จากเคสฉีด 'วัคซีนโควิด' เสียชีวิต สรุปยา 'ไมเกรน' กินได้หรือไม่?

จากเคสฉีด 'วัคซีนโควิด' เสียชีวิต สรุปยา 'ไมเกรน' กินได้หรือไม่?

กรณีมีหญิงวัย 46 ปี รับการฉีด "วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" เข็มที่ 1 แล้วเสียชีวิต โดยสืบสวนพบว่าเธอได้กินยาแก้ปวด "ไมเกรน" หลังฉีด "วัคซีนโควิด" สรุปว่ายาแก้ปวดไมเกรนกินได้ไหม? แล้วถ้าไม่กิน จะทำยังไงให้บรรเทาอาการ?

จากกรณีหญิงวัย 46 ปี ชาวปทุมธานี รับการฉีด "วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" เข็มที่ 1 แล้วเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมง โดยสืบสวนพบว่าเธอได้กินยาแก้ปวด "ไมเกรน" หลังฉีด "วัคซีนโควิด" เรื่องนี้ทำเอาหลายคนกังวลใจ ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด

สรุปแล้วผู้ป่วยโรคประจำตัว "ไมเกรน" ยังกินยาแก้ปวดไมเกรนได้หรือไม่? แล้วถ้าไม่กิน จะมีวิธีบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้อย่างไรบ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปหาคำตอบพร้อมกัน

1. กรมควบคุมโรคชี้แจงเคสหญิง 46 ปี ฉีด "วัคซีนโควิด" แล้วเสียชีวิต

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า กรณีหญิงจากปทุมธานี ที่เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น หากประชาชนที่มีโรคประจำตัว กังวลใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด ให้ขอคำปรึกษาแพทย์ที่รักษาเพิ่มเติมได้

ส่วนกรณีที่ประชาชนสงสัยว่าหลังรับวัคซีนแล้ว หากเกิดอาการปวด แล้วต้องรับประทานยาแก้ปวด ยาแก้ไมเกรน ควรประเมินตนเองอย่างไร จึงควรไปพบแพทย์ นพ.เฉวตสรรอธิบายว่า หลังฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการปวดศีรษะ ขอให้ประเมินอาการตนเอง หากรับประทานยาพาราเซตามอล หรือพักผ่อนแล้วไม่หาย หรือปวดรุนแรงตั้งแต่ต้น ควรติดต่อแพทย์ทันที ไม่ควรรอ

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่าสาเหตุการชันสูตรเบื้องต้นคือ เคสผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวมีความผิดปกติในระบบไหลเวียนโลหิตไปหล่อเลี้ยงหัวใจ และมีภาวะเลือดคั่งในหัวใจ

2. สรุปต้องงดยา "ไมเกรน" ก่อน/หลังฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่?

ประเด็นนี้ สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ได้เคยออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรดปวดศีรษะไมเกรนกับการฉีดวัดซีนป้องกันโรดโควิด-19 ที่ทำให้ผู้ป่วยโรดปวดศีรษะไมเกรนเกิดความกังวลใจ โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้ 

2.1 เนื่องจากมีรายงานผลของการฉีดวัดซีนป้องกันโรคโควิด -19 ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทชั่วคราว เช่น อาการชา หรือ อาการอ่อนแรง แต่จากการรวบรวมกรณีศึกษาต่างๆ ยังไม่พบว่ามีความผิดปกติจากการตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI Brain) และการตรวจหลอดเลือดในสมอง (MRA หรือ CTA) อย่างชัดเจน

อาการดังกล่าวเกิดจากการตอบสนองของร่างกายจากการฉีดวัดซีน ซึ่งเกิดได้กับวัดซีนทุกชนิด และเกิดขึ้น ชั่วคราวเท่านั้น

2.2 จากข้อมูลในปัจจุบันจึงแนะนำเรื่องการใช้ยารักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนว่า ไม่จำเป็นต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน เช่น

  • ยากลุ่ม acetaminophen
  • ยากลุ่ม NSAIDร ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine และคาเฟอื่น
  • ยาในกลุ่มทริปแทน หรือยาป้องกันไมเกรนชนิดต่างๆ ได้แก่ ยาในกลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate, Valproic acid
  • ยาในกลุ่มยาต้านเศร้า เช่น Amitriptyline, Venlafaxine
  • ยาในกลุ่มต้านแคลเซียม เช่น Flunarizine
  • ยาในกลุ่มต้านเบต้า เช่น Propranolo
  • ยาป้องกันไมเกรนชนิดอื่นๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่เป็นประจำ

2.3 หากยังมีความกังวลใจ และต้องการหยุดยาแก้ปวดไมเกรนหรือยาป้องกันไมเกรน ให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษา เพื่อวางแผนในการฉีดวัดซีนโดวิด -19 และแนะนำอาการของโรคปวดศีรษะไมเกรนที่อาจจะเกิดขึ้น

3. มีกลุ่มยาตัวไหนที่ควรงด ก่อนฉีดวัคซีนโควิดอีกบ้าง?

ด้าน สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลประเทศไทย ได้อธิบายเรื่องยาและโรคประจำตัว เพื่อให้ผู้เข้ารับการฉีดได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นของตัวเองก่อนเข้ารับการฉีด "วัคซีนโควิด-19" โดยแนะนำว่าผู้ใช้ยาเป็นประจำ จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ และเภสัชกร เพื่อวางแผนปรับลดขนาดยาบางตัว ดังนี้

3.1) ยา Steroid เช่น Prednisolone เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดได้ หากได้รับ Prednisolone น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 มิลลิกรัมต่อวัน หรือมากกว่า 20 มิลลิกรัมต่อวัน กรณีอาการคงที่และอยู่ในช่วงปรับลดขนาดยา แต่ถ้ากรณีเริ่มยาครั้งแรก หากอาการคงที่ก่อนเริ่มยาให้ฉีดวัคซีนก่อนเริ่มยา 2 สัปดาห์

3.2) ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น Azathioprine, Mycophenolate, IVIG, Cyclophosphamide (ชนิดกิน), Hydroxychioroquine, Sulfasalazine, Leflunomide กรณีเริ่มยาครั้งแรก หากอาการคงที่ก่อนเริ่มยาให้ฉีดวัคซีนก่อนเริ่มยา 2 สัปดาห์

3.3) ยา Methotrexate กรณีอาการของโรคคงที่แนะนำหยุดยา Methotrexate 1 สัปดาห์ หลังการฉีดวัคซีนในแต่ละครั้ง แล้วจึงให้ยาต่อตามปกติ

3.4) ยา Warfarin หรือกลุ่ม NOAC เช่น Dabigatran, Rivaroxaban, Apixaban, Edoxaban

- กรณีใช้ warfarin >> INR ต้องน้อยกว่า 4 และใช้เข็ม 23G หรือเล็กกว่า และไม่คลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน ควรกดตำแหน่งที่ฉีดอย่างน้อย 2 นาที
- กรณีใช้ NOAC อื่นๆ >> ใช้เข็ม 23G หรือเล็กกว่า และไม่คลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน ควรกดตำแหน่งที่ฉีดอย่างน้อย 2 นาที

3.5) ใช้ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น Aspirin, Clopidogrel, Ticagrelor, Prasugrel, Citostazol  การฉีดวัคซีนให้ใช้เข็ม 23G หรือเล็กกว่า และไม่คลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน ควรกดตำแหน่งที่ฉีดอย่างน้อย 2 นาที

แต่ถ้ากรณีฉีดวัคซีนอื่นที่ใช้ร่วม วัคซีนไข้หวัดใหญ่, คอตีบ, หัด, หัดเยอรมัน ควรฉีดหากจากวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ส่วนวัคซีนบาดทะยัก พิษสุนัขบ้า ฉีดได้เลยไม่ต้องเว้นระยะห่างกับวัคซีนโควิด-19

4. งดยา "ไมเกรน" มีวิธีแก้ปวดอื่นๆ ยังไง?

ช่วงนี้การเตรียมตัวเพื่อฉีดวัคซีนโควิด เป็นเรื่องสำคัญ เลยนำวิธีเตรียมตัวฉีดวัคซีนของผู้ที่เป็นโรคไมเกรนมาฝากกัน โดย กรมควบคุมโรค แนะนำว่าหากผู้มีโรคประจำตัวไมเกรนที่ได้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวแล้ว และต้องการหยุดยาแก้ปวดไมเกรน สามารถบรรเทาอาการปวดด้วยวิธีอื่นๆ ดังนี้ 

  • กดจุด กดบริเวณเหนือส้นมือ (มาทางข้อพับ) ประมาณ 3 นิ้ว จะช่วยบรรเทาอาการไมเกรนได้
  • สูดน้ำมันหอมระเหย โดยเฉพาะกลิ่นลาเวนเดอร์ จะช่วยบรรเทาอาการได้ และยังทำให้หลับได้ง่ายขึ้นด้วย
  • ทานอาหารที่มีแร่ธาตุแมกนีเซียม จะช่วยลดความถี่ของการปวดไมเกรนลงได้ โดยแมกนีเซียมพบได้ใน กล้วย อัลมอนด์ เต้าหู้ ผักโขม เป็นต้น
  • ประคบเย็นที่ศีรษะ ช่วยลดปฎิกิริยาการอักเสบที่ทำให้เกิดการปวด
  • ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดไมเกรน เช่น ความเครียด เสียงดัง แสงวูบวาบ
  • ลดการทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเค็ม

-------------------------

ที่มา : กองควบคุมโรค สธ., สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย, สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลประเทศไทย, กรมควบคุมโรค, springnews