'เอกชน' เข็นส่งออกฟื้นเศรษฐกิจ ส.อ.ท.ห่วงโควิดฉุดภาคการผลิต
ส.อ.ท.ห่วงโควิดระบาดแหล่งอุตสาหกรรม ปิดสายการผลิต กระทบส่งออกรุนแรง เสี่ยงฉุดยอดต่ำกว่าเป้าหมาย กระทบซัพพลายเชนไปทั่วโลก
การส่งออกกำลังเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 หลังจากการท่องเที่ยวไม่ฟื้นตัว ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนยังจำกัด ซึ่งการส่งออกในช่วง 4 เดือน แรกของปีนี้ ขยายตัวได้ 4.78% แต่การส่งออกก็ยังมีปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า จากการระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ส่งผลให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลัก เช่น การท่องเที่ยว บริการดับหมด เหลือเพียงการส่งออกที่เติบโตดี โดยการส่งออกเดือน เม.ย.ขยายตัวถึง 13.09% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ภาคเอกชนปรับประมาณการปีนี้จากเดิม 3-5% เป็น 4-6%
ทั้งนี้ แม้การส่งออกเติบโตมากแต่มีความเสี่ยงสูงเช่นกันจาก 3 ประเด็น ได้แก่
1.การระบาดของโควิด-19 ในนิคมอุตสาหกรรมและแหล่งอุตสาหกรรม เช่น ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี หากควบคุมไม่ได้จะรุกลามเร็วมาก เพราะนิคมอุตสาหกรรมมีแรงงานหลายหมื่นถึงหลักแสนคน มีโรงงานหนาแน่นหลายร้อยโรง เสี่ยงต่อการระบาดวงกว้าง ซึ่งหากโรงงานมีผู้ติดเชื้อไม่มากก็ต้องปิดสายการผลิตทำความสะอาด 14 วัน หากรุนแรงต้องปิดทั้งโรงงาน ทำให้ผลิตเพื่อส่งออกหรือจำหน่ายในประเทศไม่ได้
รวมทั้งกระทบซัพพลายเชน เช่น โรงงานอิเล็กทรอนิกส์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ หยุดผลิตจะทำให้สินค้าปลายน้ำเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์ ไม่สามารถผลิตได้ ซึ่งไม่เพียงแต่กระทบห่วงโซ่การผลิตในประเทศแต่กระทบทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังกระทบต่อความมั่นใจในสินค้าไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง ที่ต่างชาติให้ความสำคัญในเรื่องของสุขอนามัยการติดเชื้อโควิด-19 มาก ได้สอบถามโรงงานมาโดยตลอดในเรื่องการฉีดวัคซีนให้คนงาน สถานการณ์ระบาดในโรงงาน ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อก็อาจจะไม่สั่งซื้อและหันไปซื้อจากประเทศอื่น ซึงจะส่งผลกระทบในระยะยาว
“การระบาดของโควิดในนิคมอุตสาหกรรมและแหล่งอุตสาหกรรมจะเป็นจุดเสี่ยงที่สำคัญของการส่งออกไทยในปีนี้ หากเกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่จนต้องหยุดการผลิต ก็อาจทำให้ประมาณการส่งออกที่คาดว่าจะเติบโต 4-6% ลดลงไปถึงครึ่งหนึ่ง เหลือ 2-3% ได้ เม็ดเงินเข้าประเทศจะหายไปจำนวนมาก ซึ่งหากเครื่องยนต์เศรษฐกิจนี้ดับลงจะกระทบเศรษฐกิจไทยรุนแรง”
ดังนั้น ส.อ.ท.จึงได้เรียกร้องให้ภาครัฐหาวัคซีนมาฉีดให้ภาคอุตสาหกรรมโดยเร็ว เปิดให้วัคซีนทุกยี่ห้อเข้ามามากขึ้น เพราะหากระบาดจะกระทบรุนแรงมาก ซึ่งจากผลสำรวจมีโรงงานกว่า 2 พันแห่ง รวมแรงงานกว่า 1 ล้านคน พร้อมที่จ่ายเงินฉีดวัคซีนให้แรงงานคนละ 2 พันบาท เพื่อให้ได้วัคซีนรวดเร็วหรือยอมเสียเงินกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ภาคเอกชนไม่ยอมเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่เรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะหากเกิดการระบาดจนปิดโรงงาน ก็จะสูงเสียรายได้ เสียลูกค้า เสียความน่าเชื่อถือ เสียค่าปรับ รวมแล้วมีมูลค่ามหาศาล
2.ความเสี่ยงในเรื่องของการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าขนส่งทางเรือแพงขึ้น อาจทำให้การส่งออกไม่ได้ตามเป้าหมาย
3.เกิดการระบาดของโควิดในประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐ ยุโรป
4.ปัญหาขาดแคลนชิพ อาจทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เติบโตไม่ได้ตามเป้าหมาย
ส่วนอุตสาหกรรมที่เป็นดาวเด่นในการส่งออก 10 อันดับแรกจะเป็น รถยนต์และส่วนประกอบ ,คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ,ผลิตภัณฑ์ยาง ,เม็ดพลาสติก ,เคมีภัณฑ์ ,อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ,น้ำมันสำเร็จรูป ,แผงวงจรไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ โดยการเติบโตที่สูงขึ้นมาจากประเทศคู่ค้าทยอยฉีดวัคซีนจนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาปกติ การอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นแต่ละประเทศมีจำนวนมาก โดยเฉพาะจีนกับสหรัฐทำให้ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก
“ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ จีนปรับนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้คนจนหายไปหลายร้อยล้านคน เกิดกำลังซื้อเพิ่มขึ้นมากจนทำให้มียอดการนำเข้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งเปิดกว้างการนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันภายในประเทศ เพื่อให้สินค้าภายในประเทศมีคุณภาพสูงขึ้น เช่น การนำเข้าและตั้งฐานการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่า ก็เพื่อกระตุ้นการแข่งขันให้รถยนต์ไฟฟ้าของจีนดีขึ้น”