BTS คาดยอดผู้โดยสารโต 10% มั่นใจกทม.คืนหนี้ 3 หมื่นล้าน
BTS ประเมินเป้าผู้โดยสายปี 64 โต 10% แตะ 138 ล้านเที่ยวคนต่อปี เหตุกระจายวัคซีนโควิดหนุนคนกลับมาเดินทาง-เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ-สถานีเซนหลุยส์ คาดรายได้ธุรกิจขนส่งแตะ 2.4 หมื่นล้าน มั่นใจ กทม.จ่ายคืนหนี้ 3 หมื่นล้าน ยันไม่ต้องตั้งสำรอง
นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า บริษัทคาดการณ์ยอดขนส่งผู้โดยสารรถไฟฟ้าปี 2564/65 (1 เม.ย.2564-31 มี.ค.2565) เติบโต 10% มาอยู่ที่ 138 ล้านเที่ยวคนต่อปี จากปี 2563/64 (1 เม.ย.2563-31 มี.ค.2564) อยู่ที่ 125 ล้านเที่ยวคนต่อปี จากการทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นปัจจัยหนุนให้ประชาชนกลับมาเดินทางตามปกติ
อีกทั้งได้ปัจจัยบวกจากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการ 5 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน และการเปิดให้บริการสถานีเซนต์หลุยส์ คาดว่าจะมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการ 6 พันเที่ยวคนต่อวัน
ในการนี้บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ธุรกิจขนส่ง (MOVE) ธุรกิจสื่อและวิเคราะห์ข้อมูล (MIX) และธุรกิจลงทุนร่วมกับพันธมิตร (MATCH) โดยธุรกิจ MOVE วางงบลงทุนปี 2564/65 ไว้ที่ 1.54 หมื่นล้านบาท พร้อมคาดการณ์รายได้ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง 1.4 หมื่นล้านบาท,
รายได้จากการให้บริการติดตั้งงานระบบและจัดหารถไฟฟ้า (E&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเหนือและใต้ 1 พันล้านบาท, รายได้จากการรับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) 6.3 พันล้านบาท และรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการรถไฟฟ้า 3.3 พันล้านบาท ส่วนธุรกิจ MIX วางงบลงทุน 450 ล้านบาท คาดการณ์รายได้ที่ 3.5-4 พันล้านบาท โดยมาจากการรับรู้รายได้ของบริษัทในเครือ บมจ.วีจีไอ (VGI)
เมื่อสอบถามถึงหนี้ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ค้างชำระบริษัทกว่า 3 หมื่นล้านบาท นายสุรยุทธ กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่า กทม.จะมีความสามารถในการชำระคืนหนี้อย่างแน่นอน เพราะเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง สะท้อนจากอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งที่ AA+ สูงกว่าอันดับเครดิตของ BTS ที่ระดับ A และให้ความเชื่อมั่นแก่ลงทุนว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองหนี้เพื่อกรณีดังกล่าว
โดยมีการนำเรื่องเข้า ครม.ผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณา ซึ่งการชำระคืนหนี้ต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการในการจ่าย อำนาจในการจ่ายคืนด้วยกฎเกณฑ์หรือกรณีต่างๆ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณของรัฐและ กทม. ขณะที่ความคืบหน้าการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเข้า ครม.เพื่อพิจารณาเช่นกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้ว