมเชื่อว่าถ้านายกฯบอกว่าจะเอาแบบนี้ ส.ว. ก็จะเอาตาม แต่เราไม่ได้ยินแบบนี้ เรากลับได้ยินว่าเป็นเรื่องของสภา ไปทำกันมา แก้ให้ได้สิ แล้วเราจะเห็นว่าอุปสรรคมาจากพรรคแกนนำรัฐบาลและ ส.ว. ตราบใดที่ผู้นำรัฐบาลไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นนโยบายรัฐบาล จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย”
“นายกฯค่อนข้างแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่อยากมาเกี่ยวข้อง โดยที่รู้ว่าหาก ส.ว. ไม่ขยับให้ก็ไม่ผ่าน ถามว่าอะไรที่จะทำให้นายกฯจะมาแสดงท่าทีอย่างนี้ ก็ต้องยอมรับว่าความเคลื่อนไหวของมวลชนเมื่อปี 2563 ทำให้เกิดท่าทีแก้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรัฐบาลประเมินว่ามวลชนอ่อนแรงไป และมวลชนให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นมากกว่า รัฐบาลเลยฉวยโอกาสไม่ทำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
นอกจากนี้ “อภิสิทธิ์” มองว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมว่า การชุมนุมมีทุกยุคทุกสมัย แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของเยาวชน ซึ่งเราไม่เห็นมานานพอสมควร ขณะนี้มีช่องว่าระหว่างในสิ่งที่คนรุ่นใหม่คาดหวังอยู่พอสมควร ซึ่งเราควรเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกัน
“เราปฏิเสธสาระของข้อเรียกร้อง ทั้งที่ควรจะพูดจากันได้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีความพยายามอย่างจริงจัง ทำให้เกิดการสะสมของความขัดแย้ง ตอนนี้ยังไม่ส่งผลกระทบอะไร แต่มวลชนประเมินว่าเขาสามารถสะสมกำลังได้ สามารถเดินหน้าได้ วันหนึ่งปลายทางสังคมจะต้องขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ทางออกที่ดีก็ต้องมีเวทีให้พูดคุยกัน”
“อภิสิทธิ์” ยอมรับว่า “ผมอยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า เพราะวันนี้เราไม่ได้ติดอยู่แค่ปัญหาโควิด แต่โครงสร้างของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง ประเทศไทยต้องการการนำที่สามารถปรับโครงสร้างหลายอย่าง ทั้งในภาครัฐ ภาคราชการ การออกแบบนโยบาย เปลี่ยนแปลงระบบภาษี ระบบสวัสดิการ
“การเมืองที่เป็นอยู่มันแทบมองไม่เห็นว่าจะขับเคลื่อนไปอย่างมีพลัง หรือเป็นเอกภาพได้อย่างไร ผมอยากให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นตรงนี้ อย่างน้อยที่สุดต้องเคารพความเห็นต่างซึ่งกันและกัน และหันมาพูดคุยกันได้มากขึ้น ทุกวันนี้แต่ละฝ่ายพึงพอใจที่จะคุยกับฝ่ายของตัวเอง คิดว่ามีแรงเพียงพอทำอย่างที่ทำอยู่ ไม่ได้ขยับให้สังคมเข้ามาใกล้เคียงกันมากขึ้น ทำให้พลังขับเคลื่อนประเทศอย่างจริงจังอ่อนแรงลงไป”
“อภิสิทธิ์” ทิ้งท้ายอนาคตทางการเมืองว่า ระบบของพรรคประชาธิปัตย์ มีข้อบังคับกำหนดชัดเจนอยู่แล้ว ก็อยู่ที่สมาชิกพรรค แต่วันนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบันก็มีวาระอยู่