การรถไฟฯ โอดโควิดทำพิษ ฉุดผู้โดยสาร 4 เดือน หายกว่า 3 ล้านคน
การรถไฟฯ โอดโควิด-19 ฉุดรายได้ต่อเนื่อง ปิดผลประกอบการรอบ 4 เดือนแรก ผู้โดยสารหาย 3.3 ล้านคน ลดลงเกือบ 50% ชี้ระลอกใหม่รอบเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทุบผู้โดยสารหล่นเหลือ 8 แสน
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุว่า ต้องยอมรับว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบกับปริมาณการเดินทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. - เม.ย. 2564) สถิติจำนวนผู้โดยสารและรายได้การโดยสารขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์ และขบวนรถบริการเชิงสังคม มีจำนวนผู้โดยสารรวมประมาณ 3.4 ล้านคน
โดยแบ่งออกเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 1.1 ล้านคน และเชิงสังคม 2.3 ล้านคน ซึ่งหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2563 มีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ราว 6.7 ล้านคน ถือว่าลดลงมากถึง 3.3 ล้านคน คิดเป็นลดลง 49%
เช่นเดียวกับรายได้จากการเดินรถ พบว่าลดลงสอดคล้องกัน โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้กว่า 402 ล้านบาท แบ่งออกเป็น รายได้เชิงพาณิชย์ 366 ล้านบาท และรายได้เชิงสังคม 35 ล้านบาท ภาพรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ประมาณ 549 ล้านบาท ถือว่าลดลงกว่า 146 ล้านหรือ คิดเป็นลดลง 26.6%
ทั้งนี้ หากแบ่งเป็นจำนวนผู้โดยสาร และรายได้เป็นรายเดือน พบว่า ในเดือน ม.ค.2564 มีจำนวนผู้โดยสาร 6.9 แสนคน ทำรายได้ประมาณ 73 ล้านบาท ในเดือน ก.พ.2564 จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 7.9 แสนคน ทำรายได้ 78 ล้านบาท เดือน มี.ค.2564 จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคน ทำรายได้ 122 ล้านบาท และเดือน เม.ย.2564 ที่มีการระบาดระลอกใหม่ จำนวนผู้โดยสารลดลงเหลือ 8.7 แสนคน ทำรายได้ 129บาท
“สถิติในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โควิดระลอกใหม่ถือว่าส่งผลกระทบรุนแรง เพราะทำให้ยอดผู้โดยสารตกจาก 1 ล้านคนในเดือนก่อนหน้า มาเหลือแค่ 8.7 แสนคน โดยรวมในเดือน เม.ย.เพียงเดือนเดียว ผู้โดยสารหายไป 2.1 แสนคน”
สำหรับสถิติจำนวนผู้โดยสารและรายได้ในปี 2563 ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท. มีจำนวนผู้โดยสารรวม 18 ล้านคน และมีรายได้รวม 2.1 พันล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่เป็นสถานการณ์ปกติ โดยปี 2562 ร.ฟ.ท. มีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 30 ล้านคน และมีรายได้รวมอยู่ที่ 3.6 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) ประจำปีงบประมาณ 2564 ของ ร.ฟ.ท. จำนวนกว่า 2.8 พันล้านบาท โดยได้ประมาณการรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณะ จำนวน 314 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายจำนวน 3.2 พันล้านบาท ซึ่งในวงเงินค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ปรับลดต้นทุนการเดินรถและซ่อมบำรุงที่ประมาณการต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการให้บริการสาธารณะ รวมถึงพิจารณาถึงผลกระทบโควิด-19 แล้ว