'สปสช.' เพิ่มสิทธิ 'บัตรทอง' ประเมิน 'มะเร็งปอด-ต่อมน้ำเหลือง'

'สปสช.' เพิ่มสิทธิ 'บัตรทอง' ประเมิน 'มะเร็งปอด-ต่อมน้ำเหลือง'

บอร์ด 'สปสช.' เห็นชอบสิทธิประโยชน์ 'บัตรทอง' เพิ่มบริการ 'ตรวจเพทซีที' (PET/CT) เป็นทางเลือกประเมินระยะของโรค 'มะเร็งปอด' 'มะเร็งต่อมน้ำเหลือง' ร่วมหนุนโครงการ 'มะเร็ง' รักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด 'สปสช.') เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด 'สปสช.' เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการ 'ตรวจเพทซีที' (PET/CT) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ('บัตรทอง') โดยกำหนดอัตราการจ่ายสนับสนุนค่าบริการตรวจในอัตราครั้งละ 3 หมื่นบาท นำร่องเป็นเวลา 6 เดือน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการประเมินระยะของ 'โรคมะเร็งปอด' ชนิดเซลล์ไม่เล็ก (NSCLC) และการประเมินระยะโรคเริ่มต้นและประเมินการตอบสนองระหว่างให้ยาเคมีบำบัดและหลังสิ้นสุดการรักษา สำหรับผู้ป่วย 'โรคมะเร็งต่อน้ำเหลือง' ชนิดฮอดจ์กิน (HL)

สำหรับการ 'ตรวจเพทซีที' เป็นการใช้เครื่องมือทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีร่วมกันของเครื่อง PET และ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) เพื่อตรวจดูความผิดปกติของเซลล์ระดับเมตาบอลิซึม ซึ่งเป็นการถ่ายภาพทางด้านรังสีที่ตรวจวัดอนุภาคโพสิตรอนที่ปล่อยจากผู้ป่วยหลังได้รับสารเภสัชรังสีเข้าไปในร่างกาย โดยสามารถให้รายละเอียดเพื่อนำไปวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยให้สามารถประเมินระยะของ 'โรคมะเร็ง' ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาล โดย 'สปสช.' ได้ดำเนินนโยบายการยกระดับ 'บัตรทอง' ใน 4 โครงการ ซึ่ง 1 ในนั้นคือโครงการมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา 'โรคมะเร็ง' ด้วย สำหรับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่นี้ ก็จะยิ่งช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการวินิจฉัยโรคที่ดียิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง

ด้าน รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางจ่ายสิทธิประโยชน์นี้อยู่ในอัตรา 4.5 หมื่นบาท ส่วนตัวได้หารือกับหน่วยบริการแล้วพบว่าอัตราการจ่าย 3 หมื่นบาทนั้น มีเพียงบางหน่วยบริการเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ จึงเสนอให้บอร์ด 'สปสช.' มีมติจ่ายในอัตรา 3 หมื่นบาทในระยะเวลา 6 เดือนแรก จากนั้นให้ติดตามเพื่อประเมินความเหมาะสมของอัตราการจ่ายต่อไป

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า 'สปสช.' ได้จัดสรรงบประมาณที่ใช้สนับสนุนสิทธิประโยชน์ใหม่นี้ โดยปีงบประมาณ 2564 จะเบิกจ่ายจากงบค่าบริการกรณีเฉพาะที่กันไว้ จำนวน 880 ล้านบาท และให้เป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ ฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นงบประมาณที่ใช้ดำเนินการตามโครงการมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม