ภูมิคุ้มกันกลุ่มที่ 70% จะทำได้หรือไม่?
ไทยจะสร้างภูมิคุ้มกันกลุ่มจากการฉีดวัคซีนโควิดให้ได้ 70% ได้หรือไม่? มีโอกาสแค่ไหน? เมื่อเทียบกับสหรัฐ
การหยุดยั้งโควิด-19 เป็นความสำคัญเร่งด่วนอันดับหนึ่งของผู้นำอเมริกา ส่วนเศรษฐกิจนั้นสำคัญตามมาเป็นอันดับสอง
สหรัฐตั้งเป้าจะมีภูมิคุ้มกันกลุ่มให้ได้ เพราะมีความสามารถในการผลิตวัคซีนจำนวนมาก และมีทุนไม่อั้นในการให้บริการวัคซีนฟรีต่อประชาชน รัฐบาลตั้งเป้าให้ชาวอเมริกัน 70% รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มภายใน 4 ก.ค. ปัจจุบันประมาณ 60% ของประชากรได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม
หลักวิทยาศาสตร์ระบุว่าวัคซีนทำให้การติดต่อลดลง ชุมชนใดที่มีการฉีดวัคซีนมาก การติดเชื้อ การป่วย และการเสียชีวิตจะลดลงทันที
ภูมิคุ้มกันกลุ่มมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ ค.ศ.1916 เมื่อมีโรคระบาดของวัวในอเมริกา โดยแต่ละโรคไม่เหมือนกัน บางชนิดภูมิคุ้มกันกลุ่ม 20% สถานการณ์ของชุมชนก็จะดีขึ้น แต่บางอย่างต้องมีภูมิคุ้มกันถึง 90% จึงจะได้ผล
กรณีของโควิด-19 เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง เพราะมีการกลายพันธุ์ และมีอะไรหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไม่ทราบ เป้าหมาย 70% นั้นจึงเป็นสิ่งสมมุติเผื่อไว้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ประเทศที่บริหารด้วยประสิทธิภาพสูงอาจจะทำได้ใกล้เคียงกับตัวเลขนี้ แต่หลายชุมชนจะบอบช้ำและต้องต่อสู้ให้ผ่านความเสียหายที่เลี่ยงไม่ได้ แม้จะมีวัคซีนหรือไม่ก็ตาม
วิกฤติโรคติดต่อผ่านไปทุกครั้งแม้ว่าไม่มีวัคซีน เช่นกรณีไข้หวัดใหญ่ปี 1918 ซึ่งมีการเสียชีวิตหลายล้านคน ช่วงนั้นก็ไม่มีวัคซีน
ผมขอย้ำให้ทุกท่านดูแลรักษาตนเอง และสังคมที่เรารัก ด้วยการรับวัคซีนเมื่อเรามีโอกาส ยี่ห้อใดก็รับไปก่อนครับ
หลายประเทศกำลังถูกทดสอบให้เห็นถึงจุดอ่อนและจุดแข็งโดยโควิด-19 บางแห่งหลอกลวงประชาชนว่าอันตรายนี้ไม่จริง บางแห่งผู้นำฉวยโอกาสฉ้อราษฎร์บังหลวง หากำไรหรือผลประโยชน์ เลือกซื้อเฉพาะยี่ห้อหรือแหล่งที่มา ปิดบังความจริงเพราะมีเงื่อนงำ บางแห่งไร้ฝีมือแต่ไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองอ่อนแอ ฯลฯ
ผู้นำที่มีความสามารถหรือชุมชนที่มีพื้นฐานของวัฒนธรรมและวินัย จะปรากฏผลงานที่ดี จากความสามัคคีใช้เครื่องมือที่มีอยู่ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผ่อนหนักให้เป็นเบา บางจังหวัดหรืออำเภอจะเห็นการเตรียมพร้อม ขณะที่บางแห่งยังงงงวยตามไม่ทัน ในสหรัฐแต่ละเมืองแต่ละรัฐ ซึ่งเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกัน ก็มีสถิติเรื่องการรับวัคซีนหรือการวางแผนระยะยาวที่ไม่เหมือนกัน
การประชุม G-7 ที่อังกฤษ ช่วง 11-13 มิ.ย.ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะถูกกดดันจากทั่วโลกให้มีการประกาศนโยบายชัดเจนเร่งด่วนกระจายวัคซีนและอุปกรณ์การแพทย์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ด้อยโอกาสกว่าทางเศรษฐกิจ
ประเทศที่ผลิตวัคซีนได้ เช่น จีนและรัสเซีย ต้องวางตัวให้เหมาะสม นอกเหนือจากประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดแล้ว ยังต้องหาทางแบ่งปันทั้งบริจาคและขายให้กับพันธมิตรทั้งเศรษฐกิจและการเมือง การครหาโจมตีและระแวงในการใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือการทูตหรือแผ่อิทธิพลเป็นสิ่งที่เลี่ยงยาก
หลายประเทศในทวีปแอฟริกาเคยเตรียมรอวัคซีนในราคาถูกซึ่งผลิตจากอินเดีย แต่เมื่อสถานการณ์ในอินเดียเปลี่ยนเป็นวิกฤติมาตั้งแต่เดือน เม.ย. วัคซีนถูกห้ามส่งออก จึงต้องโกลาหลหาจากแหล่งอื่น
อเมริกาผลิตวัคซีนได้ 500 ล้านหน่วยต่อเดือน ซึ่งเกินความจำเป็นภายในประเทศ จะเผชิญความกดดันในการต้องแบ่งปันไปช่วยต่างประเทศ เพราะหากป่วยที่ใดที่หนึ่งก็ถือว่าป่วยทั้งโลก แม้ว่าอเมริกาจะดูคึกคักเพราะจำนวนติดเชื้อและตายลดลง นโยบายใช้หน้ากากอนามัยเริ่มผ่อนคลาย ที่ทำงาน สถานศึกษาและร้านค้าเริ่มกลับมาเปิด 85% แต่หากอเมริกาไม่รีบเร่งช่วยเหลือต่างประเทศ ปัญหาเรื่องนี้จะวนกลับมาอีก
ไทยก็คล้ายกับอเมริกา เพราะเป็นประเทศทางผ่านและเป็นแหล่งนิยมที่จะมาลงทุนหรือท่องเที่ยว การรอคอยวัคซีนและการปิดประเทศ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต และสภาพจิตใจของชาวไทยมาก แต่อีกไม่นานสถานการณ์ก็จะดีขึ้น อาจใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ความเสียหายของแต่ละครอบครัวจะต่างกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัย หลังจากนั้นต้องมีนโยบายเร่งด่วนในการป้องกันการระบาดที่จะมาจากภายนอกประเทศ
นโยบายการบริการวัคซีนจะต้องครอบคลุมถึงแรงงานต่างชาติที่อยู่ในไทยด้วย แม้พวกเขาไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมายเทียบเท่าชาวไทย แต่การให้วัคซีนทุกคนหรือมากที่สุดเท่าที่ทำได้ จะเป็นการช่วยเหลือทุกคน และส่งผลประโยชน์ชัดเจนต่อส่วนรวม เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดอย่างหนึ่ง
แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะมีอาการแปลกรายวัน คาดเดายาก แต่โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจอเมริกาจะโตมากภายในปีนี้ เพราะปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นมาก และนโยบายชัดเจนในการขยายเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน การว่างงานลดลง ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งแรงจนน่าวิตก ดอกเบี้ยต่ำมาก รัฐบาลแน่วแน่ในการใช้มาตรการก่อหนี้เพื่อกู้เศรษฐกิจ นักลงทุนทั้งระดับสถาบันและรายย่อย รวมทั้งนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาสู่ตลาด ยิ่งได้มากก็ยิ่งโลภมาก เมื่อหุ้นขึ้นทุกคนดูเหมือนฉลาด ความประมาทนำมาสู่ความหายนะ ผู้ขาดประสบการณ์และความหนักแน่นกำลังถูกลงโทษด้วยบทเรียนราคาแพง Bitcoin เป็นตัวอย่างของความหวือหวา ข่าวที่ออกมาจากผู้ที่มีอิทธิพลในการโน้มน้าว เช่น Elon Musk หรือการประกาศของรัฐบาลจีน ในการจำกัดบทบาทของบิทคอยน์ ทำให้หลายคนสะดุ้งและตัดสินใจเข้าออกผิดจังหวะ
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ไทยคงมีโอกาสรับวัคซีนหลายยี่ห้อ จากต่างประเทศและที่จะผลิตขึ้นในประเทศซึ่งมีคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำ โอกาสที่จะมีการรับวัคซีนถึง 70% ของประชากรนั้น ผมยังมั่นใจอยู่ว่าไทยทำได้ แม้อเมริกาจะทำไม่ได้ เมื่อถึงจุดนั้นแล้วมาตรการช่วยเหลือประเทศข้างเคียง และการตั้งมือรับนักท่องเที่ยวให้ชัดเจน จะส่งผลให้ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางสำคัญในการให้บริการแพทย์และพยาบาลต่อประชาคมโลก
อดทนต่อไปอีกสักพักครับ สิ่งที่ดูคล้ายมืดมัวหมดหวังในปัจจุบันจะผ่านไปได้ แสงสว่างจะมาถึงพร้อมกับโอกาสทางเศรษฐกิจด้านบริการสุขภาพและอนามัยสำหรับประเทศไทย