‘อาเซียน’ ตลาดความหวัง ‘ร้านอาหาร-เครื่องดื่มจีน’ บุกลงทุน โต 3 เท่าใน 2 ปี ทะลุ 6,100 สาขา
"บ้านใกล้-วัฒธรรมคล้าย" แบรนด์ร้านอาหาร-เครื่องดื่มจีน แห่บุกลงทุนอาเซียน ความหวังธุรกิจหนีการแข่งขันเดือดในบ้านเกิด ขยายสาขาโต 3 เท่า ภายใน 2 ปี ทะลุ 6,100 แห่งทั่วภูมิภาค
สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับความความสนใจอย่างล้นหลามจากร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์จีน ที่มองหาโอกาสและหนีจากการแข่งขันดุเดือดในบ้านเกิด
รายงานของโมเมนตัมเวิร์กส์ (Momentum Works) บริษัทที่ปรึกษาในสิงคโปร์ พบว่า แบรนด์ร้านอาหาร-เครื่องดื่มจีน ราว 60 แบรนด์ รวมถึงเชนเครื่องดื่ม “มี่เสวี่ย (Mixue)” “ลักกิ้น คอฟฟี่ (Luckin Coffee)” และร้านอาหารประเภทหม้อร้อน “ไหตี่เลา (Haidilao)” มีสาขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 6,100 สาขา ณ ช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. ถือว่าเติบโตมากกว่า 3 เท่า จากระดับ 1,800 สาขาในปี 2565
"เจียงกัน ลี่" ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) โมเมนตัมเวิร์กส์ เผยกับนิกเกอิเอเชียว่า
“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าสนใจสำหรับแบรนด์ F&B (อาหารและเครื่องดื่ม) สัญชาติจีน เพราะมีความใกล้ชิดกับจีนทั้งด้าน 'ภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม' และหาพันธมิตรในเมืองต่างๆ ได้ง่ายมาก”
รายงานระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ในจีนมีร้านอาหารมากกว่า 1 ล้านแห่งปิดตัวลง ซึ่งปิดตัวมากกว่าปีก่อนหน้า 70% เนื่องจากการแข่งขันดุเดือดและเศรษฐกิจชะลอตัว
“การแข่งขันดุเดือดผลักดันให้แบรนด์ F&B หลายรายของจีนต้องพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันในทุกส่วนของการดำเนินงาน และต้องมองไกลไปกว่าตลาดในบ้านเพื่อหาโอกาสเติบโต” รายงานระบุ
รายงานดังกล่าวบ่งชี้ว่า สิงคโปร์และมาเลเซียมีแบรนด์ F&B ของจีนเข้าไปลงทุนมากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนประชากรที่พูดจีนได้มาก และอินโดนีเซียกับเวียดนามก็มีแบรนด์ F&B จีน เข้าไปทำธุรกิจรวมกันเท่ากับ 2 ใน 3 ของสาขาที่มีทั้งหมดในภูมิภาค โดยเฉพาะแบรนด์ตลาดมวลชน (mass-market brands)
แม้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 17% ของขนาดตลาดจีน แต่โมเมนตัมเวิร์กส์ บอกว่า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสัญชาติจีนมองว่า ภูมิภาคนี้มีการแข่งขันน้อยกว่า ตอกย้ำถึงการใช้ประโยชน์จากศัพยภาพนี้ของธุรกิจจีน และขยายธุรกิจทั่วภูมิภาคอย่างแข็งขัน ทั้งยังนำกลยุทธ์ในจีนมาส่งเสริมธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เช่น เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่หน้าร้านให้มากที่สุด และใช้มาสคอตเพื่อโฆษณาข้อเสนอต่าง ๆ
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารนอกบ้านในภูมิภาคนี้ก็ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่การบริโภคก็ฟื้นตัวแข็งแกร่งในปี 2566 สู่ระดับ 127,000 ล้านดอลลาร์ในสิงคโปร์ เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย มากกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีมูลค่า 115,700 ล้านดอลลาร์ และระดับ 80,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 แต่อัตราการเติบโตอาจคงที่ในปี 2567 แตะระดับราว 132,900 ล้านดอลลาร์
ขณะที่การร่วมมือกับแบรนด์และพันธมิตรในประเทศก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของบริษัทจีนที่ใช้เพิ่มลักษณ์ที่ดี และตอบสนองความต้องการในตลาดท้องถิ่น เพื่อพยายามดึงดูดลูกค้าที่มาเยี่ยมชมร้าน
ตัวอย่างเช่น ลักกิ้น คอฟฟี่ ได้จัดแคมเปญส่งเสริมการขายเพื่อนำเสนอเครื่องดื่มเทศกาล ในกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือน ธ.ค. 2567 ร่วมกับ “น้องหมีเนย” หรือบัตเตอร์แบร์ (Butterbear) ที่ได้รับความนิยมในโซเชียลมีเดียอย่างล้นหลาม
อย่างไรก็ตาม ด้วยความแตกต่างในแต่ละตลาดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานระบุว่า ผู้เล่นแบรนด์จีนที่พยายามหาโอกาสต้องให้ความสำคัญกับการใช้กลยุทธ์ท้องถิ่นในด้านต่างๆ เช่น ปรับการดำเนินงาน เลือกพันธมิตรที่เหมาะสมและพัฒนาซัพพลายเชน
ส่วนแบรนด์ภายในแต่ละประเทศของภูมิภาคนี้อาจได้รับความท้าทายจากการเข้ามาของแบรนด์จีน แต่ซีอีโอลี่ลดความสำคัญของปัจจัยนี้ไป เนื่องจากมองว่าโดยรวมแล้วระบบนิเวศจะปรับตัวและจะมีการแข่งขันมากขึ้นต่อไป
อ้างอิง: Nikkei Asia