จ่ายแล้ว! 4 แสนบาท ชายวัย 50 ชาวปทุมฯ เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด
สปสช. จ่ายเงินเหตุผู้เสียชีวิต 1 ราย หลังได้รับวัคซีนโควิด 5 วัน ชดเชยเป็นเงิน 4 แสนบาท และช่วยเหลือเบื้องต้นผู้เสียหายจาก "วัคซีนโควิด-19" รวม 8 ราย กว่า 4.69 แสนบาท พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือ 5 วันหลังอนุกรรมการอนุมัติ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี จัดประชุม เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหาย จากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบ ZOOM โดยมี นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรีเป็นประธานและดำเนินการประชุม มีอนุกรรมการเข้าร่วมครบองค์ประชุม ประกอบด้วย พญ.ปองรัตน์ นิรมิตหาปัญญา นพ.สราวุธ ครองสัตย์ นางลักษณา ศังขชาต และนายเอนก มณีนาค มีนายจักรินทร์ ฆ้องวงษ์ สปสช.เขต 4 สระบุรี เป็นเลขานุการ
นพ.ชลอ กล่าวว่า การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีประชาชนไทยทุกคนและทุกสิทธิการรักษาที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามแผนงานโครงการที่ภาครัฐจัดให้แล้วได้รับความเสียหาย ได้รับผลกระทบหรือเสียชีวิต สามารถยื่นคำร้องได้ทันที ไม่ต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ เพราะเป็นการใช้หลักการช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด อาจเป็นเรื่องของเหตุสุดวิสัย และเมื่ออนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว ภายหลังหากพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เราก็จะไม่เรียกเงินคืนเนื่องจากถือว่าเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งเป็นกลไกทางสังคมในการให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่กลไกทางการแพทย์ที่พิสูจน์สาเหตุ จึงต้องมีความรวดเร็วเพื่อบรรเทาผลที่เกิดขึ้น
นพ.ชลอ กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาเมื่อคณะอนุกรรมการได้รับเรื่องและมีมติอนุมัติช่วยเหลือแล้วนั้น จะพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือภายใน 5 วัน ซึ่งจะครอบคลุมเฉพาะวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลจัดหาให้เท่านั้น โดยมีเกณฑ์จ่ายในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 4 แสนบาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 2.4 แสนบาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ตามภาวะความรุนแรง
ทั้งนี้ในพื้นที่เขต 4 สระบุรี ซึ่งรับผิดชอบ 8 จังหวัดได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทองและนครนายก ได้มีการพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว จำนวน 8 ราย รวมเป็นเงิน 469,500 บาท เป็นชาย 2 ราย และหญิง 6 ราย โดยส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย จำนวน 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 เจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาล 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.5 และเสียชีวิต 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.5 อายุระหว่าง 23-50 ปี อายุน้อยสุด 23 ปี และอายุมากที่สุด 50 ปี
“กรณีผู้ที่เสียชีวิต คือ นายสมชาย ม่วงวัง อายุ 50 ปี รับวัคซีนโควิด-19 ที่จังหวัดปทุมธานี คณะอนุกรรมการพิจารณามีความเห็นว่าได้รับความเสียหาย เป็นอาการที่เกิดหลังจากการรับวัคซีน มีอาการแน่นหน้าอกตลอด และเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีน 5 วัน และผู้ได้รับผลกระทบเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องเป็นผู้ดูแลบิดา มารดา และเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว จึงลงมติเสนอจ่ายเงินช่วยเหลือ 400,000 บาท” นพ.ชลอ กล่าว
ทั้งนี้หากประชาชนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 สงสัยว่าจะมีอาการเจ็บป่วยที่มีเหตุจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงในกรณีที่เสียชีวิต ทั้งตัวผู้ฉีดวัคซีนหรือญาติสามารถยื่นคำร้องได้ที่โรงพยาบาลที่รับฉีดวัคซีน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงาน สปสช. ได้ทันที โดยจะมีคณะอนุกรรมการฯ ระดับพื้นที่พิจารณาคำร้อง