'บีทีเอส' จ่อยื่นศาลปกครอง ฟ้อง กทม.เบี้ยวหนี้ 3 หมื่นล้าน

'บีทีเอส' จ่อยื่นศาลปกครอง ฟ้อง กทม.เบี้ยวหนี้ 3 หมื่นล้าน

“บีทีเอส” เตรียมยื่นศาลปกครองฟ้อง กทม. ชดใช้หนี้สินกว่า 3 หมื่นล้าน ยันแบกรับภาระมากว่า 4 ปีจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น ปัดใช้เป็นเงื่อนไขแลกสัมปทานเดินรถ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชน​กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างหารือร่วมกับฝ่ายกฎหมาย เพื่อขอใช้สิทธิ์ตามกฎหมายฟ้องต่อกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ตามกระบวนการศาลปกครอง เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถ ค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมวงเงินสะสม สูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือติดตามทวงถามตามกฎหมายให้กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้แก่บริษัทฯ ซึ่งปรากฏในสื่อ และหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 60 วัน ตามที่บริษัทฯ ได้ระบุไว้ในหนังสือทวงถามนั้น บริษัทฯ ก็ยังไม่ได้รับแจ้งถึงแนวทางการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนจากภาครัฐแต่อย่างใด 

161941869363

และต่อมาเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ออกจดหมายและคลิปวีดีโอชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ผู้โดยสาร และประชาชนทั่วไปรับทราบ โดยบริษัทฯ ยืนยันว่าการใช้สิทธิทางกฎหมายที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่เคยกระทำการใดๆ ที่ส่งผลกระทบหรือเรียกร้องให้ภาครัฐใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ขณะนี้บริษัทฯ กำลังประสบปัญหาอย่างมาก จากการต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมากเป็นระยะเวลานานกว่า 4 ปี นับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2560 ที่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าโดยสารให้แก่ประชาชน

โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้พยายามติดต่อกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางการชำระหนี้ ทำให้ ณ ปัจจุบัน ภาระหนี้สะสมที่ภาครัฐบาลมีต่อบริษัทฯ เพิ่มขึ้นสูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น หนี้ค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เดือนเม.ย. 2560 จนถึงเดือน มี.ค.2564 จำนวน 10,903 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) จำนวน 20,768 ล้านบาท

นายสุรพงษ์ ยังเผยด้วยว่า ล่าสุดตามที่เป็นข่าวของการประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา สภา กทม. ได้ปฏิเสธการใช้งบประมาณ ของ กทม.มาชำระหนี้ดังกล่าว และได้เสนอทางเลือกให้กับฝ่ายบริหารในการขอให้รัฐบาลสนับสนุนหรือร่วมลงทุนกับเอกชน ตามแนวทางของคำสั่ง คสช.ดังนั้นในฐานะที่เป็นบริษัทลูกของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และมีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนร่วมลงทุนอยู่จำนวนกว่า 101,700 ราย รวมถึงมีเจ้าหนี้ที่ให้เงินกู้แก่บริษัทฯ มาประกอบธุรกิจอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้ใช้สิทธิตามสัญญาในการติดตามทวงถามกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

“เรายืนยันว่าไม่ได้จะใช้ประเด็นนี้ในการต่อรองเพื่อเจรจาเรื่องสัมปทานเดินรถ เราต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายเพราะเราเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้น และมีเจ้าหนี้ จึงเป็นหน้าที่ที่บริษัทต้องติดตามทวงถาม อีกทั้งแผนธุรกิจของบีทีเอส เราก็ไม่ได้คิดเรื่องต่อสัมปทานมาก่อย เรามีสัญญาจ้างเดินรถอยู่กับ กทม.ถึงปี 2585 แต่เราก็ยืนดีที่จะเจรจาในเรื่องหนี้สินและค่าโดยสาร”